ความคืบหน้าของช้างป่าตัวน้อยวัย 2 เดือน ที่พลัดหลงโขลง และไม่มีฝูงช้างมารับ ล่าสุด พบการติดเชื้อ EEHV กรมอุทยานฯ สั่งทีมสัตวแพทย์ดูแลอย่างใกล้ชิด ตลอด 24 ชม.
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เผยข้อมูลล่าสุดกรณีลูกช้างป่าพลัดหลงจากโขลงเข้ามาในฐานทหารพราน ฐานฯทุ่งกร่าง ภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2565
นายก้องเกียรติ เต็มตำนาน ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 รายงานความคืบหน้าอาการและการดูแลลูกช้างพลัดหลงเข้ามาว่า จากผลการตรวจตัวอย่างเลือดของลูกช้างป่าจากห้องปฏิบัติการสวนสัตว์เปิดเขาเขียว เมื่อวันที่ 10 ตุลาคมที่ผ่านมา ผลการตรวจยืนยันโรคเฮอร์ปีส์ไวรัส ให้ผลสงสัย (suspect) ต่อเชื้อ EEHV type 1
สำหรับผลตรวจในวันนี้จะดำเนินการส่งตัวอย่างเลือดเพื่อตรวจยืนยันซ้ำกับทางห้องปฏิบัติการมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กำแพงแสน ซึ่งจะให้ผลในอีก 3-5 วัน โดยในระหว่างนี้ สัตวแพทย์จะดำเนินการให้ยาเพื่อใช้ต้านไวรัส เฮอร์ปีส์ไวรัส และจัดหาซื้อยาต้านไวรัสเพื่อให้เกิดความเพียงพอและความต่อเนื่องกับการรักษา รวมทั้งให้ยาเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันกับลูกช้างป่า นอกจากนี้เพื่อลดความเครียดที่จะเกิดขึ้นกับลูกช้างป่า 100% จะงดการเข้าเยี่ยมชมจากบุคคลภายนอก
โดยในวันนี้ตั้งแต่เวลา 01.00 น. จนถึงเวลา 9.00 น. ลูกช้างกินนมทั้งหมด 4 ครั้ง จำนวน 3.3 ลิตร นอนหลับเฉลี่ยต่อครั้งประมาณ 1 ชั่วโมง การขับถ่าย ปกติ อุณหภูมิร่างกายโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 37.3 องศาเซลเซียส เสริมวิตามิน ซี จำนวน 1000 mg ไปพร้อมนม ห่มผ้าและจุดไฟเพื่อเพิ่มความอบอุ่น และในระหว่างนี้จะมีสัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่ดูแลลูกช้างป่าอย่างใกล้ชิด ตลอด 24 ชั่วโมง
ทั้งนี้ ข้อมูลจากศูนย์เฝ้าระวังและติดตามโรคจากสัตว์ป่า สัตว์ต่างถิ่นและสัตว์อพยพ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเชื้อ เชื้อ EEHV ไว้ ดังนี้
โรคเฮอร์ปีส์ไวรัสในช้าง หรือ EEHV (Elephant Endotheliotropic Herpesvirus) เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสในสกุลย่อย Betaherpesviridae โดยในปี 1998 มีรายงานการตายของลูกช้างเอเชียที่สวิตเซอร์แลนด์ว่าตายจากอาการของโรคทางระบบเลือดเฉียบพลัน (Acute hemorrhagic disease) และพบการตายของลูกช้างที่มีอาการดังกล่าวที่สวนสัตว์ในยุโรปและอเมริกาเหนืออีกกว่า 20 เคส
สำหรับในประเทศไทย มีรายงานการตายของลูกช้างด้วยอาการคล้ายโรค EEHV ในปี 2005 ก่อนจะตรวจพบเชื้อ EEHV1A จากตัวอย่างเนื้อเยื่อหัวใจที่ถูกเก็บแช่แข็งไว้ในอีก 5 ปีต่อมา และพบการติดเชื้อ EEHV4 ในลูกช้างอายุ 3 ปีเมื่อปี 2011 ซึ่งนับว่าเป็นครั้งแรกที่พบในเอเชีย และครั้งที่สองของโลกที่พบเชื้อชนิดนี้
ความรุนแรงของโรค สามารถส่งผลต่อระบบเลือดของช้าง โดยเชื้อไวรัสจะเข้าไปทำลายผนังหลอดเลือดเป็นหลัก สำหรับอาการจะขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อ ช้างจะมีอาการซึม อ่อนแรง มีไข้ มีการบวมน้ำที่ส่วนหัว งวง คอ ขา ท้อง เนื่องจากผนังหลอดเลือดถูกทำลายทำให้ของเหลวไหลออกนอกเส้นเลือด โดยเห็นชัดที่สุดบริเวณใบหน้าของช้าง ลิ้นบวม ม่วง พบจุดเลือดออกหรือแผลหลุมได้
เชื้อ EEHV4 จะส่งผลต่อระบบทางเดินอาหารด้วย ทำให้ช้างมีอาการท้องเสีย ถ่ายเป็นเลือด โรคนี้มีความรุนแรงมากในช้างอายุต่ำกว่า 15 ปี พบอัตราการตายสูงถึง 85% ลูกช้างอาจตายได้ภายใน 24 - 48 ชั่วโมง หลังจากเริ่มแสดงอาการ เนื่องจากภาวะหัวใจและอวัยวะภายในล้มเหลว สำหรับการแพร่กระจายโรค พบว่ามาจากการสัมผัสโดยตรงกับช้างที่ติดเชื้อเป็นหลัก โดยเชื้อแพร่ออกมากับสิ่งคัดหลั่งจากงวง น้ำลาย หรือของเหลวต่างๆ ในร่างกาย
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline