xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ประกอบการชลบุรีลั่นเห็นภาพธุรกิจทยอยปิดตัวแน่หากรัฐยังรั้นเดินหน้าปรับค่าแรงเท่ากัน 400 บาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายกิตติวุฒิ ศศิวิมลพันธุ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี (คนกลาง)
ศูนย์ข่าวศรีราชา - ผู้ประกอบการชลบุรีประสานเสียงค้านนโยบายขึ้นค่าแรงเท่ากันทั่วประเทศ 400 บาท ลั่นได้เห็นภาพนายจ้างทยอยปิดตัว ต่างชาติพับฐานผลิตกลับบ้านแน่นอน แนะทางสว่างดึงสวัสดิการรัฐลดค่าไฟฟ้า น้ำมัน ค่าประปาแก้ปัญหาค่าครองชีพประชาชน ดีกว่าบีบผู้ประกอบการขึ้นค่าแรงทั้งไม่พร้อม

จากกรณีที่รัฐบาลได้ประกาศนโยบายเพื่อเป็นของขวัญวันแรงงานให้กลุ่มผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ ด้วยการประกาศปรับขึ้นอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นตํ่าเป็น 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ สวนทางภาวะเศรษฐกิจที่กำลังตกต่ำอย่างหนัก และภายหลังการประกาศนโยบายดังกล่าวได้ทำให้ผู้ผลิตสินค้าพาเหรดปรับขึ้นราคาไปรอเป็นที่เรียบร้อยแล้วนั้น

วันนี้ (9 ก.ค.) นายกิตติวุฒิ ศศิวิมลพันธุ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี ได้ออกมาเปิดเผยถึงสาเหตุของการคัดค้านการประกาศปรับค่าแรงขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศ 400 บาทของรัฐบาลว่า การปรับขึ้นค่าแรงที่เป็นธรรมควรเป็นไปตามกลไกไตรภาคีของแต่ละจังหวัด ซึ่งเป็นแนวทางที่เกิดจากการพูดคุยกันระหว่างนายจ้าง ลูกจ้าง และหน่วยงานรัฐซึ่งเป็นคนกลาง โดยสภาอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี เห็นด้วยกับนโยบายการขึ้นค่าแรงตามทักษะฝีมือแรงงาน

แต่การประกาศปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแบบปูพรมเท่ากันหมดทุกจังหวัดถือเป็นเรื่องที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ ที่สำคัญภาคเอกชนเป็นผู้ขับเคลื่อนในการใช้แรงงานในภาคธุรกิจก็ควรมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายดังกล่าวด้วย

“ในความเป็นจริงแล้วการปรับขึ้นค่าแรงควรปรับขึ้นตามทักษะฝีมือแรงงาน โดยพนักงานที่อยู่ในโรงงานย่อมมีค่าแรงที่สูงกว่าผู้ที่อยู่ในภาคเกษตร หรือแรงงานในภาคที่ไม่ต้องใช้ฝีมือ ที่สำคัญ จ.ชลบุรี ธุรกิจมีความหลากหลากหลาย และไม่ใช่มีแค่ภาคอุตสาหกรรมเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีการค้า การท่องเที่ยว และการเกษตร อีกทั้งในภาคท่องเที่ยวของเมืองพัทยาให้ค่าแรง 400 บาทในโรงแรมระดับ 4 ดาวขึ้นไปอยู่แล้ว เราจึงไม่เห็นด้วยเรื่องการขึ้นค่าแรงเท่ากันทั้งประเทศเพราะบริบทแต่ละพื้นที่ย่อมไม่เท่ากัน” ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.ชลบุรี กล่าว

นายธเนศ ศุภรสหัสรังสี นายกสมาคมสมาพันธ์ท่องเที่ยวชลบุรี (ขวาสุด)
เช่นเดียวกับ นายธเนศ ศุภรสหัสรังสี นายกสมาคมสมาพันธ์ท่องเที่ยวชลบุรี บอกว่าการปรับค่าแรงทั้งประเทศเป็น 400 บาทย่อมกระทบกับผู้ประกอบการโรงแรมในเมืองพัทยาที่กว่าครึ่งหนึ่งเป็นโรงแรมระดับ 3 ดาวลงมา อีกทั้งหลังสถานการณ์ระบาดโควิด-19 ทำให้รูปแบบการเดินทางของนักท่องเที่ยวเปลี่ยนไปจากการเดินทางมาเป็นกรุ๊ปทัวร์ สู่การเดินทางส่วนตัวที่มีการจองห้องพักในระบบออนไลน์ ซึ่งลูกค้าจะเลือกพักในโรงแรมที่อยู่ในเมือง ขณะที่ทัวร์จีน ทัวร์เวียดนามที่อยู่ไกลยังไม่กลับมา

ดังนั้น หากกำหนดนโยบายเช่นนี้ย่อมกระทบต่อผู้ประกอบการโรงแรมขนาดเล็กอย่างแน่นอน ซึ่งโรงแรมขนาดใหญ่ไม่กระทบและสามารถจ่ายเงินเดือนจากระบบเซอร์วิสชาร์จให้พนักงานได้มาก 20,000-30,000 บาทต่อเดือนได้อยู่แล้ว แต่โรงแรมขนาดเล็กที่บางแห่งยังไม่สามารถกลับมาเปิดได้จากภาวะเศรษฐกิจที่เป็นอยู่

