xs
xsm
sm
md
lg

เลขาสภาอุตฯ อีสานแนะ “นายกฯ เศรษฐา” ควรเคารพมติไตรภาคีขึ้นค่าแรงเหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมภาคอีสานแนะ นายกฯ เศรษฐา ควรเคารพมติของไตรภาคีปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตามความเหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจ ขณะที่แรงงานฝีมือ นายจ้างพร้อมจ่ายค่าแรงตามความสามารถ

วันนี้ (11 ธ.ค.) นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) กระทรวงแรงงาน ได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2566 ปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ประจำปี 2566 โดยเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำทั้ง 77 จังหวัด ในอัตราเพิ่มขึ้น 2-16 บาท ซึ่งจังหวัดนครราชสีมามีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจาก 340 บาท เป็น 352 บาท โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้แก่ผู้ใช้แรงงาน


โดยเห็นด้วยที่คณะกรรมการไตรภาคีของแต่ละจังหวัดได้มีส่วนร่วมพิจารณาเสนอต่อที่ประชุมบอร์ดค่าจ้าง จนมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำดังกล่าว จึงอยากให้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และภาคส่วนต่างๆ ได้เคารพมติการพิจารณาของคณะกรรมการไตรภาคีด้วย อยากให้เป็นไปตามกลไกแบบนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย เพราะถ้าขยับขึ้นเร็วเกินไปท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ยังไม่ดีจะเกิดผลกระทบต่างๆ แต่ถ้าเศรษฐกิจดีขึ้น เห็นว่าน่าจะพิจารณาปรับค่าแรงขึ้นอีก ก็สามารถทำได้เมื่อสถานการณ์เหมาะสม

นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ในส่วนของจังหวัดนครราชสีมา พิจารณาปรับค่าจ้างขึ้นจาก 340 บาท เป็น 352 บาท เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจ เพราะปัจจุบันราคาสินค้าขยับราคาสูงขึ้นทั้งประเทศตามอัตราเงินเฟ้อที่รัฐบาลประกาศ คือ 3% กว่าๆ แต่ถ้าไม่มีการขยับค่าแรงขึ้นเลย จะทำให้ลูกจ้างได้รับความเดือดร้อน ซึ่งการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้ แม้ว่าแต่ละจังหวัดจะขยับขึ้นไม่เท่ากัน โดยบางจังหวัดขยับขึ้นเกิน 4% ในขณะที่บางจังหวัดก็ขยับน้อยกว่า 3% แต่ก็ถือว่าเป็นการพิจารณาตามกลไกที่กำหนดร่วมกันเอาไว้ แต่ทุกครั้งที่มีการปรับขึ้นค่าแรง ราคาสินค้ามักจะขยับขึ้นตาม ค่าแรงที่เพิ่มขึ้นจะสอดรับกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นหรือไม่ ต้องมาดูกันอีกที


ส่วนเรื่องการปรับค่าจ้างตามความสามารถของลูกจ้าง หรือที่เรียกว่า “Pay by skill” อยากให้รัฐบาลกลับมาพิจารณาในเรื่องนี้ด้วย เพื่อเป็นขวัญกำลังใจและเป็นแรงกระตุ้นให้ลูกจ้างขวนขวายแสวงหาความรู้และพัฒนาตนเองให้มีศักยภาพมากขึ้น ถ้าแรงงานมีฝีมือ มีความสามารถ เชื่อได้ว่านายจ้างสถานประกอบการก็พร้อมจ่ายค่าจ้างที่สูงขึ้นให้กับลูกจ้างตามศักยภาพความสามารถที่มีอยู่


แต่บุคลากรที่จบการศึกษาออกไปสู่ตลาดแรงงานทุกวันนี้ ยังไม่มีศักยภาพความรู้ความสามารถที่ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน ขาดทักษะความรอบรู้เท่าทันเทคโนโลยีสมัยใหม่ ก้าวไม่ทันโลก ทั้งๆ ที่เด็กในยุคนี้จะสนใจเรื่องดิจิทัลและนวัตกรรมสมัยใหม่ แต่สถาบันการศึกษายังไม่มีศักยภาพมากพอที่จะรองรับการเรียนการสอนในเรื่องเหล่านี้ เปิดสอนบ่มเพาะได้เพียงกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น ถึงเวลาที่รัฐบาลต้องเข้าไปปรับระบบการศึกษาของไทยให้ทันกับยุคดิจิทัล ทันเทรนด์ของโลก เพื่อพัฒนาคนให้มีความสามารถและมีศักยภาพตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว




กำลังโหลดความคิดเห็น