โดย...สิรวุฒิ รวีไชยวัฒน์
ตั้งแต่ก้าวแรกที่เข้ามารับหน้าเสื่อเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลหนองม่วงไข่ จ.แพร่ นพ.สมศักดิ์ โสฬสลิขิต ก็ต้องเผชิญกับมรสุมปัญหามากมาย ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตหนี้สินของโรงพยาบาล หรือปัญหาการให้บริการแก่ผู้ป่วย หากไม่ใช่ “คนจริง” คงยากที่จะฝ่าฟันศึกหนักเหล่านี้ไปได้
แต่ หมอสมศักดิ์ กลับสามารถพลิกฟื้น รพ.หนองม่วงไข่ให้กลับมาอยู่ในภาวะสมดุล ไร้ซึ่งปัญหาทางการเงิน และสามารถดูแลสุขภาพคนในชุมชนให้ดีขึ้นได้ด้วยหลักง่ายๆ ที่ทุกคนรู้จักกันดี คือ “พุทธศาสนา” และ “เศรษฐกิจพอเพียง”
จนเป็นที่มาของรางวัล “แพทย์ดีเด่นในชนบท” ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คนที่ 38 ประจำปี 2554
หมอสมศักดิ์ เล่าให้ฟังว่า ช่วงแรกที่เข้ามาเป็นผู้อำนวยการ รพ.หนองม่วงไข่ นั้น กำลังประสบปัญหาทางการเงิน เนื่องจากระบบประกันสุขภาพของประเทศมีการเปลี่ยนแปลงจัดสรรงบประมาณแนวใหม่ ทำให้โรงพยาบาลปรับตัวไม่ทัน กล่าวคือ ประชากรมีจำนวนน้อยราวหมื่นกว่าคน การได้รับเหมาจ่ายรายหัวทำให้คิดคำนวณน้อยลงไปด้วย ซึ่งไม่เพียงพอ ทำให้เป็นหนี้ค่ายาจำนวนมาก
“โรงพยาบาลไม่มีเครดิตเลย แม้แต่สายสวนปัสสาวะเส้นละ 20 บาท ทางบริษัทยังไม่ยอมส่งให้ จนผมต้องไปยืมโรงพยาบาลข้างๆ นอกจากนี้ โรงพยาบาลยังมีปัญหาในการให้บริการ คือ บุคลากรน้อย แม้แต่ช่วงป่วยก็ยังต้องมาทำงาน ขณะที่คนป่วยที่มารอตรวจมีจำนวนมาก บางครั้งคนป่วยทนรอไม่ไหว ผลักประตูเข้าไปเพื่อแย่งกันตรวจก่อนก็มี”
หมอสมศักดิ์ เล่าถึงปัญหาภายในชุมชนให้ฟังอีกว่า ชาวบ้านมีพฤติกรรมการใช้เงินที่เกินตัว คือมีรายจ่ายมากกว่ารายรับ ส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพจิต และสุขภาพกายตามมา รวมไปถึงชาวบ้านยังนิยมทำการเกษตรที่พึ่งพาสารเคมีมากเกินไป จากปัญหาทั้งหมด ทั้งของตัวโรงพยาบาลเองและคนในชุมชน ทำให้ต้องกลับมาคิดว่า...จะต้องมีการพัฒนาและแก้ไข โดยเริ่มจากในชุมชนก่อน คือต้องส่งเสริมสุขภาพ ไม่ใช่เน้นที่การรักษา
“เพื่อแก้ปัญหาทางการเงินของโรงพยาบาล และปัญหาสุขภาพของคนในชุมชน ผมจึงนำแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และหลักคำสอนของพระพุทธทาสในเรื่องการมีสติและสมาธิมาปรับใช้ เพื่อพัฒนาจิตใจให้ชาวบ้านมีสุขภาพจิตที่ดี และการมีสติก็จะสามารถช่วยแก้ปัญหาที่มีอยู่ได้”
