“เสถียรธรรมสถาน” เร่งใช้ธรรมะปลุกเร้าให้ธุรกิจปรับทิศทางใหม่ ชูแนวทางพระโพธิสัตว์ลดเลิกการมุ่งไปสู่การกอบโกยเข้าหาตัว หวังหยุดยุคแห่งความทุกข์ยาก ชี้ “การให้” คือกุญแจสู่ทางรอดและความสำเร็จอย่างยั่งยืน
แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต ผู้ก่อตั้งเสถียรธรรมสถาน กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ได้จัดโครงการ “ปลุกหัวใจผู้หญิง หัวใจแม่ หัวใจโพธิสัตว์” เพื่อนำธรรมะมาขับเคลื่อนและปลุกให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับปัจเจกหรือจุดเล็กๆ เพื่อจะขยายไปในวงกว้างต่อไป เพราะช่วงเวลาที่ผ่านมาไม่กี่ 10 ปีจะเห็นได้ชัดว่า สังคมของการเอาหรือกอบโกยทำให้เกิดความทุกข์ยาก ส่งผลกระทบต่อครอบครัว ต่อสังคม และต่อโลก ซึ่งน่าจะต้องสะเทือนใจกันได้แล้ว และถ้าไม่ทำวันนี้จะไม่เหลืออะไรแล้ว สิ่งที่เห็นในวันนี้คือการพูดถึงธุรกิจสีเขียวหรือธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น และการทำธุรกิจอย่างสมดุล อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องการเน้นให้ตระหนักคือ “การให้” เพราะเป็นปัจจัยสำคัญของความอยู่รอด และเติบโตอย่างยั่งยืนของธุรกิจในยุคนี้
“การให้มีความยากง่ายอยู่ที่การทำบ่อยๆ ไม่ใช่นานๆ ทำทีหรือขึ้นอยู่กับราคา เพราะถ้านานๆ ทำทีหรือขึ้นอยู่กับราคาหมายความว่าไม่จริงใจ แต่การทำบ่อยๆ หรือให้ได้ง่ายขึ้น สม่ำเสมอ และเป็นการให้ที่ไม่ผลักตกเหวคือการให้ที่ทำให้เกิดความมั่นคง สามารถยืนอยู่บนฐานกำลังของการพึ่งพาตนเอง นักธุรกิจหรือผู้บริหารต้องคิดว่าจะให้อย่างไรที่เป็นการให้อย่างยั่งยืน และทำอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่ให้อย่างมีราคา ซึ่งมีรากศัพท์มาจากราคะ หมายความว่าเป็นการให้เพื่อหวังจะเอา แต่ให้โดยสละราคะคือการให้อยู่เหนือการได้คืน แม้จะรู้สึกว่ายาก แต่เมื่อทำได้แล้วจะมีความยั่งยืน”
ในระดับปัจเจกต้องทำให้เกิดขึ้นในวิถีขององค์กรด้วยการทำเป็นกิจวัตรประจำวัน เช่น การสนับสนุนให้พนักงานในออฟฟิศภาวนาจิตมากขึ้น หรือคนที่ไม่เคยสวดมนต์ ใส่บาตร ก็สนับสนุนให้ทำ ซึ่งเมื่อระดับปัจเจกเริ่มมีความสุขที่ได้ให้ จะทำให้ง่ายในการขยายฐานการให้ออกไป และไม่ต้องอธิบายมาก เมื่อพนักงานในองค์กรมีความสุขที่ได้ให้ องค์กรจะได้ทรัพยากรที่มีจิตใจที่จะให้ ดังนั้น ไม่ว่าจะทำงานอะไรก็จะทำเต็มที่และองค์กรจะได้กำไรตามมานั่นเอง นี่จึงเป็นเรื่องของการฝึกปฏิบัติ
