xs
xsm
sm
md
lg

กกร.ปรับเป้าส่งออกขึ้นเล็กน้อย 0.8-1.5% โวยรัฐอย่ากดดันบีบขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท-หวั่นอุตฯ ยานยนต์-อสังหาฯ ฉุด GDP ทรุดลง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กกร.ปรับเป้าส่งออกปีนี้เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 0.5-1.5% เป็น 0.8-1.5% มาจากปัจจัยบวกชั่วคราวจากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนที่สหรัฐฯ จะเรียกเก็บภาษีสินค้าจีนรอบใหม่ ทำให้มีการเร่งสั่งสินค้าและปรับเปลี่ยนมาส่งออกจากไทยเพิ่มขึ้น พร้อมหวั่น GDP ปีนี้ทรุดกว่าที่คาดไว้ 0.3-0.4% หากอุตสาหกรรมยานยนต์และอสังหาฯ หดตัวมากขึ้น ติงรัฐอย่ากดดันบีบขึ้นค่าแรง 400 บาทต่อวันทั่วประเทศ ชี้เป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจ ส่งผลทำให้ SME ปิดตัว จากครึ่งปีแรกอุตฯ ปิดตัวไปแล้วเกือบพันแห่ง

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ในวันนี้ (3 กรกฎาคม 2567) เปิดเผยว่า กกร.ปรับกรอบการส่งออกของไทยเติบโตขึ้นจากเดิม 0.5-1.5% เป็น 0.8-1.5% แต่คงประมาณการ GDP ไว้เท่าเดิมที่ 2.2-2.7% เนื่องจากสงครามการค้าของสหรัฐฯ-จีน โดยสหรัฐฯ จะขึ้นภาษีสินค้าจีนรอบใหม่เป็นปัจจัยบวกชั่วคราวจากการเร่งสั่งซื้อสินค้าและการปรับเปลี่ยนมาส่งออกจากไทยแทน (Relocated) ทำให้มูลค่าการส่งออกทั้งปีปรับดีขึ้นเล็กน้อย แต่ทั้งนี้มีประเด็นฉุดรั้งการส่งออกทั้งเรื่องต้นทุนจากการขาดแคลนเรือและตู้คอนเทนเนอร์ รวมถึงระยะเวลาการขนส่งที่เพิ่มขึ้น


อย่างไรก็ดี แนวโน้มการค้าโลกยังคงชะลอตัวต่อเนื่องจากไตรมาส 2 ที่ผ่านมา เป็นผลจากความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลางที่รุนแรงมากขึ้น นอกจากนี้ ผู้ประกอบการบางส่วนเร่งสั่งซื้อสินค้าก่อนมาตรการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ต่อจีนมีผลภายในปี 2567 ส่งผลให้ค่าระวางเรือล่าสุดปรับตัวขึ้น 95% เมื่อเทียบจากเดือน เม.ย. 2567 ขณะที่ใช้ระยะเวลาในการขนส่งนานขึ้นตามภาวะขนส่งคับคั่งและขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ สิ่งเหล่านี้ถือเป็นปัจจัยลบเพิ่มเติมต่อภาคการผลิตและการส่งออกของโลกในระยะข้างหน้า

ขณะที่ภาคการส่งออกไทยคงเผชิญความเสี่ยงจากสงครามการค้าของสหรัฐฯ-จีน การขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ต่อสินค้าจีนรอบใหม่อาจกระทบสินค้าส่งออกไทยที่เป็นห่วงโซ่อุปทานให้แก่จีน ซึ่งประเมินว่าสินค้าเหล่านี้คิดเป็นสัดส่วน 19.5% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดไปจีน โดยสินค้าที่มีความเสี่ยงได้รับผลกระทบมาก เช่น ยางแผ่น ยางแท่ง เม็ดพลาสติกและเคมีภัณฑ์ เป็นต้น

นายผยงกล่าวต่อว่า การชะลอตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์และอสังหาฯ กระทบภาพรวมเศรษฐกิจไทย อุปสงค์ในประเทศยังเปราะบางโดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจสูง อย่างยานยนต์และอสังหาฯ โดยยอดจำหน่ายรถยนต์ในช่วง 5 เดือนแรกหดตัว 24% ส่วนหนึ่งมาจากผู้บริโภคมีรายได้จากเศรษฐกิจนอกระบบเป็นสัดส่วนสูง ส่วนยอดโอนอสังหาฯ 4 เดือนแรกสำหรับบ้านจัดสรรหดตัว 11.8% และอาคารชุดหดตัว 7.4% ซึ่งหากอุตสาหกรรมยานยนต์และอสังหาฯ มีแนวโน้มหดตัวมากขึ้นอาจจะกระทบทำให้ GDP ปีนี้ลดลงกว่าที่คาดไว้ 0.3-0.4%


