xs
xsm
sm
md
lg

กรมประมงแจงปลาหมอคางดำ มีเอกชนรายเดียวนำเข้า ยันไม่ได้ตัวอย่าง-ไม่แจ้งการทำลาย เร่ง 5 มาตรการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมประมงแจงทุกประเด็น “ปลาหมอคางดำ” ยืนยัน ไม่ได้รับตัวอย่างปลาดอง ไม่ได้แจ้งกรมประมงในการจัดการทำลายตัวอย่าง และมีเพียงเอกชนรายเดียวเท่านั้นที่นำเข้า เร่งดำเนินการ 5 มาตรการด่วน กำจัดแพร่ระบาด-นำไปให้เกิดประโยชน์ พร้อมเสนอ กม.เพิ่มโทษทั้งอาญา-ทางปกครอง

วันนี้ (17 ก.ค.) ณ หอประชุมอานนท์ กรมประมง จัดงานแถลงข่าว “การแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำ” โดยมี นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง นายคงภพ อำพลศักดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุกรรมสัตว์น้ำ และ น.ส.ทิวารัตน์ เถลิงเกียรติลีลา ผู้เชี่ยวชาญด้านความหลากหลายทางชีวภาพด้านการประมงน้ำจืด เป็นผู้แถลงข่าว รวมทั้ง นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมถึงผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอคางดำ เข้าร่วมสังเกตการณ์

นายบัญชา กล่าวว่า การเข้ามาของปลาหมอคางดำ ว่าด้วยกฎหมายประมง พ.ร.บ.ประมง 2490 ม.94 ไม่ให้นำสัตว์น้ำชนิดใดผ่านเข้ามาโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเจตนากฎหมายในวันนั้น มีวัตถุประสงค์ไม่ให้เกิดโรคระบาดในไทย และป้องกันสุขอนามัยของสัตว์น้ำ และคนในประเทศ ซึ่งการนำเข้าปลาหมอคางดำ เมื่อ 14 ปีที่แล้ว มีการตั้งคณะกรรมการระดับสถาบันด้านความหลากหลายทางชีวภาพ กรมประมง เพื่อให้ความเห็น และอนุมัติให้นำเข้า โดยมีเงื่อนไขว่าต้องเก็บตัวอย่างในโหลดอง เมื่อสิ้นสุดผลการทดลอง ให้รายงานผล หากไม่ศึกษาต่อต้องทำลายและแจ้งกรมประมงเพื่อเข้าไปตรวจสอบ โดยมีการมีการนำเข้ามา 2,000 ตัว ในเดือน ธันวาคม 2553 นำไปเพาะพันธุ์ต่อ ที่ จ.สมุทรสงคราม

ส่วนที่บริษัทฯ อ้างว่า มีการส่งตัวอย่างปลาหมอคางดำแล้วนั้น นายบัญชา อธิบายถึงกระบวนการเก็บซาก ว่า คณะกรรมการมีวิธีเก็บ 2 รูปแบบ คือ การเก็บแบบดองในฟอร์มาลิน และเก็บ DNA เลือด เอาไว้ จากการตรวจสอบสมุดลงทะเบียนรับมอบตัวอย่างสัตว์น้ำ โดยเน้นไปที่เดือนธันวาคม 2553 - มกราคม 2554 โดยยืนยันว่า ไม่พบการลงบันทึกในสมุดคุมของกรมประมง เมื่อให้เจ้าหน้าที่หาก็ไม่มีขวดดองแต่อย่างใด และย้ำว่า ไม่มีการรับตัวอย่างปลาจำนวน 50 ตัวจากบริษัทผู้นำเข้า

นายบัญชา กล่าวต่อว่า ขณะนี้ในพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ยังไม่มีบทลงโทษหนัก ที่จะนำไปบังคับใช้กับผู้นำเข้า ความผิดในปัจจุบัน คือ จะไม่ได้รับอนุญาตในการนำเข้าในครั้งหน้า ในปลาและวัตถุประสงค์เดียวกันเพียงเท่านั้น ซึ่งตนเองจะได้เสนอคณะอนุกรรมาธิการแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำ ให้มีโทษทางคดีอาญากับผู้นำเข้าให้ต้องรับผิดชอบกับทางสังคม ซึ่งแนวทางจะเป็นอย่างไรนั้น ต้องมีการหารือต่อไป

