xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ ประชุม กพศ.เดินหน้านโยบายกระจายการพัฒนาสู่ภูมิภาค เชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษกับจังหวัดใกล้เคียงเพิ่มโอกาสเติบโตจากฐานราก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายกฯ ประชุม กพศ. เดินหน้านโยบายกระจายการพัฒนาสู่ภูมิภาค เชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษกับจังหวัดใกล้เคียงเพิ่มโอกาสเติบโตจากฐานราก พร้อมมีมติ 3 เรื่องสำคัญเพิ่มแรงดึงดูดการลงทุนใช้ศักยภาพของพื้นที่อย่างเต็มที่

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ (21 ต.ค.) เวลา 09.30 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กพศ.) ครั้งที่ 2/2565 โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวระหว่างการประชุมว่า การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 10 แห่ง เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลในการพัฒนาการลงทุนเพื่อให้เกิดการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค สร้างโอกาสให้กับเศรษฐกิจฐานรากให้ได้รับประโยชน์จาการพัฒนาอย่างทั่วถึง ด้วยการพัฒนาทั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษและระบียงเศรษฐกิจทั้ง 4 แห่ง มีการเชื่อมโยงกับจังหวัดใกล้เคียง จังหวัดที่ไม่ได้ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษขออย่าได้กังวลว่าจะได้ไม่รับประโยชน์จากการพัฒนาที่เกิดขึ้น เพราะรัฐบาลและ ก.พ.ศ.ให้ความสำคัญในการพัฒนาให้เกิดความเชื่อมโยง และสร้างประโยชน์ให้เกิดกับพื้นที่และจังหวัดโดยรอบการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานและระบบคมนาคมขนส่งโลจิสติกส์

“ขอให้ทุกภาคส่วนประสานงานกันในการขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เกิดความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องต่อไป มีการกำหนดกิจการเป้าหมาย สิทธิประโยชน์สำหรับระเบียงเศรษฐกิจพิเศษและเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ที่ดึงดูดนักลงทุนและภาคเอกชนให้มาลงทุนในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น อันจะทำให้เกิดการขยายตัวในกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่ เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่” นายกรัฐมนตรี กล่าว

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม กพศ. ได้พิจารณาเรื่องสำคัญโดยเฉพาะการกำหนดกิจการเป้าหมายสำหรับส่งเสริมการลงทุนเป็นการเฉพาะในเขตเศรษฐกิจพิเศษ และส่งเสริมการพัฒนาสภาพแวดล้อม (Ecosystem) ให้พร้อมเพื่อดึงดูดการลงทุนของภาคเอกชน โดยมีมติ ใน 3 เรื่อง ดังนี้

1. การกำหนดกิจการเป้าหมายและสิทธิประโยชน์ สำหรับพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ ทั้ง 4 ภาค

เห็นชอบคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมายสำหรับพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจทั้ง 4 ภาค เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนเป็นการเฉพาะและเหมาะสมตามศักยภาพของแต่ละพื้นที่ และมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เสนอคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเพื่อพิจารณากำหนดมาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษตามแนวทางที่ กพศ. ให้ความเห็นชอบต่อไป โดยมีพื้นที่และคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมาย ดังนี้

(1) ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (Northern Economic Corridor : NEC - Creative LANNA) ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง ส่งเสริมคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ 1) อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ 2) อุตสาหกรรมดิจิทัล 3) อุตสาหกรรมท่องเที่ยว และท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) และ 4) อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร

(2) ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (Northeastern Economic Corridor : NeEC - Bioeconomy) ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย ส่งเสริมคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ 1) อุตสาหกรรมชีวภาพ และ 2) อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร

(3) ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลาง - ตะวันตก (Central - Western Economic Corridor : CWEC) ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นครปฐม สุพรรณบุรี และกาญจนบุรี ส่งเสริมคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ 1) อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร และ 2) อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

(4) ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (Southern Economic Corridor : SEC) ในพื้นที่จังหวัดชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช ส่งเสริมคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ 1) อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร 2) อุตสาหกรรมชีวภาพ และ 3) อุตสาหกรรมท่องเที่ยว และท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism)