ทั้งนี้ ที่ประชุมมีความกังวลต่อปัญหาการขนส่งทางเรือและการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งจะเป็นปัจจัยลบเพิ่มเติมและซ้ำเติมความสามารถในการส่งออกของไทยที่อยู่ในภาวะเติบโตต่ำ จึงขอให้ภาครัฐมีมาตรการหรือแนวทางเร่งด่วนเพื่อรับมือกับสถานการณ์การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่มีแนวโน้มลากยาวตลอดช่วงที่เหลือของปี รวมถึงลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับภาคการผลิตจากการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทาน

รวมทั้งความกังวลถึงต้นทุนด้านพลังงาน ในการพิจารณาปรับแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ. 2567-2580 (PDP 2024) และแผนปฏิบัติการด้านพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2567-2580 (AEDP 2024) ที่อยู่ระหว่างการทบทวน จึงขอให้ภาครัฐคำนึงถึงประเด็นเรื่องต้นทุนของผู้ประกอบการในระยะยาว และการปรับให้น้ำมัน E20 เป็นน้ำมันพื้นฐานแทน E10 และขอให้มีกลไกจัดการเพื่อให้ผลประโยชน์อยู่กับเกษตรกรไทยอย่างแท้จริง


นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากการที่ กกร.จังหวัดทั่วประเทศได้มีการประชุมหารือผู้แทนในคณะอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำรายจังหวัด (ไตรภาคีระดับจังหวัด) เกี่ยวกับนโยบายการปรับค่าแรงขั้นต่ำ และได้แสดงความกังวลต่อผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท/วันทั่วประเทศ จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ SME ในภาคเกษตรและบริการไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้ เนื่องจากไม่สามารถแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้ กอปรกับภาวะเศรษฐกิจในพื้นที่ที่ชะลอตัวต่อเนื่องทำให้ส่งผลกระทบต่อรายได้ในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้ ที่ประชุม กกร.เห็นว่าการปรับขึ้นค่าแรงต้องใช้กลไกของคณะอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำรายจังหวัด (ไตรภาคี) ในการพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำ โดยพิจารณาให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในพื้นที่ และให้ความสำคัญต่อการจ่ายค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ (Competency Based Pay) ด้วยความร่วมมือเชิงรุกจากภาคนายจ้าง ลูกจ้าง และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการเร่ง Upskill, Reskill ให้แรงงานไทยมีทักษะฝีมือตามมาตรฐาน

กกร.จะร่วมมือกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน เพื่อดำเนินการสนับสนุน โดยปัจจุบันกระทรวงแรงงานได้มีการกำหนดมาตรฐานทักษะฝีมือแรงงานแล้ว จำนวน 279 สาขา และมีการกำหนดอัตราค่าจ้างตามทักษะมาตรฐานฝีมือแรงงานแล้ว จำนวน 129 สาขา ซึ่งสามารถเป็นกลไกในการพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงตามทักษะแทนการพิจารณาปรับค่าจ้างขั้นต่ำ รวมถึงจะเป็นระบบที่สามารถรับรองทักษะแรงงาน ยกระดับรายได้ให้แก่แรงงาน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ประเทศ


นายทวี ปิยะพัฒนา รองประธานอาวุโส สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ขณะนี้เศรษฐกิจประเทศไทยแย่มาก และปีนี้ไทยขึ้นค่าแรงถึง 3 ครั้งไม่มีเหตุผล อยากฝากถึงภาครัฐอย่ากดดันให้มีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวันทั่วประเทศ เพราะหากกดดันแบบนี้อุตสาหกรรม SME ไปก่อนแน่นอน แค่ 5 เดือนแรกปีนี้อุตสาหกรรมปิดตัวไปแล้วเกือบพันแห่ง ดังนั้น ประเด็นค่าแรงขั้นต่ำควรปล่อยให้เป็นไปตามคณะกรรมการไตรภาคี


กำลังโหลดความคิดเห็น