xs
xsm
sm
md
lg

(คลิป)ขาดแคลนหนัก! หนุ่มช่างศิลป์โคราชหยุดงานหลัก มาช่วยวัดบ้านเกิดแกะสลัก“ต้นเทียนพรรษา” หลังขาดช่างเทียนมาหลายปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวนครราชสีมา- ขาดแคลนช่างเทียน “น้องใจ” หนุ่มช่างศิลป์โคราชวัย 27 ปี ต้องยอมหยุดงานหลัก กลับมาทุ่มเทช่วยวัดบ้านเกิด แกะสกลักขบวนต้นเทียนพรรษา“วัดโบสถ์คงคาล้อม” หลังไม่มีช่างแกะสลักเทียนมานานหลายปี เผยต้องการนำความสามารถมาร่วมสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนบ้านเกิด หวังสืบสานศิลปะประเพณีอันดีงามให้อยู่คู่สังคมไทยตลอดไป

วันนี้ ( 5 ก.ค.) ที่วัดโบสถ์คงคาล้อม ต.กระโทก อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา ชาวบ้านต่างพากันเร่งหล่อและแกะสลักเทียนพรรษา เพื่อเข้าร่วมงานเทศกาลแห่เทียนพรรษาประจำปี 2567 ที่เทศบาลตำบลโชคชัย จะจัดขึ้นในวันที่ 19 ก.ค. นี้ ก่อนนำไปร่วมในงานเทศกาลแห่เทียนพรรษาของจัดหวัดนคราชสีมา ที่บริเวณลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี กลางใจเมืองโคราช ระหว่างวันที่ 21- 22 กรกฎาคม 2567 ซึ่งตอนนี้ ขบวนต้นเทียนพรรษา ของวัดโบสถ์คงคาล้อม คืบหน้าไปประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากวัดแห่งนี้เพิ่งเริ่มต้นทำขบวนต้นเทียนพรรษาแทบทั้งหมด เพราะเพิ่งได้ช่างหนุ่มวัยเพียง 27 ปี มาเป็นช่างแกะสลักเทียน หลังจากไม่มีช่างแกะสลักเทียนมานานหลายปีแล้ว



โดยช่างหนุ่มคนนี้ มีชื่อ “น้องโจ” หรือ นายธนากร ชาวกล้า อายุ 27 ปี เป็นชาวบ้านดอนใหม่ ต.กระโทก อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา ซึ่งน้องโจ จบจากโรงเรียนช่างฝีมือในวัง (ชาย) มาเมื่อปี พ.ศ.2559 ใน สาขา หัวโขนและแกะสลักไม้ หมวดงานศิลปกรรมไทยโบราณ ถนัดในงานแกะสลักหัวโขนและงานปักดิ้น ก่อนหน้านี้ได้เดินทางออกรับงานในหลายจังหวัด ก่อนมาทราบข่าวว่า ที่วัดโบสถ์คงคาล้อม แห่งนี้ยังขาดช่างฝีมือมาช่วยแกะสลักเทียน จึงตัดสินใจเคลียร์งานทั้งหมดที่มีอยู่ เพื่อกลับมาช่วยงานที่วัดในบ้านเกิด โดยหวังว่าจะเสร็จทันงานเทศกาลแห่เทียนพรรษาปีนี้


นายธนากร หรือ น้องโจ บอกว่า ตัวเองแม้ว่าจะมีความถนัดเรื่องของการแกะสลัก แต่การแกะเทียนนั้นถือเป็นสิ่งที่แปลกใหม่สำหรับตัวเองมาก เพราะการวางน้ำหนักมือค่อนข้างยาก และเทียนเองเป็นวัสดุที่อ่อนและลื่น ทำให้การแกะมีความเสี่ยงพลาดได้สูง รวมถึง การสร้างมุมมององค์ประกอบนั้น ต้องใช้การจินตนาการภาพล่วงหน้า เนื่องจากขบวนเทียนมีความใหญ่และสูง จึงทำให้การสร้างองค์ประกอบ-มุมมองต้องมีความสัมพันธ์กับระดับและระยะสายตา นอกจากนี้ การแกะสลักและทำขบวนต้นเทียน เป็นการบอกเล่าเรื่องราวผ่านทางงานศิลปะ ไม่ใช่เพียงแค่การแกะตามแบบ จึงจำเป็นที่ต้องใช้จินตนาการที่ซับซ้อนกว่างานศิลปะอื่นๆ

