xs
xsm
sm
md
lg

หอการค้า-สภาอุตฯ สมุทรสงคราม คัดค้านขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สมุทรสงคราม - หอการค้าและสภาอุตสาหกรรมสมุทรสงคราม ยื่นหนังสือผ่านผู้ว่าฯ สมุทรสงคราม คัดค้านการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ หวั่นกระทบหลายด้านโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ

นายอุทัย ดำรงธรรม ประธานหอการค้า จ.สมุทรสงคราม นายวีระนิจ เหลืองรัตนเจริญ ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.สมุทรสงคราม คณะกรรมการ และสมาชิกหอการค้าและสภาอุตสาหกรรม ตลอดจนผู้ประกอบการภาคเอกชนในพื้นที่ จ.สมุทรสงครามได้รวมตัวยื่นหนังสือต่อนายศิริศักดิ์ ศิริมังคะลา ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงครามเพื่อคัดค้านการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ

จากกรณีล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 14 พ.ค.67 มีมติรับทราบรายงานความคืบหน้าการกำหนดอัตราค่าจ้าง 400 บาททั่วประเทศ โดยกระทรวงแรงงาน และคณะกรรมการค่าจ้างคาดว่าจะมีการประกาศอัตราค่าจ้างใหม่ในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้ในช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค.67 นับเป็นการเตรียมปรับค่าแรงขั้นต่ำครั้งที่ 3 ในปี 2567 หลังจากประกาศปรับครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 13 เม.ย.67 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ เนื่องจากอัตราค่าจ้างขั้นต่ำล่าสุดของแต่ละจังหวัดไม่เท่ากัน หากจะปรับขึ้นตามนโยบายรัฐบาล 400 บาททั่วประเทศจะมีการกำหนดที่ต่างกันไป โดยในส่วนของ จ.สมุทรสงครามหากนโยบายดังกล่าวมีผลบังคับใช้อาจต้องมีการปรับขึ้นวันละ 49 บาท จากเดิมวันละ 351 บาท
           
นายวีระนิจ เหลืองรัตนเจริญ ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.สมุทรสงคราม กล่าวว่า ภาคเอกชนใน จ.สมุทรสงคราม ยื่นหนังสือแสดงความคิดเห็นคัดค้านต่อการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศด้วยเหตุผลคือ ข้อแรกเนื่องจากเป็นการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำซ้ำซ้อน เพราะในปี 2567 มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำมาแล้ว 2 ครั้ง หากปรับขึ้นอีกอันใกล้นี้อาจมีผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ

รวมทั้งยังมีผลกระทบต่อปัจจัยทางเศรษฐกิจและภาระต้นทุน อีกทั้งการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศตนมองว่าไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและบริบทของแต่ละจังหวัด ซึ่งมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งในด้านค่าครองชีพ ระดับราคาสินค้าและบริการ ตลอดจนศักยภาพในการแข่งขันของผู้ประกอบการในแต่ละพื้นที่ การปรับขึ้นค่าจ้างที่ไม่สอดคล้องกับปัจจัยเหล่านี้เป็นการเพิ่มภาระต้นทุนแก่ผู้ประกอบการอย่างไม่เหมาะสม โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
           
นายวีระนิจ กล่าวว่า หากขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อการจ้างงานและการลงทุนเพราะเป็นการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอย่างก้าวกระโดด ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานในภาพรวม โดยอาจทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องลดจำนวนพนักงาน ลดกำลังการผลิตหรือชะลอการลงทุน เพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงินของธุรกิจ ซึ่งอาจส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวได้ รวมทั้งเกิดผลกระทบต่อค่าครองชีพเนื่องจากอาจส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย เช่น ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม และผู้ประกอบอาชีพอิสระขนาดเล็กที่ไม่ได้รับผลประโยชน์ที่เป็นสัดส่วนเมื่อเทียบกับค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น
           
ด้านนายอุทัย ดำรงธรรม ประธานหอการค้า จ.สมุทรสงคราม กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับการสนับสนุนยกระดับรายได้ของแรงงาน แต่มีข้อเสนอแนะว่าควรพิจารณาจากทักษะฝีมือแรงงาน (Pay By Skills) เพื่อสร้างแรงงานที่มีทักษะฝีมือให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานและเพิ่มผลิตภาพแรงงาน (Labor Productivity) นอกจากนี้ การปรับขึ้นค่าจ้างควรเป็นไปตามหลักการที่เป็นธรรมและยั่งยืน โดยคำนึงถึงความสามารถในการจ่ายของผู้ประกอบการควบคู่ไปกับการดูแลสวัสดิภาพของลูกจ้าง

ขณะเดียวกัน การกำหนดค่าแรงขั้นต่ำควรได้รับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยเปิดโอกาสให้ทั้งนายจ้าง ลูกจ้างและภาครัฐได้มีส่วนร่วมในการหารือแสดงความคิดเห็น เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่เป็นธรรมและยั่งยืนสำหรับทุกฝ่าย นอกจากนี้ ภาครัฐควรสร้างสมดุลด้านรายได้และค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพให้แรงงานเพื่อสอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ส่วนคณะอนุกรรมการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำ คณะกรรมการค่าจ้าง รวมถึงกรรมการจากฝ่ายราชการควรตระหนักถึงหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายกำหนดโดยปราศจากการแทรกแซงใดๆ เพื่อธำรงไว้ซึ่งความเป็นนิติรัฐของประเทศด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น