xs
xsm
sm
md
lg

กกร.ห่วงส่งออกไทยพลาดเป้า จี้รัฐหามาตรการเพิ่มขีดการแข่งขันด่วน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กกร.กังวลส่งออกไทยชะลอตัว หลังเจอปัญหารอบด้านทั้งเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนที่นับวันรุนแรงขึ้น ทำให้จีนต้องหาตลาดใหม่ทดแทน การขึ้นค่าแรงและราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับขึ้นทำให้ต้นทุนสินค้าเพิ่มขึ้น จี้ภาครัฐหามาตรการสนับสนุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของภาคส่งออก และส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุดเพื่อเพิ่มมูลค่าในการส่งออกของประเทศ ลุ้นส่งออกไทยโต 0.5% ต้องมีมูลค่าการส่งออกราว 2.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และนับจากต้นปี 67 พบยอดการปิดโรงงานพุ่ง 1.6-1.7 พันแห่งแล้ว

วันนี้ (5 มิถุนายน 2567) นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) โดยมีนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า กกร.กังวลเรื่องการส่งออกที่ชะลอตัวค่อนข้างชัดขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า ผลกระทบจากสงครามการค้าสหรัฐอเมริกากับจีนที่กลับมาทวีความรุนแรงมากขึ้นโดยเฉพาะมาตรการขึ้นภาษีรอบล่าสุดของสหรัฐฯ ต่อสินค้ากลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า (EV) โซลาร์เซลล์ เซมิคอนดักเตอร์ เป็นต้น โดยมีกำหนดบังคับใช้ภายในปีนี้ ซึ่งจะเป็นปัจจัยลบต่อการค้าโลก ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยและประเทศในกลุ่มอาเซียนที่ถูกสหรัฐฯ มองว่าจีนใช้เป็นฐานการผลิต


อย่างไรก็ดี ตัวเลขการส่งออกไทยในเดือนเมษายน 2567 มีมูลค่า 23,278.6 ล้านเหรียญสหรัฐ (834,018 ล้านบาท) ขยายตัว 6.8% ซึ่ง กกร.ตั้งเป้าหมายการส่งออกไทยโตขึ้น 0.5-1.5% หากไทยต้องการให้การส่งออกโตขึ้น 0.5% จะต้องมีมูลค่าการส่งออกราว 24,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือน ซึ่งเวลาที่เหลืออีก 8 เดือนจะต้องเร่งรัดทำให้ได้ ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงนับวันก็เพิ่มมากขึ้นทั้งเรื่องความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ สงครามการค้า การปรับขึ้นค่าระวางเรือ เป็นต้น

ส่วนหนึ่งที่สินค้าไทยส่งออกได้ลดลง เนื่องจากเป็นสินค้าที่ล้าสมัยไม่เป็นที่นิยมในตลาด และมีคู่แข่งเห็นได้จากตัวเลขการผลิตและส่งออกรถยนต์ของไทยปรับลดลงอย่างมีนัย ทำให้ไทยเสียแชมป์การส่งออกรถยนต์ให้กับมาเลเซียเป็นครั้งแรก ดังนั้น ภาครัฐต้องเร่งปฏิรูปอุตสาหกรรมทั้งประเทศอย่างจริงจัง พร้อมให้การส่งเสริมการลงทุนเพื่อผลิตสินค้าตามเทรนด์โลก ขณะเดียวกันควรมีมาตรการหรือกลไกในการช่วยเหลือยกระดับ SME ด้วย

"เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า โดยไตรมาส 1/2567 เศรษฐกิจไทยเติบโต 1.5% ขยายตัวชะลอลงจากไตรมาสก่อนเกิดจากการหดตัวของการส่งออกและการใช้จ่ายของภาครัฐ ขณะที่ในระยะข้างหน้าเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มฟื้นตัวได้จำกัด เนื่องจากการส่งออกฟื้นตัวได้ช้าตามการค้าโลกที่ชะลอตัว และปัญหาเอลนีโญในช่วงที่ผ่านมาส่งผลให้ผลผลิตการเกษตรลดลง ส่วนการใช้จ่ายของครัวเรือนได้รับผลกระทบจากหนี้ครัวเรือนในระดับสูง อย่างไรก็ดี กกร.คาดว่า GDP ไทยจะเติบโตได้เพียง 2.2-2.7%" นายผยงกล่าว


ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า จากราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับขึ้นจาก 30 บาทเป็น 33 บาทต่อลิตร ส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการขนส่งราว 10% แต่หากดีเซลขยับขึ้นเป็น 35 บาทต่อลิตรจะส่งผลกระทบถึง 18% เมื่อต้นทุนขนส่งเพิ่มขึ้นมีผลให้ราคาสินค้าปรับเพิ่มขึ้นตาม อย่างไรก็ดี ทางสมาคมขนส่งฯ จะหารือภาครัฐเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาหรือแบ่งเบาภาระนี้ต่อไป ซึ่ง ส.อ.ท.มองว่าน่าจะมีจุดสมดุลว่าราคาดีเซลควรขยับขึ้นมาอยู่ที่ 32-33 บาทต่อลิตร ไม่ควรปล่อยไปถึง 35 บาทต่อลิตร เพื่อไม่ให้กระทบต้นทุนสินค้า

นายเกรียงไกรกล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปี 2567 ถึงปัจจุบันประเทศไทยมีการปิดโรงงานและบริษัทซับคอนแทรกต์ไปแล้ว 1,600-1,700 แห่ง เนื่องจากช่วงนี้นักลงทุนปรับพอร์ตการลงทุนให้เหมาะสม ทำให้มีการชะลอการลงทุน รวมถึงการควบรวมเป็นบริษัทเดียวเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน การย้ายฐานการผลิต ฯลฯ เหตุผลมาจากสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ความกังวลทางการเมืองไทยที่ไม่มีเสถียรภาพ ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งในการตัดสินใจของนักลงทุนต่างชาติในการใช้ไทยเป็นฐานการลงทุน

ทั้งนี้ กกร.เฝ้าติดตามเม็ดเงินลงทุนตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในปีนี้ว่าจะเป็นอย่างไร หลังจากปีก่อนที่ไทยมีตัวเลข FDI ราว 2.9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ มาเลเซีย 1.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และเวียดนาม 8.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนมูลค่าการส่งออก 4 เดือนแรกปีนี้ ไทยส่งออก 9.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ต่ำกว่าเวียดนามที่มีมูลค่าการส่งออก 1.2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ และมาเลเซียส่งออก 1 แสนกว่าล้านเหรียญสหรัฐ


อย่างไรก็ดี ที่ประชุม กกร.ได้มีการหารือในประเด็นสำคัญเพิ่มเติม ดังนี้ 1. กกร.เห็นด้วยกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นของภาครัฐ ทั้งมาตรการเพิ่มการท่องเที่ยวช่วง Low-season ที่เชื่อว่าจะช่วยกระจายรายได้ไปทั่วประเทศ รวมถึงการเสนอมาตรการค้ำประกันสินเชื่อของ บสย. วงเงินประมาณ 5 หมื่นล้านบาทที่เตรียมนำเสนอ ครม.นั้นจะส่งผลดีต่อเนื่องไปยังการลงทุน การจ้างงาน และการบริโภค และคาดว่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจประมาณ 2 แสนล้านบาท โดย กกร.พร้อมเข้าไปมีส่วนช่วยคัดกรองและรับรอง SMEs ที่มีศักยภาพให้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น

นอกจากนี้ ที่ประชุม กกร.ได้เสนอให้ภาครัฐมีมาตรการเพิ่มเติมในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของ SMEs รวมถึงมาตรการสนับสนุนให้ SMEs เข้ามาอยู่ในระบบเศรษฐกิจ เช่น การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นระยะเวลา 5-7 ปี เพื่อให้ผู้ประกอบการมีเวลาปรับตัวและเข้ามาอยู่ในระบบมากขึ้น

2. กกร.อยู่ระหว่างหารือกับภาครัฐเกี่ยวกับแนวทางการปรับค่าแรงขั้นต่ำให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ ผลิตภาพแรงงาน และดำเนินการตามกรอบกฎหมาย โดยแต่ละพื้นที่จะประสานผ่าน กกร.จังหวัดให้มีการหารือร่วมกับคณะอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำรายจังหวัด (ไตรภาคี) ต่อไป

3. ที่ประชุม กกร.มีความกังวลต่อภาคการส่งออกสินค้าที่ยังอยู่ในภาวะชะลอตัว จากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่มีแนวโน้มกลับมารุนแรงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการส่งออกสินค้าของจีนไปยังสหรัฐฯ ทำให้จีนต้องหาตลาดใหม่ทดแทนเพื่อส่งออกสินค้า ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงเพิ่มเติมต่อการส่งออกสินค้าของไทยที่อยู่ในภาวะชะลอตัวต่อเนื่อง รวมทั้งต้นทุนค่าขนส่งที่สูงขึ้นจากการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่หมุนเวียนไม่ทัน ดังนั้น ภาครัฐจำเป็นต้องมีมาตรการสนับสนุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของภาคส่งออก และส่งเสริมสินค้าที่มีศักยภาพในอุตสาหกรรมเป้าหมายให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุดเพื่อเพิ่มมูลค่าในการส่งออกของประเทศ


กำลังโหลดความคิดเห็น