xs
xsm
sm
md
lg

ส.ส.ก้าวไกล จี้กรมประมงเร่งปราบปลาหมอคางดำ เผยนากุ้งเดือดร้อนหนัก โดนกินเกลี้ยงบ่อ จ่อเรียกเอกชนแจง กมธ.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ณัฐชา” จี้ประมงเร่งแก้ปัญหาปลาหมอคางดำ หลังปล่อยระบาดทั่วประเทศ เผย ชาวประมงในพื้นที่เลี้ยงกุ้ง 3 แสนตัว โดนกินเกลี้ยงบ่อ ต้องกู้เงินทำทุน สุดท้ายขายโฉนดหนี โอดเป็นมหันตภัยร้ายทำลายเศรษฐกิจนับหมื่นล้าน จ่อเรียกบริษัทเอกชนเข้าแจง อนุ กมธ.พรุ่งนี้



วันนี้ (10 ก.ค.) นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธานคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมถึงผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอคางดำ เพื่อการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ในราชอาณาจักรไทย กล่าวถึงวิกฤตปลาหมอคางดำ ว่า สถานการณ์หนักมาก เนื่องจากปลาชนิดนี้เป็นเอเลี่ยนสปีชีส์ อาศัยอยู่แถบประเทศกานา แอฟริกาใต้ ซึ่งมีบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งนำเข้ามา 2,000 ตัว เมื่อปี 2553 หลังจากนั้น ก็พบว่ามีการแจ้งทำลายทิ้งหมดแล้ว แต่กลับพบในแหล่งน้ำธรรมชาติ

“หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องชัดเจนและตรงที่สุด ก็คือ กรมประมง ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ กรมประมงดำเนินการอย่างไรไม่ทราบ แต่ผลกระทบสุดท้าย ก็คือ เป็นความผิดพลาดอย่างร้ายแรงที่สุด เนื่องจากปลาสายพันธุ์นี้แพร่กระจายไปเต็มทั่วพื้นที่ วันนี้เราจะเห็นข่าวที่พี่น้องชาวภาคใต้ จังหวัดนครศรีธรรมราช สงขลา สุราษฎร์ธานี ในออกมาบอกว่าวิตกกังวลกับปลาสายพันธุ์นี้ จะไปรุกรานสัตว์น้ำของเขา เพราะฉะนั้น เรื่องนี้เป็นมหันตภัยร้ายที่สามารถทำลายมูลค่าทางเศรษฐกิจสัตว์น้ำไปปีหนึ่งหลาย 1,000 ล้านบาท” นายณัฐชา กล่าว

นายณัฐชา เปิดเผยว่า พี่น้องในเขตบางขุนเทียน ที่ตนเป็น ส.ส. ลงทุนเลี้ยงกุ้ง 300,000 บาท โดยปลาสายพันธุ์นี้หลุดเข้ามากินกุ้งจนหมดบ่อ พอจะเลี้ยงรอบ 2 ต้องกู้เงินมาลงทุน พอถึงรอบ 3 ไม่มีเงินไปจ่ายเงินกู้ ตอนนี้ต้องขายโฉนดที่ดิน นี่เป็นภาพที่สะท้อนและเห็นได้ชัดถึงภัยร้ายแรงของปลาหมอคางดำ ดังนั้น อนุกรรมาธิการในคณะตน เรียกประชุมและถามหางานวิจัยที่ผิดพลาด มีหลักฐานว่าทำลายล้างปลาต้นแบบมากน้อยแค่ไหน เพื่อหาต้นต่อคนรับผิดชอบให้ได้

เมื่อถามว่า ในอนุ กมธ. บริษัทเอกชนชี้แจงว่าอย่างไรบ้าง นายณัฐชา กล่าวว่า พรุ่งนี้ อนุ กมธ. จะเชิญ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือ ซีพีเอฟ เพื่อขอดูข้อมูลหลักฐานการขออนุญาต นำเข้าแบบมีเงื่อนไขตอนปี 2549

“ในปี 2549 มีการนำเข้าปลาสายพันธุ์นี้ ตอนนั้นยังไม่ใช้ชื่อว่าปลาหมอสีคางดำ หรือปลาหมอคางดำ แต่กลับใช้ชื่อว่าปลาสายพันธุ์เดียวกับปลานิล เพื่อมาผสมพันธุ์กับปลานิล และการขอนำเข้ามาจากข้อมูลที่ได้รับจาก อนุ กมธ. ก็แจ้งไว้ชัดเจนว่าเป็นการนำเข้ามาเพื่อวิจัย โดยบริษัทเอกชน และหลังจากนั้นการนำเข้าจริงเกิดขึ้นปี 2553 หลังจากนั้น ก็ได้มีการแจ้งว่างานวิจัยผิดพลาด เนื่องจากปลาอ่อนแอและตายในที่สุด หลังจากนั้น ยังไม่ทราบรายงานว่าเป็นอย่างไรต่อ อนุ กมธ. ก็พยายามติดตามหาความจริงว่าหากปลาสายพันธุ์นี้หมดไปตั้งแต่วันนั้นแล้ว ณ วันนี้มาจากไหน” นายณัฐชา กล่าว

นายณัฐชา กล่าวอีกว่า กรมประมงมีงานวิจัยที่ไปจับปลาหมอคางดำทั่วประเทศ 6 จังหวัด เพื่อมาศึกษา DNA ว่า มาจากต้นตอเดียวกันหรือไม่ รายงานฉบับนั้นก็พิสูจน์แล้วว่าปลาทุกพื้นที่ของประเทศไทยที่เป็นปลาหมอคางดำที่มาจากพ่อพันธุ์แม่พันธุ์เดียวกัน ดังนั้นเหลือเพียง DNA ของปลาที่นำเข้ามา หากตรงกันเมื่อไหร่ แสดงว่าปลาที่แพร่ระบาดอยู่ทุกวันนี้มาจากปลาชุดที่นำเข้ามาวิจัย แต่ตอนนี้ไม่สามารถยืนยันได้ อนุ กมธ.ก็ยังศึกษาต่อ

เมื่อถามว่า ปลาที่ทำลายไปแล้ว จะนำกลับเข้ามาตรวจสอบได้หรือไม่ นายณัฐชา ระบุว่า ในรายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้เข้าไปตรวจสอบเมื่อปี 2560 ได้มีรายงานว่า มีการทำลายทิ้งโดยการฝังกลบแล้ว เกือบ 2,000 ตัว เหลือไว้เพียงแค่สร้างในขวดโหลประมาณ 50 ตัว ขวดละ 25 ตัว ส่งให้กับทางกรมประมงเพราะฉะนั้น ตอนนี้เราก็เลยอยากนำชิ้นส่วนตัวอย่างของปลาที่อยู่ในขวดโหลมาเทียบ DNA ว่าตรงกับที่แพร่กระจายอยู่หรือไม่


กำลังโหลดความคิดเห็น