xs
xsm
sm
md
lg

วัดแก่นจันทร์เจริญ สมุทรสงคราม เตรียมจัดงานตักบาตรขนมครก ที่จัดต่อเนื่องมานานเกือบ 100 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สมุทรสงคราม - วัดแก่นจันทร์เจริญ ร่วมกับ จ.สมุทรสงคราม อบจ. อบต.บางพรม ททท.สำนักงานสมุทรสงคราม วัฒนธรรมจังหวัด เตรียมจัดงานตักบาตรขนมครกที่มีมานานเกือบ 100 ปี ในวันที่ 22 ก.ย.นี้

พระครูวิมลสมุทรกิจ (หลวงพ่อขาว) เจ้าอาวาสวัดแก่นจันทร์เจริญ ต.บางพรม อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม เปิดเผยว่าได้ประชุมผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมจัดงานตักบาตรขนมครก ที่ทางวัดจัดต่อเนื่องมานานเกือบ 100 ปีแล้ว เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษา โดยวัดแก่นจันทร์เจริญ ร่วมกับ จ.สมุทรสงคราม อบจ.สมุทรสงคราม อบต.บางพรม ททท.สำนักงานสมุทรสงคราม สนง.วัฒนธรรมจังหวัด จัดขึ้นที่วัดแก่นจันทร์เจริญ ในวันขึ้น 8 ค่ำเดือน 10 ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 22 ก.ย. ในงานจะมีเตาแคะขนมครกกว่า 20 เตา เริ่มตั้งแต่เวลา 07.00 น.เป็นต้นไป

โดยมีชาวบ้าน และนักท่องเที่ยวมาร่วมกันแคะขนมครกเพื่อนำไปตักบาตรเรื่อยไปจนถึงเวลา 09.30 น. มีพิธีเปิดงานโดยนายสมนึก พรหมเขียว ผวจ.สมุทรสงคราม นอกจากนี้ในงานยังมีการแสดงของเด็กนักเรียน และสาธิตการทำขนมครกตั้งแต่โม่แป้ง ขูดมะพร้าว หยอดขนมครก และแคะขนมครกจากโรงเรียนวัดแก่นจันทน์ (จันทร์เอียงทับทิมราษฎร์บำรุง) ให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้อีกด้วย

สำหรับประเพณีตักบาตรขนมครก พระครูวิมลสมุทรกิจ บอกว่าเป็นประเพณีเก่าแก่ของ จ.สมุทรสงคราม ที่ปัจจุบันยังมีเพียงแห่งเดียวคือที่วัดแก่นจันทร์เจริญ เท่านั้น โดยอดีตพระครูสุนทรสุตกิจ (หลวงปู่โห้) เจ้าอาวาสวัดแก่นจันทร์เจริญ (รูปแรก) เป็นผู้ริเริ่มเมื่อปี 2473 โดยชักชวนชาวบ้านจัดงานตักบาตรขนมครกในวันขึ้น 8 ค่ำเดือน 10 ของทุกปี โดยเลียนแบบการจัดงานมาจากขนมเบื้องของพระราชพิธีในวัง ที่สืบทอดกันมาจนถึงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรี

โดยญาติโยมที่มาร่วมทำบุญจะซื้อขนมครกและน้ำตาลทรายจากพ่อค้าแม่ค้าที่พายเรือมาจอดขายหน้าวัดแก่นจันทร์เจริญ ถวายพระสงฆ์ แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปทำให้การคมนาคมสะดวกมากขึ้น พ่อค้าแม่ค้าที่พายเรือมาขายขนมครกก็หายไป ทางวัดจึงเกรงว่าประเพณีตักบาตรขนมครกจะสูญหายไปด้วย จึงได้ชวนชาวบ้านช่วยกันลงแรง และบริจาคเงินซื้อข้าวสารนำมาหมักค้างคืนไว้ พอเช้าตรู่ของวันใหม่ไปรวมตัวกันที่วัดแก่นจันทร์เจริญ ช่วยกันโม่แป้ง คั้นกะทิ ทำขนมครกเพื่อนำไปตักบาตรถวายพระสงฆ์ ส่วนน้ำตาลทรายที่ถวายคู่กันนั้นเนื่องจากพระบางรูปชอบหวานจึงมีน้ำตาลทรายให้มาด้วย