“น้องโจ” หรือ นายธนากร ชาวกล้า อายุ 27 ปี หนุ่มช่างศิลป์ ช่างเทียนวัดโบสถ์คงคาล้อม ต.กระโทก อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา
ที่สำคัญ วัดแห่งนี้ไม่มีช่างแกะสลักเทียนมาหลายปี อุปกรณ์ต่างๆ ก็ชำรุดทรุดโทรมไปแทบทั้งหมด ดังนั้น ทุกอย่างต้องมาเริ่มกันใหม่ ตั้งแต่การแกะพิมพ์ลายเทียน การขึ้นโครงหุ่นประกอบขบวน รวมถึง รถขบวน เรียกได้ว่านับ 1 ใหม่เลยก็ว่าได้ ถือว่าเป็นงานที่ยากและท้าทายอย่างมาก จึงได้หยุดงานหลักมาช่วยวัดนี้ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา


สำหรับเรื่องราวของขบวนเทียนพรรษา ที่สร้างสรรค์ขึ้นในปีนี้ เป็นการถ่ายทอดเรื่องราวพระพุทธศาสนาเกี่ยวกับพระมหากัสสปะ หนึ่งในพระอรหันสาวกของพระพุทธเจ้า เป็นเอตทัคคะที่ทรงยกย่องให้ถือเป็นแบบอย่างในด้านผู้ทรงธุดงค์และสรรเสริญคุณแห่งธุดงค์ และเป็นพระอรหันที่ได้เป็นประธานการสังคายนาครั้งแรกในศาสนาพุทธ อีกทั้งยังเป็นผู้ที่รวบรวมพระธรรมวินัยมาไว้ให้ศาสนาพุทธ ได้นำมายึดถือปฏิบัติภายหลังจากที่พระพุทธเจ้าทรงปรินิพพาน โดยได้นำเอาแนวคิดของพระมหากัสสปะที่ได้ตั้งปณิธานตัวเองให้เหมือนกับพญาหงส์ คือ ไม่ยึดติดและปล่อยวาง เพื่อให้ดับขรรค์ เหมือนเช่น พญาหงส์ที่ร่อนลงสระ แต่ไม่เคยคิดว่า สระนั้นเป็นของตน เพื่อให้ผู้ที่พบเห็นได้ปล่อยวางกับกิเลสต่างๆ มุ่งหน้าสู่ปรินิพพาน


โดยเรื่องราวนี้ก็จะนำมาประกอบกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่กำลังจะมีพระราชพิธีขบวนพยุหยาตราชลมาค จึงนำเอาหงส์ที่เป็นสัญลักษณ์ของเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ และรูปพญานาคที่เป็นสัญลักษณ์ของเรือพระที่นั่ง อนันตนาคราช และเป็นตัวแทนของปีมะโรง ซึ่งเป็นปีนักษัตรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑๐ มาร่วมในขบวนด้วย โดยรถขบวนต้นเทียนพรรษาของวัดโบสถ์คงคาล้อม ปีนี้ จะมีความยาวประมาณ 18 เมตร กว้าง 4.5 เมตร สูง 10 เมตร คาดว่าต้องใช้เทียนทั้งหมดไม่น้อยกว่า 10 ตัน

“น้องโจ” หรือ นายธนากร ชาวกล้า อายุ 27 ปี  หนุ่มช่างศิลป์ ช่างเทียนวัดโบสถ์คงคาล้อม ต.กระโทก อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา
น้องโจ บอกอีกว่า การที่ตัดสินใจมารับหน้าที่เป็นช่างแกะขบวนต้นเทียนพรรษาที่วัดนี้ เนื่องจากตัวเองเป็นคนในชุมชน เมื่อมีความรู้ความสามารถ ก็อยากจะเข้ามามีส่วนร่วมสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนบ้าง และยังจะสามารถช่วยสืบสานประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามและศิลปะแขนงนี้ให้คนรุ่นหลังได้เห็น และได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ เพื่อรักษาไว้ให้คงอยู่คู่สังคมไทยต่อไปในอนาคตอีกทางหนึ่ง






กำลังโหลดความคิดเห็น