ลำปาง - กกร.ลำปางรุมค้านขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ยื่นหนังสือผ่านผู้ว่าฯ จี้รัฐบาลทบทวน ระบุชัดออกนโยบายตามอำเภอใจ-ไม่สนความเดือดร้อนผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อย ที่ส่อเจ๊ง-ปิดกิจการกันระนาว
วันนี้ (17 ก.ค.) ตัวแทนคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร.จังหวัดลำปาง ประกอบด้วย ประธานหอการค้าจังหวัดลำปาง ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง สมาคมเครื่องปั้นดินเผาลำปาง ผู้ประกอบการด้านโรงแรมและการท่องเที่ยว เป็นตัวแทนของ 17 องค์กรภาคเอกชนในจังหวัดลำปาง เข้ายื่นหนังสือต่อนายชัชวาลย์ ฉายะบุตร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เพื่อส่งต่อให้กับรัฐบาล
เรียกร้องพิจารณาทบทวนการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ โดยพบว่าเป็นการปรับอัตราค่าแรงชั้นต่ำในระดับที่สูงเกินกว่าพื้นฐานสภาพความเป็นจริงทางเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่จังหวัดลำปาง และยังมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำติดต่อกัน 2 ครั้งภายในปีเดียว (พ.ศ. 2567) ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจ การลงทุนภายในจังหวัดลำปาง รวมถึงขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เช่น ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น ต้นทุนการขนส่ง ต้นทุนการบริการ และต้นทุนการจ้างงานระบบห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะภาคเกษตร ภาคการค้า ภาคการท่องเที่ยว และผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (MSME) ที่ยังคงมีความเปราะบางทางด้านเศรษฐกิจที่ผันผวนและมีความจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาการใช้แรงงานค่าจ้างขั้นต่ำเป็นส่วนใหญ่
ดังนั้น ค่าจ้างขั้นต่ำในระดับที่สูงเกินไปโดยไม่มีการรับฟังความเห็นรอบด้านจะส่งผลกระทบให้ภาคธุรกิจและผู้ประกอบการ จะต้องปิดกิจการ ลดขนาดกิจการ นำไปสู่การเลิกจ้างแรงงานเพื่อลดต้นทุนให้อยู่รอด และจะเกิดภาวะว่างงานในที่สุด
กกร.จังหวัดลำปางจึงขอเสนอความเห็นต่อนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ ดังต่อไปนี้
1. กกร.จังหวัดลำปาง เห็นด้วยกับการยกระดับรายได้ของแรงงานไทยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่อัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำปีควรปรับตามที่กฎหมายบัญญัติในมาตรา 87 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
2. กกร.จังหวัดลำปางไม่เห็นด้วยกับการปรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ แต่ควรใช้กลไกจากคณะอนุกรรมการค่าจ้างไตรภาคีจังหวัดพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายจังหวัด เสนอต่อคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) กลางเป็นผู้พิจารณาให้สอดคล้องกับปัจจัยทางเศรษฐกิจของแต่ละพื้นที่ อัตราเงินเฟ้อ อัตราการเจริญเติบโตของ GDP ความสามารถในการจ่ายของนายจ้าง และประสิทธิภาพของแรงงาน
3. การปรับอัตราจ้างควรพิจารณาจากทักษะฝีมือแรงงาน (Pay By Skills) ตามประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเพียงอัตราค่าจ้างของ แรงงาน แรกเข้าที่ยังไม่ฝีมือ ดังนั้นรัฐบาลควรเร่งส่งเสริมมาตรการทางภาษี ลดอุปสรรคต่อการ พัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการและแรงงานให้ความสำคัญต่อการ UP-Skill & Re- Skill และ New Skill เพื่อสร้างแรงงานที่มีทักษะฝีมือให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน และเพิ่มผลิตภาพแรงงาน (Labor Productivity)
4. การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเฉพาะพื้นที่จังหวัดและประเภทธุรกิจ ควรให้มีการรับฟังความคิดเห็น และศึกษาถึงความพร้อมของแต่ละพื้นที่จังหวัดและประเภทธุรกิจ รวมทั้งควรให้มีการหารือร่วมกับภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องและใช้กลไกจากคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ จังหวัดเป็นผู้พิจารณาตามความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่หรือประเภทธุรกิจเช่นกัน
5. นอกเหนือจากการยกระดับรายได้ของแรงงานแล้ว ภาครัฐควรเข้ามาดูแลค่าครองชีพในการดำรงชีพของแรงงาน เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ภาคแรงงานและประชาชน เช่น ราคาอาหารสำเร็จรูป และสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น รวมถึง ค่าเดินทาง ค่าไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งจะช่วยสร้างความสมดุลด้านรายได้และค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพให้กับแรงงานให้สอดคล้องตามภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน
ทั้งนี้ กกร.จังหวัดลำปางมีมติการประชุมพิจารณาไม่เห็นด้วยและขอคัดค้านการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ และขอหารือแนวทางการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้เหมาะสมกับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและมาตรการช่วยเหลือภาคแรงงานและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระพบ เพื่อจะเป็นประโยชน์ต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่อไป
นายบุญศักดิ์ ชัยสุทธิวงศ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง กล่าวว่าจังหวัดลำปางมีคณะกรรมการพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำกันทุกปี และแรงงานที่มีฝีมือได้รับค่าจ้างสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้ว จึงไม่มีปัญหา ส่วนแรงงานทั่วไปหากจะปรับค่าแรงให้สูงขึ้นแต่ความสามารถไม่มีผู้ประกอบการก็รับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไม่ได้ หากจะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 รัฐบาลควรจะไปช่วยลดต้นทุน ส่วนเรื่องแรงงานควรสนับสนุนเพิ่มทักษะให้กับแรงงานให้มีความสามารถเพิ่มขึ้นเพื่อรับค่าแรงเพิ่มขึ้นจะดีกว่า เพราะสุดท้ายแล้วลูกจ้างต้องอยู่ได้และนายจ้างต้องอยู่รอดด้วย
นายกิติพันธ์ นวลจันทร์ฉาย ประธานหอการค้าจังหวัดลำปาง กล่าวว่า หลังจากรัฐบาลมีนโยบายนี้ออกมาผู้ประกอบการก็หยุดชะงัก ยังไม่กล้าทำอะไรต่อ เพราะเห็นว่าเป็นแนวทางที่ไม่เป็นมาตรฐาน ออกมาตามใจ ตามอำเภอใจ โดยไม่คิดถึงความเดือดร้อนของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อยที่ได้กำไรน้อยนิดก็จะได้รับผลกระทบทั้งหมด จึงไม่เห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท