โฆษกรัฐบาล เผย รัฐบาลเตรียมขับเคลื่อนเป้าหมายและแนวทางการพัฒนาภาค พ.ศ. 2566-2570 สู่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ลดความเหลื่อมล้ำภายในภาคอย่างยั่งยืน
วันนี้ (5 พ.ย.) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่ากระทรวงกลาโหม เตรียมขับเคลื่อนเป้าหมายและแนวทางการพัฒนาภาค พ.ศ. 2566-2570 ทั้ง 6 ภาค โดยมีการกำหนดเป้าหมายรวมของการพัฒนาภาคสู่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและลดความเหลื่อมล้ำภายในภาคอย่างยั่งยืน และขับเคลื่อนให้มีการรวมการบริหารงานจังหวัด กลุ่มจังหวัด และภาคเข้าด้วยกัน เกิดการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการอย่างแท้จริง
สำหรับเป้าหมายและแนวทางการพัฒนาภาคฯ ทั้ง 6 ภาค มีดังนี้
1. ภาคเหนือ เป้าหมายการพัฒนา เป็น “ฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ” ตามแนวคิด เศรษฐกิจสร้างสรรค์ สานสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ สุขภาวะดี วิถีชีวิตยั่งยืน โดยมีแนวทางการพัฒนา ได้แก่ (1) สนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (NEC-Creative LANNA) ในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง ให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจหลักของภาคและฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ (2) ยกระดับการท่องเที่ยวและบริการที่มีศักยภาพให้มีคุณภาพ สนับสนุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และกระจายประโยชน์สู่ชุมชน (3) พัฒนาการผลิตตามระบบเกษตรกรรมยั่งยืนเชื่อมโยงสู่อุตสาหกรรมแปรรูปมูลค่าสูง (4) เสริมศักยภาพของเมือง พื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน และระบบโครงสร้างพื้นฐานโลจิสติกส์สำคัญของภาคเพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ และเอื้อต่อการอยู่อาศัย (5) พัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิต เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน พัฒนาผู้สูงอายุสู่การเป็นผู้สูงอายุที่มีศักยภาพ (Active Aging) และทักษะฝีมือแรงงาน เพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และ (6) บริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้เกิดความยั่งยืน
2. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป้าหมายการพัฒนา เป็น “ศูนย์กลางเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง” ตามแนวคิดการเป็นฐานการผลิตของประเทศ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นประตูเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อสร้างโอกาสในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน โดยมีแนวทางการพัฒนา ได้แก่ (1) พัฒนาภาคเกษตรโดยเทคโนโลยีสมัยใหม่มุ่งสู่ฐานเศรษฐกิจชีวภาพที่มีมูลค่าสูงเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร (2) บริหารจัดการน้ำให้เพียงพอเพื่อรองรับการเติบโตของเมืองและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ (3) พัฒนาผลิตภัณฑ์พื้นถิ่นไปสู่มาตรฐานสากลเพื่อสร้างเศรษฐกิจในชุมชน (4) พัฒนาเมือง เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนและเมืองชายแดน รวมทั้งพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (NeEC-Bioeconomy) ให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจหลักของภาค (5) พัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวหลักและแหล่งท่องเที่ยวชุมชนให้ได้มาตรฐาน เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชน และ (6) ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนทุกช่วงวัยให้ได้มาตรฐานและแก้ปัญหาความยากจนให้กับผู้มีรายได้น้อยเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม
3. ภาคกลาง เป้าหมายการพัฒนา เป็น “ฐานการผลิตสินค้าและบริการมูลค่าสูง” โดยมีแนวทางการพัฒนา ได้แก่ (1) ยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูปที่มีมูลค่าเพิ่มสูงได้มาตรฐานระดับสากล (2) ส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวสำคัญและแหล่งท่องเที่ยวชุมชนให้เป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวคุณภาพ (3) พัฒนาระบบบริการส่งเสริมสุขภาพและการให้บริการทางการแพทย์ที่มีศักยภาพในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ได้มาตรฐานในระดับสากล (4) พัฒนาเมือง เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนและเมืองชายแดน รวมทั้งพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลาง-ตะวันตก ให้เป็นศูนย์กลางการกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจของภาคกลาง (5) พัฒนาและยกระดับความสามารถในการแข่งขันของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคตของภาคกลาง และ (6) ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม
