xs
xsm
sm
md
lg

ดราม่า! ภาพแกะสลักหินสตรีกลางป่าบุรีรัมย์ ชาวเน็ตเสียงแตก ของเก่าหรือใหม่? ด้านคนเชื่อแห่กราบไหว้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพแกะสลักหินกลางป่าบุรีรัมย์ ไม่ว่า เก่า-ใหม่? ผู้ที่เชื่อต่างมากราบไหว้
ข่าวการค้นพบภาพแกะสลักหินสตรีที่เขากระเจียว จ.บุรีรัมย์ กลายเป็นดราม่าให้ชาวเน็ตถกเถียง ว่าเป็นงานเก่าหรือใหม่? เป็นภาพพระนางสิริมหามายาหรือภาพพระแม่ธรณีบีบมวยผม? งานนี้คงต้องรอให้กรมศิลป์พิสูจน์เป็นดีที่สุด ขณะที่ผู้นับถือเดินทางไปกราบไหว้ด้วยเชื่อว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อส่วนบุคคลด้วย

ชาวบ้านเก็บเห็ด พบภาพแกะสลักหิน


ถือเป็นอีกหนึ่งการค้นพบโดยบังเอิญที่ชวนทึ่งไม่น้อย เมื่อผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ ประมูล กองกระโทก ได้โพสต์เฟซบุ๊กว่า ไปเก็บเห็ดเจอสิ่งนี้ค่ะอยู่มานานพึ่งรู้บ้านเรามีสาธุๆๆๆ

สำหรับสิ่งที่พบเจอคือภาพแกะสลักหินรูปสตรีมีใบหน้าสมบูรณ์ในป่าบนเขากระเจียว ต.ลำนางรอง อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นข่าวฮือฮาที่คนไทยให้ความสนใจกันเป็นจำนวนมาก


ภาพแกะสลักหินรูปสตรีมีใบหน้าสมบูรณ์พบกลางป่า จ.บุรีรัมย์
หลังจากนั้นในวันที่ 13 พ.ค. 67 ที่ผ่านมา นายภาคภูมิ อยู่พล หัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ ได้มอบหมายให้นายสุทธินันท์ พรหมชัย นักโบราณคดี ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ลงพื้นที่ร่วมกับฝ่ายปกครองอำเภอโนนดินแดง อบต.ลำนางรอง และผู้นำชุมชน ตรวจสอบหินแกะสลักดังกล่าว พบว่าเป็นงานแกะสลักรูปสตรีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ กำลังยกมือซ้ายขึ้น มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางหิน 6 เมตร มีร่องรอยการแกะสลัก กว้าง 130 เซนติเมตร สูง 145 เซนติเมตร ความสูงเศียร 25 เซนติเมตร ช่วงไหล่ประมาณ 40 เซนติเมตร
 
จากการตรวจสอบเบื้องต้นเจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าหินแกะสลักที่พบดังกล่าวเป็นของโบราณหรือไม่หรืออยู่ในยุคสมัยใด เพราะการแกะสลักค่อนข้างก้ำกึ่ง จะต้องให้ผู้เชี่ยวชาญจากกรมศิลปากรมาตรวจพิสูจน์อีกครั้ง

ของเก่าหรือของใหม่?


ชาวเน็ตเสียงแตก ว่าเป็นภาพเก่าหรือใหม่
อย่างไรก็ดีหลังเกิดไวรัลการพบภาพแกะสลักหินที่เขากระเจียวตั้งแต่คืนวันที่ 12 พ.ค.67 ที่ผ่านมา ได้กลายเป็นดราม่าให้ชาวเน็ตไทยถกเถียงกันว่านี่คือผลงานเก่าหรืองานใหม่ ?

โดยหลายคนเชื่อว่าน่าจะเป็นงานเก่า เพราะในอดีตของจังหวัดบุรีรัมย์นิยมการสร้างปราสาทหินและศาสนาสถานไว้บนภูเขา ชาวเน็ตบางคนถึงขนาดฟันธงไปเลยว่านี่เป็นงานเก่า “สมัยทวารวดี” เพราะบ้านเราปรากฏหลักฐานว่ามีงานศิลปะแกะสลักบนก้อนหินใหญ่เพิงผามาตั้งแต่สมัยทวารวดีแล้ว

ขณะที่ชาวเน็ตอีกส่วนหนึ่งเชื่อว่าเป็นผลงานแกะสลักใหม่ในยุคปัจจุบัน เนื่องจากที่นี่เคยมีพระธุดงค์ขึ้นมาตั้งสำนักสงฆ์ เมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว จึงทำให้หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า นี่น่าจะเป็นผลงานแกะสลักที่ทำขึ้นในช่วงนั้น

เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สำรวจ
ดังเช่นความเห็นของ นายอิสระ ศิริสุทโท เจ้าหน้าที่เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ ที่กล่าวว่า ส่วนตัวคิดว่าภาพแกะสลักหินที่พบ น่าจะเป็นฝีมือของพระที่ครั้งนั้นเมื่อประมาณปี 2537 หรือประมาณ 30 ปีที่ผ่านมา บริเวณดังกล่าวเป็นที่ตั้งของสำนักสงฆ์ หลังจากมีการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ สำนักสงฆ์ได้หายไป

