ฉะเชิงเทรา - แรงงานเก่าเมืองแปดริ้วสุดช้ำ รัฐบาลประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 1 ต.ค. ไม่ก่อประโยชน์ แถมซ้ำเติมวิกฤตค่าครองชีพพุ่ง
ภายหลังจากที่คณะกรรมการค่าจ้างได้สรุปผลการพิจาณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2565 เมื่อวันที่ 26 ส.ค.ที่ผ่านมาว่า ที่ประชุมได้มติแบ่งการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 9 อัตราคือ จ.ชลบุรี ระยอง ภูเก็ต ปรับขึ้นสูงสุด 354 บาท ส่วนค่าจ้างขั้นต่ำสุดอยู่ที่ จ.ยะลา ปัตตานี นราธิวาส น่าน และอุดรธานี อยู่ที่ 328 บาทต่อวัน ขณะที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล อยู่ที่ 353 บาทต่อวัน ซึ่งกระทรวงแรงงานจะนำผลสรุปเสนอต่อ ครม.พิจารณาเพื่อให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2565 นั้น
วันนี้ (29 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่สอบถามความเห็นจากกลุ่มพนักงานโรงงานใน จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งพนักงานส่วนใหญ่ต่างให้คำตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่ได้รับประโยชน์จากประกาศขึ้นค่าแรง แต่ความเดือดร้อนจากราคาสินค้าที่ทยอยปรับขึ้นราคากลับมีมากขึ้น
โดย น.ส.สายฝน (ขอสงวนนามสกุล) อายุ 43 ปี พนักงานโรงงานนิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ อ.บางปะกง บอกว่า การประกาศปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำไม่มีผลกับพวกตน เนื่องจากทำงานกันมานานหลายปีและบริษัทไม่ได้ใช้ฐานค่าจ้างแรงที่รัฐบาลกำหนดไว้ แต่ผลที่ได้จากการประกาศค่าจ้างใหม่กลับทำให้เกิดผลกระทบเรื่องค่าของชีพหลังราคาสินค้าและค่าบริการต่างๆ พากันขยับขึ้น
เช่นเดียวกับ น.ส.น้ำค้าง (ขอสงวนนามสกุล) อายุ 30 ปี เผยว่า การประกาศปรับค่าแรงงานขั้นต่ำตลอดช่วงที่ผ่านมา มีแรงงานที่ได้รับประโยชน์แค่เพียงเฉพาะกลุ่มหรือแค่บางอาชีพเท่านั้น แต่ในส่วนพนักงานโรงงานที่ไม่มีสหภาพแรงงาน ไม่เคยได้รับประโยชน์ใดๆ
“บริษัทที่ทำงานอยู่ รวมถึงอีกหลายโรงงานที่ไม่มีสหภาพแรงงาน ล้วนไม่ได้รับการปรับค่าจ้างอย่างทั่วถึง เพราะการปรับขึ้นค่าแรงงานจะขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้บริหารแต่ละโรงงานเท่านั้น โดยเฉพาะกลุ่มพนักกงานที่ทำงานมานานล้วนมีอัตราค่าจ้างเกินกว่าที่รัฐบาลประกาศ” น.ส.น้ำค้าง กล่าว
ส่วน น.ส.ราตรี (ขอสงวนนามสกุล) อายุ 29 ปี กล่าวในทำนองเดียวกันว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทำให้ผู้ใช้แรงงานเก่าได้รับผลกระทบจากปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้น จะมีแค่เฉพาะกลุ่มคนงานใหม่เท่านั้นที่จะได้รับประโยชน์ จึงรู้สึกว่าประกาศดังกล่าวไม่ได้สร้างความเป็นธรรมอย่างทั่วถึง แต่กลับทำให้ความเป็นอยู่ของแรงงานโดยรวมลำบากมากกว่าที่เป็นอยู่จากค่าใช้จ่ายที่ขยับสูงขึ้น
“อยากให้การปรับขึ้นค่าแรงงานนั้นสามารถทำได้พร้อมกันทั้งระบบ หรือเมื่อปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำแล้วคนที่เคยทำงานมาหลายปีต้องได้รับการปรับขึ้นค่าแรงงานตามไปด้วย โดยให้คิดเป็นอัตราส่วนเปอร์เซ็นต์หรือขั้นบันไดตามอายุงาน เนื่องจากคนงานที่ทำงานมานานล้วนมีประสบการณ์และมีความชำนาญ มากกว่าผู้ที่เพิ่งเข้ามาทำใหม่ จึงควรได้รับค่าแรงงานที่สูงกว่าเด็กใหม่หรือผู้ที่เพิ่งเรียนจบมา”
น.ส.ราตรี ยังได้ฝากรัฐบาลให้ช่วยดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายของประชาชนที่ขณะนี้สินค้าทุกชนิดล้วนปรับราคาขึ้นต่อเนื่อง เช่นเดียวกับค่าห้องพัก ค่าน้ำ และค่าครองชีพอื่นๆ ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากวิกฤตน้ำมันแพงและผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้โรงงานต่างๆ ปรับลดโอทีมานานหลายปี