xs
xsm
sm
md
lg

"ลักลอบนำเข้า" สัตว์น้ำต่างถิ่น เรื่องใหญ่ที่ต้องแก้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หลังสื่อหลายสำนักเปิดเผยตัวเลขการส่งออกปลาหมอคางดำเป็นปลาสวยงามไปหลายแสนตัว ส่งผลให้ผู้ทำธุรกิจส่งออกปลาเคลื่อนไหวให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เป็นไปได้ที่จะมีการเพาะเลี้ยงปลาชนิดนี้ในช่วงก่อนหน้าที่จะมีการประกาศห้ามของกรมประมงออกมา

ผู้ทำธุรกิจส่งออกปลาสวยงามรายหนึ่ง ระบุว่าเคยเห็นผู้มาเสนอขายปลา Blackchin Tilapia ในตลาดเช่นกัน แต่เนื่องจากตนมองว่าไม่สวยจึงไม่ได้รับซื้อไว้เพื่อส่งออก ดังนั้น หากขายไม่ได้ก็มีโอกาสที่ผู้เพาะพันธุ์ขายนั้นจะนำไปปล่อยทิ้ง พร้อมอธิบายว่า ผู้นำเข้ากับผู้ส่งออกปลาอาจเป็นคนละคนกัน เมื่อผู้นำเข้าปลามาเพาะพันธุ์แล้ว ลังปลา (หรือผู้รวบรวมปลาเพื่อส่งออก) ไม่ซื้อ ก็มีแนวโน้มที่จะปล่อยทิ้ง และอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาดังที่กำลังเกิดอยู่ได้

ดังนั้น แม้จะมีข้อมูลผู้ส่งออกปลาก็อาจจะหาผู้เพาะเลี้ยงที่มาเสนอขายปลาได้เจอหรือไม่เจอก็ได้ แต่อย่างน้อยทำให้รู้ว่า ผู้นำเข้าปลาหมอคางดำเข้ามาประเทศไทยไม่ได้มีรายเดียว

สอดคล้องกับงานวิจัยของกรมประมง เรื่อง “ความหลากหลายทางพันธุกรรมกับพันธุปฎิทรรศน์ของการระบาดปลาหมอสีคางดำในประเทศไทย” โดย อภิรดี หันพงศ์กิตติกูล วงศ์ปฐม กมลรัตน์ ทิวารัตน์ เถลิงเกียรติ ลีลา และสุภาภรณ์ ชาวสวน ที่ตีพิมพ์ในวารสารการประมงอิเล็กทรอนิกส์ ปีที่ 3 ฉบับที่ 4 ตุลาคม-ธันวาคม 2563 ซึ่งระบุว่า ประชากรปลาหมอสีคางดำที่แพร่กระจายในประเทศไทยมีการแบ่งเป็น 2 หรือ 3 กลุ่มย่อย ที่มีความแตกต่างทางพันธุกรรมสูง โดยประชากรในจังหวัดสมุทรสงคราม เพชรบุรี ชุมพร และประจวบคีรีขันธ์ มีความคล้ายคลึงทางพันธุกรรมมากกว่าประชากรจาก จ.ระยอง ซึ่งมีความแตกต่างทางพันธุกรรมกับประชากรอื่นๆ อย่างชัดเจน

ทั้งนี้ ค่าความหลากหลายของประชากรสัตว์น้ำต่างถิ่นจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยคือ ปริมาณสัตว์น้ำต่างถิ่นที่นำเข้า และจำนวนครั้งของสัตว์น้ำต่างถิ่นที่นำเข้า สำหรับกรณีปลาหมอสีคางดำในประเทศไทย ไม่มีประวัตินำเข้าชัดเจน มีเพียงรายงานการขออนุญาตนำเข้าจากกานา ในปี 2549 และ ในปี 2553 ได้นำเข้าจำนวน 2,000 ตัว

อย่างไรก็ตาม กรมประมงเริ่มมีการควบคุมการนำเข้าสัตว์น้ำต่างถิ่นประมาณปี 2539 จึงอาจมีการนำเข้าก่อนหน้านี้ หรืออาจปะปนมากับการนำเข้าสัตว์น้ำชนิดอื่นในกลุ่มเดียวกันได้ เนื่องจากปลาในกลุ่มปลานิล (tilapiine clchlids) มีลักษณะภายนอกที่ไม่แตกต่างกันมากนัก โดยเฉพาะในวัยอ่อนและลูกปลาขนาดเล็ก

อย่างไรก็ตาม ประชากรที่จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกันยังมีความแตกต่างของความถี่อัลลิล (หรือความถี่ยีน) ประกอบกับไม่มีความสัมพันธ์เชิงพื้นที่ระหว่างประชากรย่อย และมีค่าความหลากหลายทางพันธุกรรมต่ำ จึงมีความเป็นไปได้ว่ากลไกการแพร่กระจายของปลาหมอสีคางดำที่ระบาดไปยังจังหวัดซึ่งอยู่ห่างออกไป เช่น ระยอง ประจวบคีรีขันธ์ และชุมพร น่าจะเกิดจากการกระทำของมนุษย์ (anthropogenic process) มากกว่าการแพร่กระจายเอง

ข้อมูลทั้งจากผู้ส่งออกปลาสวยงาม และงานวิจัยของกรมประมง สะท้อนชัดเจนว่าปลาหมอคางดำที่มีอยู่ในประเทศไทยมีที่มามากกว่า 1 แหล่ง แต่ข้อมูลการขออนุญาตภาครัฐอย่างถูกต้องกลับมีระบุเพียงแหล่งเดียว

ขณะที่มีข้อมูลอีกด้านว่า มีอีกหลายประเทศที่ทำการนำเข้าปลาหมอสีคางดำ (Blackchin Tilapia) จากแอฟริกาเช่นกัน เช่น สหรัฐอเมริกา อิสราเอล สหราชอาณาจักร สวิตเซอร์แลนด์ รวมถึงประเทศญี่ปุ่น ฮ่องกง และเกาหลีใต้ ซึ่งหมายความว่า หากประเทศไทยไม่มีระบบการป้องกันการลักลอบนำเข้าสัตว์น้ำต่างถิ่นที่ดี ย่อมสามารถแอบนำเข้าปลาชนิดนี้จากญี่ปุ่น ฮ่องกง หรือเกาหลีใต้ ซึ่งอยู่ใกล้ประเทศไทยได้อีกด้วย

หากเดินสำรวจตลาดปลาทั้งในกรุงเทพฯ และราชบุรี หรืออีกหลายที่ ต้องยอมรับว่ายังพบสัตว์น้ำต่างถิ่น สัตว์น้ำแปลกๆ ปรากฏให้เลือกซื้อหามากมายหลายชนิด และมีแนวโน้มว่าจะไม่ได้ขออนุญาตนำเข้า ก็คงต้องตั้งคำถามว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ประเทศไทยต้องปรับปรุงมาตรการจัดการการลักลอบนำเข้าสัตว์ต่างถิ่นให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น การหลงประเด็นปลาหมอคางดำเพียงเพื่อตามหาว่าใครผิดอาจไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น เท่ากับการจับมือกันเดินหน้าแก้ปัญหาตามมาตรการต่างๆ ที่วางไว้ และที่สำคัญ รัฐต้องป้องกันปัญหาตั้งแต่ต้นทางด้วยการวางมาตรการจัดการการ “ลักลอบ” นำเข้าสัตว์ต่างถิ่นให้สำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมและปฏิบัติได้จริง




กำลังโหลดความคิดเห็น