xs
xsm
sm
md
lg

ซักเกอร์-หมอคางดำ ปลาต่างถิ่นที่ไม่ไร้ประโยชน์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ซักเกอร์-หมอคางดำ ปลาต่างถิ่นที่ไม่ไร้ประโยชน์

โดย มีนา รัตนากรพิสุทธิ์

หลายวันก่อนเห็นข่าวความเสียหายของเจ้าของบ่อปลานิลที่คาดหวังจะจับปลานิลไปขาย แต่สุดท้ายปลาที่เต็มบ่อกลับกลายเป็นปลาซักเกอร์ ปลาต่างถิ่นที่ถูกนำเข้ามาเลี้ยงในกลุ่มปลาสวยงาม เพื่อประโยชน์ในการดูดสิ่งสกปรกในตู้ปลา จนได้อีกชื่อหนึ่งว่า ปลาเทศบาล ...

ไม่แน่ใจว่าเจ้าของบ่อปลาจัดการกับเหล่าซักเกอร์อย่างไร เพราะจริงๆ แล้ว ปลาชนิดนี้ก็กินได้เหมือนปลาทั่วไป ซ้ำเนื้อยังแน่น ไขมันน้อย บ้างก็ว่ารสชาติคล้ายเนื้อไก่ด้วยซ้ำ เพียงแต่รูปร่างหน้าตาของมันไม่ชวนรับประทานสักเท่าไหร่ หากแต่ปลาชนิดนี้เริ่มเป็นที่นิยมบริโภคมากขึ้นกว่าในอดีตแล้ว ถ้าเจ้าของบ่อปลานิลท่านนั้นนำปลาซักเกอร์ไปขายน่าจะลดความเสียหายได้ระดับหนึ่ง

หลากหลายเมนูที่สามารถนำปลาซักเกอร์ไปปรุงเป็นอาหาร มีทั้งปลาเผาเกลือ ต้มยำ ลาบ หรือแม้แต่ผัดเผ็ด ล่าสุด ยูทูปเปอร์รายหนึ่ง แสดงวิธีปรุงเมนู “เมี่ยงซักเกอร์” ที่เรียกว่าทำถึง และน่ากินไม่น้อยทีเดียว มีคนกด like เกือบสองหมื่น รวมถึงอีกหลายความเห็นที่ยืนยันว่าอร่อยจริง ดูแล้วน่าจะสบายใจได้ว่า คนไทยคงช่วยกันกินปลาซักเกอร์มากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดการระบาดของมันไปได้มากๆแน่นอน

ตัดภาพกลับมาที่ปลาหมอคางดำ ปลาต่างถิ่นอีกชนิดหนึ่งที่หน้าตาน่ากินมากกว่าซักเกอร์ และเชื่อว่าหลายคนคงมีโอกาสได้ทดลองชิมรสชาติของปลาหมอคางดำกันไปบ้างแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดที่มีการระบาด ซึ่งพบว่ามีรสชาติใกล้เคียงปลานิล ทั้งยังก้างใหญ่ จึงไม่ต้องกลัวจะติดคอเหมือนปลาตะเพียนที่มีก้างเยอะมากๆ


ปลาหมอคางดำ จึงเหมาะสำหรับการนำมาปรุงเป็นเมนูอาหารได้หลากหลายเช่นเดียวกับปลานิล หรือปลาอื่นๆ เช่น คางดำแดดเดียว คางดำทอดน้ำปลา ต้มยำปลา และขนมจีนน้ำยาปลา เป็นต้น

ด้วยความปลาหมอคางดำเพิ่งเริ่มมีการระบาดไม่นาน กรมประมงจึงวางแผนการกำจัดปลาชนิดนี้อย่างเร่งด่วนก่อนที่จะมันจะแพร่กระจายออกไปในวงกว้างมากขึ้น โดยมีทั้งการรณรงค์บริโภคในชุมชน การจัดกิจกรรมลงแขกลงคลอง ส่งเสริมให้มีการจับปลาขึ้นมาใช้ประโยชน์ เช่น ทำปลาร้า ทำน้ำปลา ทำอาหารสัตว์ ตลอดจนร่วมมือกับกรมพัฒนาที่ดิน ทำปุ๋ยชีวภาพคุณภาพสูง แจกจ่ายให้เกษตรกรนำไปใช้กับพืชผลทางการเกษตร กระทั่งได้ดอกออกผลงดงาม