หมอสมศักดิ์ อธิบายว่า เริ่มแรกต้องทำตนเป็นแบบอย่างก่อน คือ ใช้ในสิ่งที่จำเป็น ประหยัดน้ำ ประหยัดไฟ จากนั้นจึงหาแนวร่วมในโรงพยาบาล โดยเริ่มแรกมีบุคลากร 110 คน ให้เริ่มพัฒนาจิตตัวเองก่อน คือ ให้สวดมนต์ทำสมาธิ 3 เวลา เริ่มจาก 08.00 น.15.00 น.และ 20.00 น.ซึ่งไม่ได้เป็นการบังคับ แต่ให้เป็นไปด้วยความสมัครใจ การทำวิธีเหล่านี้จะช่วยให้บุคลากรมีสติในการทำงาน และผู้ป่วยที่มารับบริการ เมื่อได้ยินนานๆเข้าก็เริ่มเข้าร่วมสวดมนต์ด้วย ทำให้มีสติเพิ่มขึ้น ปัญหาการรอคิว ที่เคยใจร้อนแย่งกันตรวจก็เริ่มลดลง
สำหรับขั้นตอนต่อไป หมอสมศักดิ์ กล่าวว่า พยายามลดค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาล ด้วยมาตรการสำคัญที่นำมาใช้ คือ การใช้ยาให้น้อยที่สุด แต่ต้องคงคุณภาพที่ดีในการให้บริการ อาทิ ลดการใช้ยาแก้ปวด โดยให้ผู้ป่วยเข้าใจในเรื่องของอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา คือมีเจ็บมีปวดได้ก็จะหายได้ โดยให้ผู้ป่วยเจริญภาวนาแทนการใช้ยา ซึ่งไม่ได้ก่อประโยชน์เสมอไป ซึ่งวิธีดังกล่าวสามารถลดค่าใช้จ่ายยาแก้ปวดได้เดือนละประมาณ 7 แสนบาท
นอกจากนี้ ยังลดค่าใช้จ่ายอื่นๆ ด้วยการทำการเกษตรแบบเศรษฐกิจพอเพียงภายในบริเวณโรงพยาบาลซึ่งมีพื้นที่ 30 ไร่ โดยผลผลิตที่ได้ส่วนหนึ่งยังนำมาบริโภคภายในโรงพยาบาล เพราะมีความปลอดภัย เนื่องจากเป็นเกษตรปลอดสารพิษ รวมถึงการกระจายความรู้ไปยังชุมชนในเรื่องการปรับสภาพดินให้ดีจนสามารถใช้ปลูกข้าวได้ ซึ่งนับว่าเป็นการส่งเสริมสุขภาพอย่างหนึ่ง เพราะชาวบ้านได้ออกกำลังกาย ได้ทานอาหารที่ปลอดสารพิษ ไม่เน้นแค่การมารับบริการจากโรงพยาบาลเท่านั้น
“การที่ผมหันมาใช้แนวคิดเหล่านี้ เพราะที่ผ่านมาใช้มาหลายวิธี ยึดแต่แนวทางฝรั่ง ซึ่งไม่สามารถแก้ปัญหาได้ แต่หลักปรัชญาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้สอนมามากกว่า 30 ปี และมีตัวอย่างเห็นชัด ประกอบกับมีศูนย์การเรียนรู้ทุกภาค และประสบความสำเร็จทั้งหมด ผมจึงนำหลักของพระองค์มาใช้ ซึ่งสุดท้ายก็ทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้น สามารถช่วยให้โรงพยาบาลที่มีปัญหาทางการเงินกลับสู่สภาวะสมดุล สามารถจ่ายโอทีให้กับบุคลากรสาธารณสุขได้ และที่สำคัญช่วยแก้ปัญหาชีวิตให้แก่คนในชุมชน จนสามารถกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ทั้งร่างกายและจิตใจ”