นอกจากนี้ ที่ประชุม กพศ. ได้เห็นชอบข้อเสนอมาตรการ/ปัจจัยสนับสนุนที่จะให้แก่ผู้ประกอบกิจการในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อส่งเสริมสภาพแวดล้อม (Ecosystem) ให้เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจและขยายการลงทุน โดยมีมาตรการที่สำคัญ ได้แก่ (1) การให้สิทธิประโยชน์ (ทางภาษีและมิใช่ภาษี) (2) การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (3) การพัฒนากำลังคน ผู้เชี่ยวชาญ และผู้ประกอบการ (4) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำคัญและสิ่งอำนวยความสะดวก (5) การสนับสนุนเงินทุน และ (6) การแก้ไขกฎระเบียบเพื่อส่งเสริมการประกอบกิจการ รวมทั้งกำหนดมาตรการสนับสนุนเพิ่มเติมรายคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมาย และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการต่อไป

2. การทบกวนกิจการเป้าหมายและสิทธิประโยชน์ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 10 แห่ง

โดยเห็นชอบการทบทวนกิจการเป้าหมายและสิทธิประโยชน์ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 10 แห่ง (ตาก สงขลา สระแก้ว ตราด เชียงราย หนองคาย นครพนม มุกดาหาร กาญจนบุรี และนราธิวาส) เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์และแนวโน้มด้านเศรษฐกิจและสังคมของพื้นที่ที่เปลี่ยนแปลงไป และเพื่อเพิ่มโอกาสการลงทุนของภาคเอกชน โดยเฉพาะ SMEs สรุปดังนี้

(1) เพิ่มเติมประเภทกิจการส่งเสริมการลงทุนอีก 17 ประเภทกิจการ (จาก 72 ประเภทกิจการ เป็น 89 ประเภทกิจการ) โดยตัวอย่างประเภทกิจการที่เสนอเพิ่มเติม เช่น กิจการผลิตผลิตภัณฑ์จากยางธรรมชาติ กิจการบริการสาธารณสุขด้านแพทย์แผนไทย กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้า หรือพลังงานไฟฟ้าและไอน้ำจากพลังงานหมุนเวียน เป็นต้น (2) ปรับมาตรการสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุน (โดยจะเริ่มปี 2566) ให้สิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนใน 13 กลุ่มกิจการ 89 ประเภทกิจการ ทั้ง 10 เขตพัฒนาเศรษฐกิจชายแดน โดยไม่กำหนดระยะเวลาสิ้นสุด

โดยที่ประชุม กพศ. ได้มอบหมายให้ BOI เสนอคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเพื่อพิจารณากำหนดมาตรการส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนตามแนวทางที่ กพศ. ให้ความเห็นชอบ และมอบหมายอนุกรรมการภายใต้ กพศ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแนวทางการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนการพัฒนาสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุน/การประกอบธุรกิจ (Business Ecosystems) อาทิ การเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการศูนย์ OSS การลดขั้นตอนอนุมัติอนุญาตในการจัดตั้งและประกอบธุรกิจ

3. การพิจารณาผลการคัดเลือกผู้ลงทุนในพื้นที่ราชพัสดุในเขตพัฒนาเศรษฐกิจตาก

โดย กพศ. เห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนให้เป็นผู้ได้รับสิทธิพัฒนาในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก ตามข้อเสนอของคณะทำงานสรรหา คัดเลือก เจรจา และกำกับติดตามการดำเนินการของผู้ลงทุนในที่ดินราชพัสดุ ที่กำหนดเป็นพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โดยมีรูปแบบโครงการลงทุนเป็นการจัดสรรพื้นที่ให้เช่าโดยเป็นผู้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน มูลค่ารวมประมาณ 830 ล้านบาท เนื้อที่ประมาณ 1,076 ไร่ ประกอบด้วย พื้นที่อุตสาหกรรม (Factory Zone) ร้อยละ 53 (564 ไร่) พื้นที่สำนักงาน/ศูนย์จำหน่ายสินค้า/ศูนย์ประชุม (Amenity Core) ร้อยละ 5 (57 ไร่) และพื้นที่สีเขียว (Green Space) ร้อยละ 15 (159 ไร่) และให้กรมธนารักษ์พิจารณาดำเนินการตามระเบียบขั้นตอนทางราชการต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น