4. ภาคตะวันออก เป้าหมาย เป็น “ฐานเศรษฐกิจสีเขียวชั้นนำของอาเซียนควบคู่กับคุณภาพการดำรงชีวิตของประชาชนที่ดี” โดยมีแนวทางการพัฒนา ได้แก่ (1) พัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายให้เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียวของภาคตะวันออก (2) พัฒนาการเกษตรคุณภาพให้เชื่อมโยงสู่การผลิตและแปรรูปสินค้าเกษตรปลอดภัย สู่ห่วงโซ่การผลิตในระดับประเทศ และการให้บริการส่งเสริมสุขภาพ (3) ยกระดับการท่องเที่ยวของภาคตะวันออกสู่การเป็นจุดหมายการท่องเที่ยวของโลก ที่เน้นคุณภาพและความยั่งยืน (4) พัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดสระแก้วและตราด รวมทั้งพื้นที่เศรษฐกิจชายแดนที่มีศักยภาพให้เป็นประตูเชื่อมโยงการค้า การลงทุนที่ทันสมัยกับประเทศเพื่อนบ้าน (5) พัฒนาพื้นที่และเมืองให้เป็นเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ เพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนทุกกลุ่มในพื้นที่ และ (6) อนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพการรับมือภัยพิบัติทางธรรมชาติและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
5. ภาคใต้ เป้าหมายการพัฒนา เป็น “แหล่งท่องเที่ยวและบริการที่มีคุณภาพ แหล่งผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยและมูลค่าสูง เชื่อมโยงเศรษฐกิจระหว่างภูมิภาค” โดยมีแนวทางการพัฒนา ได้แก่ (1) พัฒนาและยกระดับการท่องเที่ยวและบริการ รวมทั้งธุรกิจต่อเนื่องด้านการท่องเที่ยวให้มีมาตรฐานและมูลค่าสูง (2) พัฒนาและยกระดับอุตสาหกรรมการแปรรูปสินค้าเกษตรหลักด้วยนวัตกรรมเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง (3) ส่งเสริมการผลิตและการแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตรและปศุสัตว์หลักของภาค (4) อนุรักษ์ ฟื้นฟู และบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบเพื่อเป็นฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน (5) พัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนและด่านพรมแดน รวมทั้งพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ให้เป็นประตูการค้าการลงทุนและพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ของภาค และ (6) เสริมสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี
6. ภาคใต้ชายแดน เป้าหมายการพัฒนา เป็น “ฐานเศรษฐกิจชายแดนที่มั่นคงบนสังคมพหุวัฒนธรรม” (1) พัฒนาคุณภาพการผลิตและการแปรรูป เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรหลักของภาค (2) พัฒนาเมืองชายแดนให้เป็นเมืองเศรษฐกิจ การค้า การท่องเที่ยว สามารถเชื่อมโยงกับพื้นที่เศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้านและอาเซียนตอนใต้ และพัฒนาเมืองยะลาเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของภาคใต้ชายแดน (3) ยกระดับรายได้ การศึกษา สมรรถนะแรงงาน และสาธารณสุข เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีและสันติสุข และ (4) อนุรักษ์ ฟื้นฟู และบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นฐานการผลิตของภาค
“ทั้งนี้ เป้าหมายและแนวทางการพัฒนาภาค พ.ศ. 2566-2570 ของภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ และภาคใต้ชายแดน สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะฝ่ายเลขานุการฯ คณะกรรมการนโยบายการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ (ก.น.บ.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน จะได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติ ก่อนแจ้งเวียนจังหวัด กลุ่มจังหวัด ส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ใช้เป็นกรอบในการจัดทำแผนและโครงการ พ.ศ. 2566 -2570 ต่อไป ซึ่งนายกรัฐมนตรี เน้นย้ำถึงการจัดทำแผนงานและโครงการต่างๆ ต้องตรงกับความต้องการของพื้นที่และประชาชน รวมถึงสอดคล้องกับศักยภาพของแต่ละพื้นที่ โปรงใส เป็นธรรม ตรวจสอบได้ คำนึงถึงความคุ้มค่า เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนในพื้นที่และประเทศโดยรวม และการใช้จ่ายงบประมาณเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ” นายอนุชา กล่าว.