xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อต้องลงโทษลูกน้องที่ทำงานดี แต่มีพฤติกรรมแย่ โดย อ.อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อ.อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา กรรมการบริหาร บริษัท ออคิด สลิงชอท จำกัด
Q: ดิฉันมีลูกน้องที่มีผลงานพอใช้ได้ แต่ติดที่เป็นคนโผงผาง ออกแนวแรงๆ ทำให้ผู้บริหารตัดสินใจสั่งโอนย้ายให้ไปทำงานในส่วนงานที่เขาไม่ถนัด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อไปให้พ้นหู พ้นตา ซึ่งดิฉันไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจเช่นนี้ จึงได้ไปพูดคุยกับผู้บริหารแต่ก็ไม่ได้รับการรับฟัง ดิฉันไม่รู้ว่าควรจะสื่อสารกับลูกน้องคนนี้อย่างไร โดยไม่ให้เขารู้สึกว่าการถูกโอนย้ายนี้คือการลงโทษ?

A: กรณีนี้ผมคิดว่าคงต้องทำความเข้าใจกับหัวหน้างานก่อนว่าการที่ลูกน้องทำไม่ถูกต้องแต่หัวหน้าพยายามที่จะพูดเพื่อไม่ให้ลูกน้องเสียใจนั้น ยิ่งทำให้ลูกน้องไม่รู้ว่าสิ่งที่ตัวเองแสดงออกมาเป็นสิ่งที่ไม่สมควร ดังนั้น คงต้องขอพูดตรง ๆ ว่า ส่วนหนึ่งของปัญหาก็มาจากตัวคุณเองด้วยเช่นกัน

ในกรณีนี้ คงไม่มีอะไรดีไปกว่าการพูดตรง ๆ กับลูกน้อง เพราะความจริงคือ การโอนย้ายครั้งนี้เป็นการลงโทษ หากพยายามที่จะหาวิธีการพูดเพื่อถนอมน้ำใจ คุณคิดว่าลูกน้องจะเชื่อหรือ หากเขาไม่เชื่อก็คงมองคุณไม่ดี ดูเหมือนไม่จริงใจ แต่หากเผอิญเขาเชื่อ ก็จะทำให้เขาคิดว่าสิ่งที่ทำไม่ผิด ผู้ใหญ่กลั่นแกล้ง ฟังแล้วเสียทั้งขึ้นทั้งล่อง

ดังนั้นบอกตรง ๆ ดีกว่า ว่าพฤติกรรมที่เขาแสดงออกนั้นไม่เหมาะสม ถึงแม้ว่าผลการปฏิบัติงานจะดี แต่การทำงานเป็นทีมก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน

นอกจากนั้น ผมเห็นว่าการตัดสินใจแก้ปัญหาของผู้บริหารในครั้งนี้ ก็ไม่ถูกต้องเช่นกัน เพราะการย้ายพนักงานจากที่หนึ่งไปอีกทีหนึ่ง ไม่ใช่แนวทางในการแก้ปัญหาแต่เป็นการสร้างปัญหาใหม่
ในที่ใหม่ต่างหาก เพราะพฤติกรรมที่เป็นปัญหายังไม่ถูกแก้ไข พนักงานคนนั้นก็คงจะไปสร้างปัญหาเดิม ๆ ในหน่วยงานใหม่ที่ถูกโอนย้ายไปอีกเหมือนเดิม เพราะฉะนั้นวิธีการที่ดีที่สุด คือ หัวหน้าต้องแสดงบทบาทในการแก้ไขพฤติกรรมของลูกน้องคนนี้ ไม่ว่าจะมีการโอนย้ายหรือไม่ก็ตาม

ข้อแนะนำในการแก้ไขพฤติกรรมในครั้งนี้ มี 3 ข้อด้วยกันคือ...

1. บอกให้เจ้าตัวรู้ว่าพฤติกรรมที่แสดงอยู่มันเป็นปัญหา เพราะพนักงานหลายคนไม่รู้ ดังนั้น หากพนักงานยังคงไม่รู้ว่าพฤติกรรมเขาก่อให้เกิดปัญหาและผลกระทบอย่างไร ก็ยากที่จะเชื่อและเปลี่ยนแปลงตัวเอง

2. บอกถึงประโยชน์ที่พนักงานจะได้รับหากเขาเปลี่ยนแปลงตัวเอง และบอกถึงโทษที่จะได้รับหากยังคงเป็นอย่างเดิมต่อไป

3. เมื่อพนักงานเข้าใจและอยากที่จะเปลี่ยนแปลงตนเองแล้ว ให้พนักงานได้มีสิทธิ์เลือกวิธีการในการพัฒนาที่ถูกจริตกับตนเอง เช่น ต้องการได้รับการโค้ช ต้องการไปเข้าอบรมเพื่อเพิ่มทักษะ หรือต้องการศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเอง เป็นต้น

หากทำได้เช่นนี้ ก็เชื่อว่าพฤติกรรมของเขาน่าจะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น แต่หากพยายามอย่างจนสุดความสามารถแล้ว ก็ไม่เห็นผล คงต้องใช้มาตรการที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบที่ไม่ดีต่อทีมงานคนอื่นๆ ต่อไป ...
อย่าแก้ปัญหาด้วยการหมุนเวียนปัญหาไปทั่วๆ องค์กร...อย่างกรณีนี้ เด็ดขาด !

อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา
apiwut@riverorchid.com
กำลังโหลดความคิดเห็น