ฤาปลาคางดำจะมีที่มาจากการ “ลักลอบ”
ข้อมูลจากกรมประมงที่ระบุว่า ประเทศไทยมีการส่งออกปลาหมอคางดำในกลุ่มปลาสวยงาม ช่วงปี 2556-2559 ถึงกว่า 3 แสนตัว ขณะที่ภาครัฐไม่มีข้อมูลการขออนุญาตนำเข้าปลาสวยงามเหล่านี้ แสดงให้เห็นว่ามีผู้นำเข้าปลาชนิดนี้หลายราย และน่าจะเป็นการนำเข้าแบบไม่ได้ขออนุญาต ซึ่งเป็นไปได้ว่าในช่วงนั้นกรมประมงยังไม่มีประกาศห้ามนำเข้า เพาะเลี้ยง และส่งออกปลาชนิดนี้ จึงทำให้วิธีปฏิบัติของพ่อค้าปลาสวยงามเป็นไปตามปกติวิสัยที่เคยทำ อย่างไรก็ตาม เมื่อเลี้ยงจนถึงขั้นส่งออกได้ ก่อนส่งออกจำเป็นต้องขออนุญาต จึงทำให้กรมประมงสามารถบันทึกตัวเลขจำนวนตัวปลาไว้ ปรากฏเป็นยอดส่งออกหลายแสนตัว โดยมุ่งสู่ประเทศปลายทาง 15 ประเทศ
แหล่งรวมฟาร์มปลาสวยงาม-ปลาแปลกแหล่งใหญ่ของไทยตั้งอยู่ใน จ.ราชบุรี ถ้าลองไปสำรวจดูจะพบว่าพ่อค้าแม่ค้าหลายรายไม่ใช่นักวิจัย ไม่ใช่นักวิชาการสัตว์น้ำ หลายรายรักปลาและไม่กล้าทำลายทิ้ง แต่เลือกที่จะปล่อยปลาเอาบุญ โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อาจเป็นอีกสาเหตุหนึ่งของการระบาดที่หลายคนมองข้าม ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นกับกุ้งเครย์ฟิช และปลาซัคเกอร์ ที่ทุกวันนี้ยังหาคนปล่อยกุ้งปล่อยปลาคนแรกไม่เจอ
ประเด็นที่สังคมสงสัยว่าการระบาดครั้งนี้น่าจะเกิดจากภาคเอกชนที่ทำการขออนุญาตอย่างถูกต้องเพียงรายเดียวนั้นจึงอาจจะไม่ใช่ เพราะภาคเอกชนยืนยันว่าได้ทำลายปลาทั้งหมดแล้ว ปลาจะฟื้นคืนชีพขึ้นมาได้อย่างไร กระทั่งพบข้อมูลการส่งออกปลาดังกล่าว จึงทำให้เริ่มมองเห็นความเป็นไปได้ของที่มาที่แท้จริง แต่ยังยากที่จะติดตามอยู่ดี
สำหรับลำดับเหตุการณ์ของสถานการณ์นี้ เริ่มต้นในปี 2553 ที่กรมประมงอนุญาตให้บริษัทเอกชนนำพันธุ์ปลาหมอคางดำ (Blackchin tilapia) หรือชื่อวิทยาศาสตร์ Sarotherodon melanotheron ซึ่งเป็นสายพันธุ์เดียวกับปลานิล เข้ามาเพื่อจุดประสงค์ในการทดลองปรับปรุงพันธุ์ปลานิล
โดยปลาหมอสีคางดำขนาด 1 กรัม จำนวน 2,000 ตัว ถูกส่งจากประเทศกานา มาถึงประเทศไทย ในวันที่ 22 ธันวาคม 2553 ซึ่งกรมประมงได้ทำการตรวจสอบ ณ ด่านกักกัน พบว่าปลาได้รับความเสียหายจากการขนส่งเป็นจำนวนมากถึง 70% หรือราว 1,400 ตัว ยังเหลือปลาที่มีสภาพอ่อนแอเพียง 600 ตัว
ปลาดังกล่าวถูกนำไปพักฟื้นที่ฟาร์มวิจัย จ.สมุทรสงคราม และทยอยตายลงทุกวัน เพราะสภาพอ่อนแอ ไม่แข็งแรงในที่สุดก็เหลือเพียง 50 ตัวตั้งแต่ยังไม่เริ่มวิจัย ทำให้เอกชนตัดสินใจยุติโครงการวิจัยดังกล่าวและทำลายปลาทั้งหมดในวันที่ 6 มกราคม 2554 รวมระยะเวลาที่ปลาล็อตนี้อยู่ในประเทศไทยทั้งสิ้นเพียง 16 วัน (22 ธ.ค.2553-6 ม.ค.2554) เป็นปลาขนาด 1 กรัมที่อ่อนแอ ขนาดเล็กมาก ไม่สามารถแม้แต่จะเอาชีวิตให้รอดได้ และไม่ใช่ระยะเจริญพันธุ์ที่ปลาจะวางไข่ได้เลย ขณะที่การทำลายปลาทั้งหมดรวมถึงการเก็บซากปลาส่งมอบให้กรมประมง เป็นไปตามหลักวิชาการและมาตรฐานที่กำหนดอย่างเคร่งครัด
ต่อมา ในปี 2560 เริ่มพบการระบาดของปลาหมอสีคางดำ “คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ” จึงเข้าตรวจเยี่ยมฟาร์มของบริษัทใน จ.สมุทรสงคราม และฟังบรรยายสรุปการดำเนินการทั้งหมด โดยนักวิจัยของบริษัทยืนยันว่าไม่ใช่สาเหตุของการแพร่ระบาดแน่นอน จากเหตุผลข้างต้น หลังจากนั้นในปี 2561 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ออกประกาศห้ามนำเข้า ส่งออก นำผ่าน หรือเพาะเลี้ยงปลาชนิดนี้
อธิบดีกรมประมง ให้สัมภาษณ์ว่าประเทศไทยมีสัตว์น้ำต่างถิ่นระบาดอยู่หลายชนิด โดยวิธีที่สัตว์เหล่านี้เข้ามายังประเทศไทยได้นั้น เป็นไปได้ใน 2 ช่องทาง คือ 1.) การลักลอบนำเข้ามา 2.) การขออนุญาตนำเข้า ซึ่งหมายความว่าในช่องทางแรกไม่มีการอนุญาต และแทบไม่ทราบเลยว่าใครบ้างที่ลักลอบนำเข้ามา
อย่างไรก็ตาม การตามหาต้นตออาจไม่จำเป็นเท่าความร่วมมือในการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งหลายมาตรการที่กำลังดำเนินไปล้วนนำไปสู่ทิศทางที่ดีในการจำกัดจำนวนประชากรปลาหมอสีคางดำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทำหมันปลา ส่วนในหลายพื้นที่ขณะนี้พบว่าปลามีจำนวนลดลงเรื่อยๆ ขณะที่บางย่าน เช่น บางปะกง ไม่ปรากฏพบปลาหมอสีคางดำ ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดี แต่ยังคงต้องดำเนินการมาตรการจำกัดประชากรปลาอย่างต่อเนื่องต่อไป ส่วนแนวทางที่น่าสนับสนุนและเกิดประโยชน์มากที่สุดในขณะนี้คือ การรณรงค์ช่วยกันบริโภค เพราะปลาชนิดนี้กินได้ รสชาติดี และแปรรูปเป็นอาหารได้หลากหลายชนิดเช่นเดียวกับปลาอื่นๆ ทั่วไป
โดย มีนา รัตนากรพิสุทธิ์