พระนางสิริมหามายา หรือ พระแม่ธรณี


นอกจากนี้ชาวเน็ตยังตั้งข้อสงสัยว่า นี่เป็นงานแกะสลักภาพของใคร ? ระหว่าง “พระนางสิริมหามายา” พระมารดาของพระพุทธเจ้า หรือ “พระแม่ธรณี”

โดยผู้ใช้เฟซบุ๊ก Supachai Nong ได้ออกมาโพสต์ถึงภาพแกะสลักหินดังกล่าวว่า...สรุปเป็นตามที่คาดการณ์ไว้ว่าน่าจะเป็นพระนางสิริมหามายาขณะเหนี่ยวกิ่งสาละ (อยากเห็นรอบๆรูปสลักนี้มากๆ)
ส่วนศิลปะยุคไหนก็คงต้องรอกรมศิลป์...


ชาวเน็ตเสียงแตก ว่าเป็นภาพพระนางสิริมหามายา หรือ พระแม่ธรณี?
ขณะที่ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ได้โพสต์เฟซบุ๊ก กล่าวอ้างว่า มีพระอาจารย์ท่านหนึ่งได้ทำการแกะสลักหินภาพนี้เมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว เป็นรูปพระแม่ธรณีแต่ด้วยปัจจัยหลาย ๆ อย่าง ทำให้แกะไม่เสร็จ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในโพสต์ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก เนื่องจากมีสื่อหลายสำนักนำไปขยายต่อ โดยมีทั้งคนเชื่อและไม่เชื่อ

ด้านเฟซบุ๊ก โชติวัฒน์ รุญเจริญ ก็เป็นอีกหนึ่งโพสต์ที่ได้รับความสนใจอย่างสูง โดยเขาโพสต์ว่า ว่าจะไม่โพสต์เรื่องนี้ เพราะเกรงจะมีดราม่าแต่หลายท่านถามไถ่กันมา เลยจำเป็นต้องโพสต์ภาพสลักในป่าบุรีรัมย์ที่เพิ่งค้นพบใหม่ และกำลังเป็นข่าวฮือฮากันอยู่ในขณะนี้ในทรรศนะของผม

เป็นภาพสลักที่น่าจะเพิ่ง แกะสลักขึ้นมาไม่นาน ช่างสลักน่าจะพยายามสลักให้เป็นรูป พระนางสิริมหามายา เหนี่ยวกิ่งไม้แต่ยังไม่เสร็จ ดันมีคนเก็บเห็ดมาเจอซะก่อน ไม่น่าใช่ของเก่า ของโบราณพันปี สังเกตจากรูปแบบศิลปะ ไม่ใช่ทั้งศิลปะขอม/เขมรโบราณ ไม่ใช่ทั้งศิลปะทวารวดี-อีสาน ไม่ใช่ทั้งศิลปะอินเดียโบราณ ใบหน้าสตรีอูมๆ รูปไข่ แบบนี้ คงเลียนแบบมาจาก ศิลปะล้านนา เส้นผม เป็นเส้นๆ ขึ้นไปแบบนี้ ไม่มีในศิลปะโบราณใดๆ ต่างหู รูปห่วง วงรี แบบนี้ ก็ไม่มีในศิลปะโบราณใดๆ ผมว่าอายุน่าจะไม่กี่ปีเผลอๆ ช่างสลัก ยังนั่งยิ้มอยู่เมื่อได้เห็นข่าวนี้ แพร่กระจายออกไป

ผู้ที่นับถือเดินทางมากราบไหว้
สำหรับงานศิลปะแกะสลักบนก้อนหินใหญ่หรือตามเพิงผานั้นไม่ใช่ของใหม่ในเมืองไทย แต่มีปรากฏมานานแล้วตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ทวารวดี อู่ทอง มาจนถึงยุคปัจจุบัน ดังนั้นกรณีของภาพแกะสลักรูปสตรีที่เขากระเจียว จ.บุรีรัมย์ ที่เพิ่งถูกค้นพบนั้น คงต้อรอบทสรุปของทางกรมศิลปากร และผู้ที่เกี่ยวข้องว่านี่เป็นผลงานเก่าหรือใหม่ ? เป็นภาพแกะสลักของใคร พระนางสิริมหามายา หรือ พระแม่ธรณี?

อย่างไรก็ดีไม่ว่านี่จะเป็นงานเก่าหรือใหม่ แต่ที่ผ่านมาหลังข่าวการค้นพบภาพแกะสลักหินที่เขากระเจียว จ.บุรีรัมย์ โด่งดังไปทั่วฟ้าเมืองไทย ก็ได้มีผู้ที่เชื่อถือเดินทางมากราบไหว้บูชา ด้วยเชื่อว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ตามความเชื่อส่วนบุคคล

ส่วนในอนาคตภาพแกะสลักหินแห่งนี้จะได้รับการพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยวหรือไม่? คงต้องติดตามกันต่อไป





กำลังโหลดความคิดเห็น