แม่ชีศันสนีย์ทิ้งท้ายว่า ถ้าคนในบริษัทมีจิตที่คิดจะให้ จะกลายเป็นบริษัทที่ทำเรื่องยากเป็นเรื่องง่ายได้ เช่น การทำธุรกิจย่อมมีปัญหาอุปสรรคต่างๆ มากมายที่ทำให้ต้องวิ่งอย่างหืดหอบมากกว่าจะได้เข้าเส้นชัย แต่เมื่อทำให้เกิดการให้จะกลับกลายเป็นแรงขับเคลื่อนหรือพลังที่จะทำให้การทำธุรกิจสำเร็จได้ง่ายขึ้น สำหรับการนำพระโพธิสัตว์มากล่าวถึงหรือเป็นตัวอย่างเพราะถ้าเป็นคนธรรมดาจะให้ได้ยาก แต่ถ้าเป็นพระโพธิสัตว์จะทำได้ง่าย เช่น การควักลูกตาให้ ควักหัวใจให้ ฯลฯ เพราะการมีกำลังหรือพลังนั่นเอง หรืออย่างเสถียรธรรมสถานซึ่งไม่ใช่ธุรกิจแต่เป็นองค์กรที่พิสูจน์มาแล้วว่ายิ่งให้ยิ่งมีกำลัง ยิ่งให้ในสิ่งที่คนอื่นให้ได้ยาก
จิตอาสากู้โลก
ไจตนย์ ศรีวังพล ผู้อำนวยการรายการข่าวจราจร สวพ.FM 91 และรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท วิไลเซ็นเตอร์แอนด์ซันส์ จำกัด กล่าวว่า การเป็นสถานีวิทยุเพื่อความปลอดภัยและการจราจร ซึ่งเป็นปัญหาหรือความทุกข์ของคนในสังคมเมือง ดังนั้น ภารกิจหรือจุดประสงค์ของงานหรือธุรกิจที่ดูแลอยู่นี้มีความชัดเจนว่าคือการให้ เป็นการให้ข้อมูลและประสานความช่วยเหลือความปลอดภัยจากการจราจร
ที่สำคัญ เพื่อกระตุ้นให้มีการนำแนวทางนี้มาใช้มากขึ้น เพราะเชื่อว่าทุกคนมีความรู้อยู่ในตัวจากการมี “โพธิ” หรือปัญญาตามที่ท่านพุทธทาสสอนไว้ และ “สัตว์” ก็คือตัวเรา “โพธิสัตว์” คือคนเราที่พัฒนาความรู้ได้ด้วยตนเอง และการที่เราจะอยู่ในโลกได้อย่างมีความสุข เราต้องมีความสุขก่อน ซึ่งการอยู่บนหนทางของการพัฒนาเราต้องอยู่ก่อนและชวนคนอื่นไปด้วยกัน ในเรื่องการให้เราไม่ได้ให้คนเดียว แต่ชวนผู้ฟังรายการของเราให้ด้วย เช่น กองทุนเหรียญสลึงซึ่งเห็นเหรียญสลึงที่ถูกทิ้งขว้างอยู่ ก็นำมาช่วยคนที่ไม่มีในสังคมด้วยสิ่งที่ถูกทิ้งขว้าง เป็นการชวนคนอื่นมาพัฒนาและให้ร่วมกัน เช่นเดียวกับการทำงานในบริษัท เป็นการทำงานแบบช่วยเหลือกัน ให้โอกาสกันทำในสิ่งที่ดีๆ รวมทั้งเน้นในเรื่องจิตอาสา เพราะทำให้เกิดการแบ่งปันและช่วยเหลือกันมากขึ้น
“ในทางธุรกิจหมายถึงการไม่ต้องกำไรมากๆ มาก่อน แต่ต้องคิดถึงการให้มาก่อน ธุรกิจจะอยู่รอดเมื่อมีแนวทางเช่นนี้กันมากขึ้นๆ จะทำให้การเอาเปรียบ เบียดเบียนกัน และมุ่งกอบโกยเข้าหาตนเองลดลง และสุดท้ายจะทำให้โลกอยู่รอดได้” ไจตนย์กล่าวย้ำ