เชื่อเหลือเกินว่าถ้าคนไทยช่วยกันจับปลาชนิดนี้ไปกิน ไปแปรรูป ไปเพิ่มมูลค่าจะทำให้สามารถควบคุมปริมาณของมันให้อยู่ในวงจำกัดได้ในเวลาไม่นาน

ต้องยอมรับว่าการกระจายตัวของปลาต่างถิ่น ส่วนหนึ่งเกิดจากความใจบุญของคนไทย ที่มักนิยมการปล่อยปลาในกิจกรรมทำบุญในหลายๆ เทศกาล ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และเลือกสัตว์น้ำไปปล่อยได้อย่างไม่เหมาะสม ดังที่กรมประมงเคยให้ข่าวขอร้องสายบุญไว้ว่า การทำบุญด้วยการปล่อยสัตว์น้ำนั้น หากสัตว์น้ำที่เลือกมาปล่อยเป็นสัตว์น้ำต่างถิ่น หรือเลือกชนิดสัตว์น้ำที่ไม่เหมาะสมต่อแหล่งน้ำ การทำบุญจะกลายเป็นการทำบาปแทนได้ เพราะสัตว์เหล่านี้จะทำลายระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะไล่กินสัตว์น้ำประจำถิ่น


พร้อมแนะนำให้ปล่อยเป็นสัตว์น้ำท้องถิ่นของไทย ซึ่งจะมีประโยชน์ต่อระบบนิเวศและไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ปลาตะเพียนขาว ปลาตะเพียนทอง ปลากระแห ปลาแก้มช้ำ ปลาสร้อยขาว ปลาโพง (ปลาสุลต่าน) ปลากาดำ ปลายี่สกไทย ปลาหมอไทย ปลาช่อน ปลาบู่ทราย ปลาสลาด ปลากราย ปลาสวาย ปลากดเหลือง ปลากดแก้ว เป็นต้น ซึ่งกลุ่มปลาดังกล่าวเป็นปลาที่สามารถอาศัยได้ในแหล่งน้ำธรรมชาติทั่วไป หากเป็นปลาที่มีถิ่นอาศัยเฉพาะ เช่น ปลาบึก ควรปล่อยลงในลำน้ำหรืออ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่เป็นลำน้ำสาขาของลุ่มน้ำโขง

ขณะเดียวกัน ก็ให้ความรู้ว่าสัตว์น้ำที่ไม่ควรปล่อยลงแหล่งน้ำโดยเด็ดขาดมีหลายชนิด ได้แก่ กลุ่มปลาดุก เนื่องจากปลาดุกที่หาซื้อได้ง่าย ส่วนใหญ่เป็นปลาดุกลูกผสม และปลาดุกยักษ์ (ปลาดุกรัสเซีย) ที่ถูกเพาะเลี้ยงและพัฒนาสายพันธุ์มาเพื่อเป็นอาหารมนุษย์ รวมถึงกลุ่มสัตว์น้ำสวยงามที่มาจากต่างประเทศ เช่น ปลาหางนกยูง ปลาสอด ปลาทอง ปลาคาร์ป ปลาซักเกอร์ กลุ่มปลาหมอสี เต่าญี่ปุ่นหรือเต่าแก้มแดง ตะพาบน้ำไต้หวัน และกุ้งเครย์ฟิช เป็นต้น

หากสัตว์น้ำต่างถิ่นหลุดรอดและเพิ่มจำนวนในแหล่งน้ำ จะส่งผลให้สมดุลของระบบนิเวศสัตว์น้ำพื้นเมืองลดจำนวนลง ซึ่งต้องใช้งบประมาณและระยะเวลาในการฟื้นฟูแก้ไขมาก ดังนั้น ต้องป้องกันไม่ให้มีการหลุดรอดลงสู่แหล่งน้ำเป็นดีที่สุด

อย่างน้อยวันนี้มีปลาเป้าหมายให้ช่วยกันกำจัดและนำขึ้นมาใช้ประโยชน์ อย่างซักเกอร์ และคางดำแล้ว พบเจอที่ไหนก็ช่วยกันจับ ช่วยกันกิน และงดนำไปเป็นเหยื่อตกปลาในแหล่งน้ำไหนๆ รวมถึงอย่าปล่อยเอาบุญ เท่านี้ก็เท่ากับช่วยกันรักษาสมดุลระบบนิเวศของเราทุกคนแล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น