Q: อาจารย์คะ ดิฉันมีลูกน้องอยู่คนหนึ่งซึ่งดูแล้วเขาจะมีท่าทีที่ต่อต้านและไม่ค่อยอยากได้รับการโค้ชสักเท่าไหร่ ดิฉันควรทำอย่างไรดีในฐานะหัวหน้างาน
A: ปัญหาแบบนี้เกิดขึ้นได้ทั้งจากพนักงานที่มีอัตตา (Ego) คิดว่าตัวเองทำได้ดีแล้ว เก่งแล้ว ไม่มีอะไรต้องปรับเปลี่ยน หรืออาจไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำอยู่มีผลกระทบอย่างไรต่อสภาพภาพแวดล้อมรอบตัวจึงไม่เห็นความสำคัญว่าทำไมต้องถูกโค้ช หรืออีกอย่างหนึ่งอาจเป็นไปได้ว่าลูกน้องไม่มีศรัทธาในหัวหน้า ไม่คิดว่าหัวหน้าเก่งและไม่เห็นว่าหัวหน้าจะช่วยเหลืออะไรได้
เราคงต้องวิเคราะห์ก่อนว่าสาเหตุที่เกิดขึ้น มาจาก "เขา" หรือ "เรา"
หากต้นตอของปัญหาเกิดขึ้นจากเรา อันนี้คงแก้ไม่ยากแต่อาจต้องใช้เวลา การจะทำให้ลูกน้องรู้สึกว่าเราเก่งและเกิดความศรัทธา หัวหน้าต้องแสดงความรู้ความสามารถบางอย่างให้ลูกน้องเห็นว่าหัวหน้าสามารถช่วยแก้ปัญหาที่ลูกน้องแก้ไม่ได้ ได้ หรือต้องแสดงให้เห็นว่าหัวหน้าสามารถมองบางอย่างได้ลึกซึ้งกว่าที่ลูกน้องมอง พูดง่าย ๆ คือ ห้วหน้าต้องรู้จัก "ปล่อยของ" บ้าง หากเราเก่งในสายตาลูกน้อง ความศรัทธาและการเปิดใจที่จะเรียนรู้และรับฟังคำชี้แนะ ก็จะมีมากขึ้นโดยอัตโนมัติ
แต่หากต้นตอของปัญหามาจากลูกน้อง ผมมีคำแนะนำ 3 ข้อ
1. หลีกเลี่ยงการใช้คำว่า "โค้ช" บอกเขาเพียงว่าเราอยากคุยด้วย เผื่อมีอะไรที่จะแนะนำหรือข่วยเหลือให้เขาสามารถทำงานได้ง่ายขึ้น เร็วขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะเห็นว่าเขาทำงานหนัก อยากช่วยดูแลและแก้ปัญหาให้...อะไรทำนองนี้ ทำให้ลูกน้องรู้สึกว่า ที่เรียกมานี่ไม่ได้เรียกมาตำหนิ ไม่ได้เรียกมาสอน เรียกมาคุยเผื่อว่าจะช่วยอะไรเขาได้เพิ่มเติม
2. ชี้ให้เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากการทำงานของเขา เพราะบางทีลูกน้องอาจไม่รู้ว่าตัวเองทำงานได้ไม่ดีพอ บอกถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นให้ชัดเจน และ บอกถึงผลดีที่ตัวเขาจะได้รับ หากสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หรือ แนวทางการทำงานบางอย่างได้ และคุณพร้อมที่จะช่วยเหลือและสนับสนุนเขา
3. ให้ลูกน้องได้มีโอกาสเลือกแนวทางในการพัฒนาที่ "ถูกจริต" กับเขา อย่ายัดเยียดวิธีการของเราให้กับเขา คนเรามีวิธีการเรียนรู้หลายอย่าง วิธีที่เราชอบอาจไม่ใช่วิธีที่เขาชอบ การเรียนรู้มีหลายวิธี เช่น ไปอบรมสัมมนา ค้นคว้าด้วยตนเอง ลองผิดลองถูก ทดลองทำจริง สังเกตุจากคนอื่น ฯลฯ แต่ละวิธีเหมาะกับคนบางคน ให้เขาเลือกวิธีของเขา
การบริหารจัดการเรื่องราวทำนองนี้ เหมือนการบริหารจัดการเด็กๆ ที่เป็นลูกหลานของเรา คือต้องใช้กุศโลบายหลายอย่างประกอบกัน ทั้งดุทั้งปลอบ ทั้งหลอกทั้งล่อ มีทั้งศาสตร์และศิลป์ประกอบกัน จำไว้ว่าการเรียนรู้เกิดขึ้นจากความศรัทธาและความรักหาใช่เกิดจากขี้มูกและน้ำตาไม่
อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา
apiwut@riverorchid.com
www.facebook.com/OrchidSlingshot