โดยย้ำว่า ระบบราชการมีระบบควบคุมและบันทึก ฉะนั้น ถ้าบริษัทเอกชนดังกล่าว มีข้อมูลหรือเอกสารนำส่งต้นขั้ว หรือหากมีบุคคลที่จะร่วมกันแสวงหาข้อเท็จจริงในการตรวจสอบ สัตว์น้ำที่หลุดรอดในวันนี้เกิดจากเหตุใด ซึ่งอธิบดีย้ำว่า จะต้องมีการรับผิดชอบทั้งในเรื่องของกฎหมาย และความรับผิดชอบของสังคม จะไม่สามารถปฏิเสธว่า ไม่มีหลักฐานและจะไม่รับผิดชอบ ยังยืนยันว่า ขณะนี้มีบริษัทเอกชนรายเดียวที่นำเข้าปลาหมอคางดำตั้งแต่ปี 2553

นายบัญชา กล่าวต่อว่า หลังจากวานนี้ประชุมกว่า 2 ชั่วโมง สำหรับการตั้งจุดรับซื้อ ให้มีการรับซื้อในราคา 15 บาท/กิโลกรัม ซึ่งจุดรับซื้อคือ แพในชุมชน โดยมีประสบการณ์จากการนำไปทำปลาป่น ซึ่งใน 5 จังหวัดที่ระบาดหนัก จะต้องมีการรับซื้อเยอะกว่าปกติ โดยสัปดาห์หน้าจะเริ่มกระบวนการขายได้ แต่ละมาตรการก็จะใช้วงเงินต่างกัน โดยรวมประมาณ 50 ล้านบาท ใน 18 เดือน นับจากนี้ ซึ่งก่อนหน้านี้เสนอไป 118 ล้านบาท แต่ไม่ได้รับการอนุมัติ

ด้าน น.ส.ทิวารัตน์ กล่าวย้ำว่า บริษัทเอกชนไม่ได้แจ้งทำลายในวันที่ทำลาย แต่หลังการระบาด ปี 2560 มีเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบ มีการชี้แจงว่า ปลาดังกล่าวได้ตายหมด และทำการฝังกลบไปแล้ว ซึ่งขณะที่ไปตรวจสอบก็มีอาคารก่อสร้างทับ จึงไม่สามารถตรวจสอบได้

ทั้งนี้ กรมประมง มี 5 มาตรการสำคัญ ได้แก่

1. การควบคุมและกำจัด ปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่ พบการแพร่ระบาด

2. การปล่อยปลาผู้ล่า เช่น ปลากะพงขาว และปลาอีกง หรือปลาผู้ล่าชนิดอื่น เพื่อกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ

3. การนำปลาหมอคางดำที่กำจัดออกจากระบบนิเวศไปใช้ประโยชน์ เช่น ทำปลาป่น แปรรูปเป็นหลายเมนู

4. การสำรวจและเฝ้าระวังการแพร่กระจายปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติตามพื้นที่กันชนต่างๆ และ

5. การประชาสัมพันธ์ สร้างความตระหนักรู้ และการมีส่วนร่วม ในการกำจัดปลาหมอคางดำให้กับทุกภาคส่วน

ส่วนแผนระยะยาว กรมประมงจะนำ “โครงการวิจัยการเหนี่ยวนำชุดโครโมโซม 4n ในปลาหมอคางดำ” เป็นแนวทางในการควบคุมการแพร่ขยายพันธุ์ของปลาหมอคางดำ ด้วยหลักการทางพันธุศาสตร์ ศึกษาสร้างประชากรปลาหมอคางดำพิเศษที่มีชุดโครโมโซม 4 ชุด (4n) พร้อมปล่อยปลาหมอคางดำพิเศษลงสู่แหล่งน้ำเพื่อให้ไปผสมพันธุ์กับปลาหมอคางดำปกติที่มีชุดโครโมโซม 2 ชุด (2n) ทำให้เกิดลูกปลาหมอคางดำที่มีชุดโครโมโซม 3 ชุด (3n) และจะกลายเป็นปลาหมอคางดำที่เป็นหมัน ไม่สามารถสืบพันธุ์ต่อได้

ในเบื้องต้นของการศึกษานี้จะทดลองในบ่อทดลองเลียนแบบธรรมชาติ ภายในศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำเพชรบุรี และจะทยอยปล่อยอย่างน้อย 250,000 ตัว ภายในระยะเวลา 15 เดือน (กรกฎาคม 2567 - กันยายน 2568) คาดว่า สามารถเริ่มปล่อยพันธุ์ปลาช้าสุดในเดือนธันวาคม 2567 อย่างน้อยจำนวน 50,000 ตัว และเมื่อดำเนินการควบคู่กับวิธีการควบคุมอื่น จะส่งผลให้การเพิ่มจำนวนปลาหมอคางดำรุ่นใหม่ และทำให้การขยายพันธุ์ปลาหมอคางดำลดลงภายใน 3 ปี


กำลังโหลดความคิดเห็น