ด้าน นางสุนีย์ ภูติวณิชย์ นายกสมาคมผู้ประกอบการขนส่งแหลมฉบังชลบุรี เผยว่า แม้ภาคขนส่งจะไม่ได้รับผลกระทบจากนโยบายดังกล่าวของรัฐบาล จากการทำประกันรายได้ให้พนักงานไม่ต่ำกว่า 20,000 บาทต่อเดือน แต่มีความกังวัลเกี่ยวกับภาพรวมการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพราะในช่วงต้นปีที่ผ่านมารัฐบาลได้ประกาศขึ้นราคาน้ำมันซึ่งเป็นต้นทุนหลักไปแล้ว และเมื่อเจอเรื่องค่าแรงขึ้นอีกย่อมกระทบต่อค่าครองชีพของพนักงานที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการปรับขึ้นค่าแรง แต่กลับต้องมาแบกรับเรื่องราคาสินค้าที่ปรับตัวตาม

นางสุนีย์ ภูติวณิชย์ นายกสมาคมผู้ประกอบการขนส่งแหลมฉบังชลบุรี
เช่นเดียวกับ นายวิสุทธิ์ อิศราพันธ์พิสิษฐ์ นายกสหพันธ์สมาคมผู้ประกอบการไทย จ.ชลบุรี ที่เผยถึงสถานการณ์ของ SMEs ในพื้นที่ว่าค่อนข้างได้รับผลกระทบจากการประกาศขึ้นค่าแรงครั้งก่อนเป็นอย่างมาก และส่วนใหญ่แรงงานที่อยู่ในฝั่ง SMEs ล้วนเป็นแรงงานที่ไร้ฝีมือ และเมื่อได้คุยกับฝั่งโรงงานหลายแห่งที่มาจากญี่ปุ่นทราบว่าขณะนี้เริ่มทยอยย้ายฐานผลิตกลับประเทศแล้ว จากปัญหาค่าเงินเยนที่ตกต่ำ และค่าแรงงานไทยที่ปรับตัวสูงขึ้น

“และยิ่งรัฐบาลจะให้มีการปรับขึ้นค่าแรงอีกรอบยิ่งทำให้หลายโรงงานเริ่มมีแนวคิดที่จะย้ายไลน์การผลิตบางประเภทกลับประเทศญี่ปุ่นจากการใช้โรบอทเข้ามาทดแทนแรงงานอีกด้วย” นายกสหพันธ์สมาคมผู้ประกอบการไทย จ.ชลบุรี กล่าว

ด้าน นายกฤษณ์ จิระมงคล ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดชลบุรี สะท้อนถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจากต้นทุนของผู้ประกอบการร้านอาหาร และภาคธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวที่จะต้องจ่ายค่าจ้างแรงงานเพิ่มขึ้น ไม่ใช่แค่พัทยาหรือ จ.ชลบุรี เท่านั้นที่จะเห็นภาพของการทยอยปิดตัวของผู้ประกอบการ แต่จะเกิดขึ้นทั้งประเทศ และอาจจะได้เห็นภาพของคนตกงานมากขึ้นกว่าภาพของลูกจ้างที่ได้ค่าแรง 400 บาท

นายกฤษณ์ จิระมงคล ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดชลบุรี
ส่วนนายศักดิ์ดา หวานแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงาน สภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออก ได้เสนอแนะรัฐบาลให้ดำเนินการในสิ่งที่ควรทำมากกว่าการบีบให้ผู้ประกอบการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั้งที่ยังไม่พร้อมว่า รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการลดรายจ่ายให้ประชาชนเพื่อช่วยเหลือเรื่องค่าครองชีพที่สูงขึ้น มากกว่าการให้นโยบายที่จะเพิ่มรายจ่ายให้ผู้ประกอบการ เพราะหากรัฐสามารถนำสวัสดิการแห่งรัฐมาช่วยให้ประชาชนสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้ประมาณ 500-1,000 บาทต่อเดือนย่อมถือเป็นการให้ความช่วยเหลือที่เห็นผลมากกว่า

"โดยเฉพาะการใช้มาตรการลดดอกเบี้ยเงินกู้ผู้ซื้อบ้าน การลดราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่รัฐดูแล รวมถึงการลดค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าน้ำมันเพื่อช่วยเหลือประชาชน อย่างน้อยก็ช่วยชะลอค่าใช้จ่ายให้ลูกจ้าง นักเรียน นักศึกษา ที่ต้องซื้ออาหารรับประทานในราคาที่สูงขึ้นซึ่งคนเหล่านี้และลูกจ้างแรงงานนอกระบบอีกจำนวนมากคือกลุ่มคนที่จะได้รับผลกระทบจากการประกาศปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ เพราะนอกจากจะไม่ได้มีส่วนได้เสียกับค่าแรงเหล่านี้แล้ว ยังต้องแบกรับราคาสินค้าที่ปรับสูงขึ้น" นายศักดิ์ดา กล่าว 

ศักดิ์ดา หวานแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงาน สภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออก (ขวาสุด)

นายวิสุทธิ์ อิศราพันธ์พิสิษฐ์ นายกสหพันธ์สมาคมผู้ประกอบการไทย จ.ชลบุรี
กำลังโหลดความคิดเห็น