ส.อ.ท.เผยดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตฯ ก.พ.ปรับลดลงเล็กน้อยจากหนี้ครัวเรือนยังคงสูง ปชช.ลดใช้จ่าย ส่งออกยังอ่อนแอ ฯลฯ เสนอรัฐ 4 แนวทางเพื่อเร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจระยะต่อไป จับตาปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มขึ้นจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจกระทบส่งออก รวมทั้งสถานการณ์ภัยแล้ง
นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 อยู่ที่ระดับ 90.0 ปรับตัวลดลงเล็กน้อย จาก 90.6 ในเดือนมกราคม 2567 จากหนี้ครัวเรือนที่สูง ขณะที่ดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 100.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 98.4 ในเดือนมกราคม 2567 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวของภาครัฐ ดังนั้น ส.อ.ท.เห็นว่าเพื่อให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจระยะต่อไปมีประสิทธิภาพเนื่องจากงบประมาณปี 2567 จะล่าช้าออกไปเป็น เม.ย.-พ.ค.จึงเสนอแนะต่อภาครัฐ 4 แนวทาง ได้แก่ 1. ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายและการบริโภคในประเทศ โดยเฉพาะมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยเฉพาะเมืองรองอยากให้ทำต่อเนื่องเพื่อให้การท่องเที่ยวต่างชาติบรรลุเป้า 29 ล้านคน
2. เสนอให้ภาครัฐต่ออายุมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันเชื้อเพลิง โดยตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร และตรึงราคาก๊าซหุงต้มที่ราคา 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 31 มีนาคม 2567 เนื่องจากขณะนี้ประชาชนมีค่าครองชีพที่สูงอยู่หากต้องปรับราคาขึ้นราคาสินค้าจะขึ้นตามมาจะยิ่งซ้ำเติมประชาชนและเศรษฐกิจ
3. สนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มสัดส่วนการจัดซื้อจัดจ้างผู้ประกอบการ SMEs เป็นไม่น้อยกว่า 50% ของงบประมาณจัดซื้อจัดจ้าง โดยเฉพาะในหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น
4. ต้องการให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) พิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอย่างเร่งด่วนเนื่องจากเศรษฐกิจของไทยต่างไปจากประเทศอื่นโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา เนื่องจากไทยเองประชาชนโดนยึดรถ ยึดบ้านจากปัญหาดอกเบี้ยที่สูง ธุรกิจต้องแบกรับภาระต้นทุนดอกเบี้ยทางการเงินที่เพิ่มขึ้นกนง.จึงควรตอบโจทย์ภาวะเศรษฐกิจของไทยให้มาก จึงอยากจะขอวอนให้ได้พิจารณาเพื่อลดค่าครองชีพ และช่วยเหลือธุรกิจโดยเฉพาะ SMEs
นายพิตติพัตน์ มั่นบุปผชาติ รองเลขาธิการ ส.อ.ท. กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นอุตฯ ก.พ.ที่ลดจากปัจจัยลบ อุปสงค์ในประเทศที่ชะลอตัวลงจากค่าครองชีพและปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงทำให้ประชาชนลดการใช้จ่าย ส่งออกชะลอตัว เนื่องจากเศรษฐกิจคู่ค้าที่ยังอ่อนแอ ปัญหาความขัดแย้งบริเวณทะเลแดงยังคงยืดเยื้อส่งผลกระทบต่อการนำเข้า-ส่งออกของไทยโดยเฉพาะตลาดยุโรปและตะวันออกกลาง นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังเผชิญปัญหาการแข่งขันด้านการตลาดสูงขึ้น รวมถึงได้รับผลกระทบจากสินค้าราคาถูกที่ไม่ได้มาตรฐานจากต่างประเทศทำให้ยอดขายลดลง แต่มีปัจจัยบวกจากภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง และผลจากมาตรการยกเว้นวีซ่าฟรี (Visa Free) ให้กับนักท่องเที่ยวจีน คาซัคสถาน อินเดียและไต้หวัน รวมถึงมาตรการ Easy E-Receipt ช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ และมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2567 ส่งผลดีต่อภาคธุรกิจ
“ยังมีปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มขึ้นจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก ขณะที่สถานการณ์ภัยแล้งจากปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Niño) อาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบในภาคเกษตรและปริมาณน้ำในภาคอุตสาหกรรม” นายพิตติพัฒน์กล่าว