xs
xsm
sm
md
lg

ดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ พ.ค.ร่วงต่อเนื่อง ส่งผล 5 เดือนแรกปีนี้ปิด รง.แล้ว 561 โรง แรงงานตกงานกว่า 1.5 หมื่นคน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ส.อ.ท.แจงดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรม พ.ค. 67 ร่วงต่อเนื่อง เหตุกำลังซื้อเปราะบาง หนี้ครัวเรือนพุ่ง การเมืองไม่นิ่ง พร้อมแนะรัฐส่งเสริม SME และสนับสนุนซอฟต์เพาเวอร์ไทย เผย 5 เดือนแรกปิดโรงงาน 561 โรง คนตกงานกว่า 1.5 หมื่นคน จี้รัฐเร่งหามาตรการปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ หลังจีนถล่มส่งสินค้าราคาถูกยึดตลาดไทย

นายนาวา จันทนสุรคน รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนพฤษภาคม 2567 อยู่ที่ระดับ 88.5 ปรับตัวลดลงจาก 90.3 ในเดือนเมษายน 2567 ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงทุกองค์ประกอบ ทั้งยอดขายโดยรวม ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ ซึ่งความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลดลงเป็นผลมาจากกำลังซื้อในประเทศที่ยังเปราะบาง เนื่องจากเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนรวมถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูงและสัดส่วนหนี้เสีย (NPLs) ที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้การบริโภคสินค้าชะลอลง


ขณะที่ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูงขึ้นกระทบต่อต้นทุนการผลิต รวมถึงอัตราค่าระวางเรือที่เพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากปัญหาการขาดแคลนเรือขนส่งสินค้าและตู้คอนเทนเนอร์ที่หมุนเวียนไม่ทันทำให้ใช้ระยะเวลาขนส่งที่นานขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ ปัญหา (Geopolitics) ตลอดจนผู้ประกอบการยังได้รับผลกระทบจากสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศที่เข้ามาแข่งขันในไทยและอาเซียนมากขึ้น ทำให้สินค้าไทยแข่งขันได้ยาก สภาพอากาศที่แปรปรวนได้ส่งผลกระทบต่อสินค้าเกษตร

อย่างไรก็ตาม ในเดือนพฤษภาคมยังมีปัจจัยสนับสนุนจากความต้องการสินค้าในช่วงเปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2567 เช่น เครื่องนุ่งห่ม รองเท้า หนังและผลิตภัณฑ์หนัง รวมทั้งการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ ขณะเดียวกัน วิกฤตความมั่นคงทางด้านอาหารในหลายประเทศส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าอาหารของไทย นอกจากนี้ ผู้ประกอบการส่งออกยังได้รับอานิสงส์จากเงินบาทอ่อนค่า ซึ่งเคลื่อนไหวอยู่ที่ 36-37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ


ม.ล.ปีกทอง ทองใหญ่ รองประธาน ส.อ.ท. และประธานสายงานเศรษฐกิจและวิชาการ กล่าวว่า จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,329 ราย ครอบคลุม 46 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในเดือนพฤษภาคม 2567 พบว่าปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับราคาน้ำมันและการเมือง ส่วนปัจจัยที่มีความกังวลลดลง ได้แก่ เศรษฐกิจโลก อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และอัตราแลกเปลี่ยน

ขณะที่ดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 95.7 ปรับตัวลดลงจาก 98.3 ในเดือนเมษายน 2567 โดยมีปัจจัยเสี่ยงจากปัญหา Geopolitics ในตะวันออกกลาง ส่งผลให้เกิดความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก และเกิดความล่าช้าในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ตลอดจนสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนรอบใหม่ที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ขณะที่ผู้ประกอบการ SMEs มีความกังวลต่อนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยบวกจากการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐปี 2567 ภายหลังจาก พ.ร.บ.ประกาศใช้ ซึ่งคาดว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี รวมถึงมาตรการยกเว้นวีซ่าให้นักท่องเที่ยวในหลายประเทศ และมาตรการภาษีกระตุ้นการท่องเที่ยวเมืองรอง ตลอดจนการสนับสนุนให้อบรมสัมมนาจังหวัดเมืองรองเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงโลว์ซีซัน


สำหรับข้อเสนอแนะต่อภาครัฐมี 4 ข้อ คือให้ภาครัฐออกมาตรการบรรเทาผลกระทบจากราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาน้ำมันและก๊าซฯ 2. เสนอให้ภาครัฐเร่งแก้ไขปัญหาการขาดแคลนเรือขนส่งสินค้าและตู้คอนเทนเนอร์ที่หมุนเวียนไม่ทัน ซึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลาง 3. ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อช่วยพัฒนาและต่อยอดธุรกิจ รวมถึงปรับปรุงเงื่อนไขและกฎระเบียบต่างๆ เพื่อให้เข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น และ 4. เสนอให้ภาครัฐออกมาตรการส่งเสริมการซื้อสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับซอฟต์เพาเวอร์ของไทย โดยเฉพาะอาหารไทย เครื่องนุ่งห่มและสินค้ากีฬา เป็นต้น

นายนาวากล่าวว่า ทาง ส.อ.ท.ยังได้เช็กข้อมูลกับกรมโรงงานพบว่า ในปี 2566 ไทยมีโรงงานปิดกิจการรวม 1,337 โรงงาน หรือเฉลี่ยปิดโรงงานเดือนละ 111 โรงงาน สูงขึ้นกว่าปี 2565 ราว 60% ขณะที่ 5 เดือนแรกปีนี้พบว่ามีการปิดโรงงานไปแล้ว 561 โรงงาน หรือเฉลี่ย 113 โรงงานต่อเดือน ซึ่งถือว่าแย่ลงกว่าปีที่แล้ว โดยมีแรงงานตกงานจากการปิดโรงงานดังกล่าวแล้ว 15,342 คน โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการปิดตัวมากที่สุดได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก กลุ่มอุตสาหกรรมโลหะ และกลุ่มอุตสาหกรรมไม้และการแปรรูปไม้

อย่างไรก็ดี แม้การเปิดกิจการใหม่จะมีมากกว่าโรงงานที่ปิดกิจการ แต่ตัวเลขห่างกันเพียงหลักสิบแห่งเท่านั้นจากเดิมที่ตัวเลขห่างกันหลักร้อยถึงสองร้อยแห่ง ซึ่งแนวโน้มมีโรงงานที่ปิดตัวมากขึ้นเนื่องจากศักยภาพการผลิตของภาคอุตสาหกรรมไทยถดถอยลง

ส.อ.ท.มีความกังวล และเสนอให้ภาครัฐออกมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด มาตรการทางภาษี และมาตรการตอบโต้การเลี่ยงภาษีมาใช้กับสินค้านำเข้าราคาถูกจากจีนที่เข้ามาทุ่มตลาดเหมือนกับสหรัฐฯ และยุโรปที่ใช้มาตรการกีดกันและควบคุมการนำเข้าสินค้านำเข้าเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศ 


กำลังโหลดความคิดเห็น