ส่วนประวัติความเป็นมาของประเพณีทำบุญตักบาตรขนมครกนั้น พระครูวิมลสมุทรกิจ บอกว่า มีอยู่ 2 ตำนานที่เล่าขานต่อๆ กันมา บางตำนานระบุว่า มาจากหลักธรรมของพระพุทธเจ้าในธรรมะบทที่ 2 เรื่อง “โกสิยะเศรษฐีผู้มีความตระหนี่ถี่เหนี่ยว” โดยพระองค์ต้องการสั่งสอนเศรษฐีคนหนึ่งที่เป็นคนตระหนี่ถี่เหนียว แม้จะมีฐานะร่ำรวยก็ตาม เช่น วันหนึ่งเศรษฐีคนนี้เห็นยาจกกำลังกินขนมครกจึงอยากจะกินบ้างแต่ไม่ยอมซื้อเพราะกลัวจะสิ้นเปลืองเงินทอง เมื่อภรรยาทราบว่าสามีอยากกินจึงแอบไปทำขนมครกโดยไม่ให้ใครรู้เพื่อจะให้สามีกินเพียงคนเดียว

ต่อมา เมื่อพระพุทธเจ้าทราบเรื่องจึงตรัสให้พระโมคคัลลานะเดินทางไปอบรมสั่งสอนเศรษฐีผู้นี้ด้วยการแสดงพระธรรมของพระรัตนตรัยทั้งสาม พร้อมแสดงผลทาน และเมื่อเศรษฐีได้ฟังมีจิตเลื่อมใสขึ้นมาทันที และตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาเศรษฐีคนนี้ก็เปลี่ยนนิสัยกลายเป็นคนเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่

ขณะที่บางตำนานเล่าขานกันว่า ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เหตุเกิดที่ อ.บางปะหัน จ.พระนครศรีอยุธยา มีชายหญิงคู่หนึ่งชอบพอกัน ฝ่ายชายชื่อ “กะทิ” ส่วนฝ่ายหญิงชื่อ “แป้ง” แต่พ่อของแป้งซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านไม่ชอบกะทิ จึงหาทางขัดขวางไม่ให้มายุ่งเกี่ยวกับลูกสาว และยังยกลูกสาวให้แต่งงานกับปลัดอำเภอหนุ่มจากกรุงเทพฯ และเมื่อพ่อของแป้ง รู้ว่ากะทิจะมาขัดขวางงานแต่งงานของลูกสาว จึงขุดหลุมพรางไว้เพื่อดักฝังกะทิทั้งเป็น จนกลางคืนกะทิกับแป้งได้นัดมาพบกันและเกิดพลัดตกลงไปในหลุมพรางของพ่อแป้งทั้งคู่ ลูกน้องของผู้ใหญ่บ้านนึกว่ากะทิตกหลุมพรางคนเดียว จึงนำดินมาฝังกลบทั้งคู่จนตายทั้งเป็น

รุ่งเช้าผู้ใหญ่บ้านรู้เข้าจึงเกิดความเสียใจจึงสร้างเจดีย์ไว้เป็นอนุสรณ์แก่คนทั้งสอง ต่อมาชาวบ้านรู้ข่าวจึงเห็นใจในชะตาชีวิตของหนุ่มสาวคู่นี้ จึงนำขนมที่ทำจากกะทิและแป้งและเรียกว่า “ขนมคู่รักกัน” มาเซ่นไหว้ ต่อมาได้มีผู้เห็นว่าชื่อเรียกยากไปจึงตัดเอาตัวอักษรแต่ละคำคือเอาตัว ค ควาย ร เรือ และ ก ไก่ มารวมกันอ่านว่า “ครก”หรือขนมครกนั่นเอง

สำหรับผู้ที่สนใจจะไปเที่ยวงานตักบาตรขนมครกที่วัดแก่นจันทร์เจริญ ไปกันได้ งานมีวันเดียว คือวันศุกร์ที่ 22 ก.ย.66 หากไปไม่ถูกปักหมุด GPS วัดแก่นจันทร์เจริญ จ.สมุทรสงครามไปถึงงานแน่นอน งานเริ่มตั้งแต่ 07.00 น.เป็นต้นไป มีพิธีเปิดงานเวลา 09.30 น.โดยนายสมนึก พรหมเขียว ผวจ.สมุทรสงคราม นอกจากนี้ ในงานยังได้เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้หยอดและแคะขนมครกรับประทาน หรือนำกลับบ้านได้อีกด้วย










กำลังโหลดความคิดเห็น