สมุทรสงคราม - พุทธศาสนิกชนร่วมงานตักบาตรขนมครกและน้ำตาลทราย ที่วัดแก่นจันทร์เจริญ ติดต่อกันมาเป็นปีที่ 94 แล้ว โดย มีประชาชนและนักท่องเที่ยวจำนวนมากมาร่วมงานกันอย่างคึกคัก
วันนี้ (10 ก.ย.) สำนักงานวัฒนธรรม จ.สมุทรสงคราม อบจ.สมุทรสงคราม อบต.บางพรม และ ททท.สำนักงานสมุทรสงคราม จัดงานตักบาตรขนมครกและน้ำตาลทราย ที่วัดแก่นจันทร์เจริญ ต.บางพรม อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม โดยมีชาวบ้านทยอยกันออกมาช่วยกันโม่แป้ง ขูดมะพร้าว คั้นกะทิ เพื่อทำขนมครกสูตรโบราณ ซึ่งมีเพียงแป้งข้าวเจ้า กะทิจากมะพร้าว เกลือป่น และต้นหอมหั่นชิ้นเล็กๆ โรยหน้าเพื่อเพิ่มความหอมของขนมครก
จากนั้นได้ช่วยกันหยอดและแคะขนมครกซึ่งส่วนใหญ่เป็นเตาถ่านเพราะให้ความร้อนและทำให้ขนมครกมีกลิ่นหอมอร่อยกว่าเตาแก๊ส เพื่อให้ชาวบ้านและนักท่องเที่ยวที่มาร่วมงานซื้อโดยนำเงินใส่ตู้บริจาคแล้วหยิบขนมครกไปใส่บาตรถวายพระพร้อมกับน้ำตาลทรายสำหรับจิ้มเพื่อเพิ่มความหวานให้ขนมครกมีความอร่อยยิ่งขึ้น โดยเงินรายได้จากการขายขนมครกทั้งหมดชาวบ้านถวายให้ทางวัดนำไปใช้พัฒนาวัดต่อไป
จากนั้นนายศิริศักดิ์ ศิริมังคะลา ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม ได้เป็นประธานเปิดงานดังกล่าว มีหัวหน้าส่วนราชการและผู้ที่เกี่ยวข้องร่วมตักบาตรขนมครกและน้ำตาลทรายร่วมกับนักท่องเที่ยว นอกจากนี้ ในงานยังจัดให้มีการแข่งขันขูดมะพร้าว และปิดตาป้อนขนมครก เพื่อเพิ่มสีสันให้งานอีกด้วย
สำหรับการจัดงานตักบาตรขนมครกและน้ำตาลทรายจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในวันขึ้น 8 ค่ำเดือน 10 ซึ่งปีนี้ตรงกับวันอังคารที่ 10 ก.ย.67 และจัดติดต่อกันมาถึง 94 ปีแล้ว ตั้งแต่ปี พ.ศ.2473 สมัยที่พระครูสุนทรสุตกิจ (หลวงปู่โห้) เจ้าอาวาสรูปแรกจนถึงปัจจุบัน แสดงถึงวัฒนธรรม ประเพณีเก่าแก่ และวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมของชาว ต.บางพรม ซึ่งคนรุ่นหลังได้สืบสานประเพณีตักบาตรขนมครกน้ำตาลทรายมาอย่างต่อเนื่อง โดยเลียนแบบการจัดงานมาจากการตักบาตรขนมเบื้องของพระราชพิธีในวัง ที่สืบทอดกันมาจนถึงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรี
ส่วนประวัติความเป็นมาของประเพณีทำบุญตักบาตรขนมครกนั้น บางท่านบอกว่า มาจากหลักธรรมของพระพุทธเจ้าในธรรมะบทที่ 2 เรื่อง “โกสิยะเศรษฐีผู้มีความตระหนี่ถี่เหนียว” โดยพระองค์ต้องการสั่งสอนเศรษฐีคนหนึ่งที่เป็นคนตระหนี่ถี่เหนียว แม้จะมีฐานะร่ำรวยก็ตาม เช่น วันหนึ่งเศรษฐีคนนี้เห็นยาจกกำลังกินขนมครกจึงอยากจะกินบ้างแต่ไม่ยอมซื้อเพราะเกรงจะสิ้นเปลืองเงินทอง ต่อมาเมื่อพระพุทธเจ้าทราบเรื่องจึงตรัสให้พระโมคคัลลานะเดินทางไปอบรมสั่งสอนเศรษฐีผู้นี้ด้วยการแสดงพระธรรมของพระรัตนตรัยทั้งสามพร้อมแสดงผลทานและเมื่อเศรษฐีได้ฟังก็มีจิตเลื่อมใสขึ้นมาทันที และตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาเศรษฐีคนนี้ก็เปลี่ยนนิสัยกลายเป็นคนเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เป็นต้น
ขณะที่บางตำนานเล่าขานว่า ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เหตุเกิดที่ จ.พระนครศรีอยุธยา มีชายหญิงคู่หนึ่งชอบพอกัน ฝ่ายชายชื่อ “กะทิ” ฝ่ายหญิงชื่อ “แป้ง” แต่พ่อของแป้งซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านไม่ชอบกะทิจึงหาทางขัดขวางไม่ให้มายุ่งเกี่ยวกับลูกสาว และยังยกลูกสาวให้แต่งงานกับปลัดอำเภอหนุ่มจากกรุงเทพฯ และเมื่อพ่อของแป้ง รู้ว่ากะทิจะมาขัดขวางงานแต่งงานของลูกสาว จึงขุดหลุมพรางไว้เพื่อดักฝังกะทิทั้งเป็น
จนกลางคืนกะทิกับแป้งนัดมาพบกันและเกิดพลัดตกลงไปในหลุมพรางของพ่อแป้งทั้งคู่ ลูกน้องของพอแป้งนึกว่ากะทิตกหลุมพรางคนเดียว จึงนำดินมาฝังกลบทั้งคู่จนตายทั้งเป็น รุ่งเช้าพ่อแป้งรู้เข้าจึงเกิดความเศร้าโศกเสียใจจึงสร้างเจดีย์ไว้เป็นอนุสรณ์แด่คนทั้งสอง
ต่อมาชาวบ้านรู้ข่าวจึงเห็นใจในชะตาชีวิตของหนุ่มสาวคู่นี้ จึงนำขนมที่ทำจากกะทิและแป้งและเรียกว่า “ขนมคู่รักกัน” มาเซ่นไหว้ ต่อมาได้มีผู้เห็นว่าชื่อเรียกยากไปจึงตัดเอาตัวอักษรแต่ละคำคือเอาตัว ค ควาย ร เรือ และ ก ไก่ มารวมกันจึงอ่านว่า “ครก” หรือขนมครกนั่นเอง