xs
xsm
sm
md
lg

ระดมช่างฝีมือท้องถิ่นเมืองตรังตกแต่งเรือพระ เตรียมเข้าร่วมงานประเพณีลากพระปี 65

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตรัง - วัดต่างๆ และชาวบ้านระดมช่างฝีมือในท้องถิ่นร่วมกันตกแต่งเรือพระ เพื่อเตรียมเข้าร่วมงานประเพณีลากพระ ประจำปี 2565 ซึ่งจะมีขึ้นหลังวันออกพรรษานี้ จนถือเป็นงานบุญยิ่งใหญ่ของชาวปักษ์ใต้

วัดต่างๆ ใน จ.ตรัง และชาวบ้านต่างระดมช่างฝีมือในท้องถิ่นร่วมกันทำและตกแต่งประดับประดาเรือพระ เพื่อเตรียมเข้าร่วมงานประเพณีลากพระจังหวัดตรัง งานบุญยิ่งใหญ่ของชาวปักษ์ใต้ ที่จะมีขึ้นหลังวันออกพรรษา โดยในปีนี้กำหนดจัดระหว่างวันที่ 11-19 ตุลาคม 2565 ซึ่งจะมีเรือพระจากหลายอำเภอไม่ต่ำกว่า 60 ลำ เข้าร่วมกิจกรรม ณ สนามกีฬาทุ่งแจ้ง เพื่อเป็นการสืบสานพระพุทธศาสนา และอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมของท้องถิ่นให้คงอยู่สืบไป

โดยที่วัดหัวถนน ต.นาพละ อ.เมืองตรัง พบว่าประชาชนหลายฝ่าย นำโดยกำนันตำบลนาพละ คนปัจจุบัน รวมทั้งอดีตกำนัน ประธานสภาวัฒนธรรมตำบลนาพละ พร้อมด้วยพระสงฆ์ และชาวบ้านซึ่งมีฝีมือในงานช่างประเภทต่างๆ ทั้งหญิงและชายกว่า 10 คน ได้ร่วมกันประดับประดาตกแต่งเรือพระของวัด ทั้งการจัดทำองค์ประกอบใหม่แทนของเก่า หรือเปลี่ยนใหม่ให้สวยงามมากกว่าเดิม ส่วนชาวบ้านที่ไม่ได้มีฝีมือทางช่าง มาช่วยงานในด้านอื่น หรือนำข้าวปลาอาหารมาช่วยสนับสนุนให้คนที่ทำ ถือเป็นความสามัคคีของคนในท้องถิ่นที่ยังคงผูกพันอยู่กับวัดใกล้บ้าน


สำหรับองค์ประกอบของเรือพระ ซึ่งเกือบทั้งหมดช่างแกะสลักจะสามารถหาได้จากไม้ที่หาได้พื้นที่ เช่น พระพุทธรูป บุษบก ธรรมจักร พญานาคทั้งตัว หรือเฉพาะส่วนหัว และส่วนหาง เฉพาะหัวพญานาค จำนวน 3 หัว หากสั่งซื้อจะต้องใช้เงินไม่ต่ำกว่า 3 แสนบาท แต่ชาวบ้านที่นี่จะใช้วิธีแกะสลักเอง ขณะที่วิมานเมฆ ซึ่งเปรียบเสมือนว่าพระพุทธเจ้าเสด็จลงมาจากชั้นดาวดึงส์ รวมทั้งฉัตรแก้ว ซึ่งที่วัดอื่นอาจจะใช้ไม้ หรือผ้ามัดเป็นฉัตร แต่ของวัดหัวถนน จะทำจากรวงข้าว โดยนำมามัดรวมกันเป็นฉัตร 5 ชั้น

ทั้งนี้ เนื่องจาก ต.นาพละ นับจากอดีตจนถึงปัจจุบันยังคงมีการทำนาปลูกข้าวไว้กินเอง ชาวบ้านจึงสามารถนำรวงข้าวมาทำเป็นฉัตรแก้วได้ ส่วนเรือพระจะใช้โครงสร้างเหล็กร่วมด้วยกับไม้ ซึ่งเมื่อตกแต่งออกมาแล้วจะสวยงามมาก ขณะเดียวกัน คณะนางรำขบวนหน้าเรือพระ เริ่มนัดแนะกันมาซักซ้อมการรำแล้ว เพื่อต้องการรักษาแชมป์ที่เคยชนะเลิศเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาด้วย

นายปรีชา เดชเหมือน ประธานสภาวัฒนธรรมตำบลนาพละ และประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอเมืองตรัง กล่าวว่า ที่วัดหัวถนน จะไม่จ้างช่างฝีมือมาทำเรือพระ หรือไม่ซื้อส่วนประกอบต่างๆ มาใช้ เพราะเป็นวัดเล็กๆ ไม่มีเงิน แต่อาศัยชาวบ้านที่มีฝีมือมาช่วยกันประกอบ ประดับตกแต่งเองทั้งหมด โดยเน้นใช้วัสดุจากธรรมชาติคือไม้เป็นสำคัญ แต่จะไม่ใช้โฟม ซึ่งต้องใช้เวลานานนับเดือนกว่าจะเสร็จสิ้น


ด้านนายเชือน สงชู อดีตกำนันตำบลนาพละ ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มให้จัดงานประเพณีลากพระของจังหวัดตรัง กล่าวว่า การลากเรือพระของชาว ต.นาพละ เกิดขึ้นมายาวนานไม่ต่ำกว่า 80 ปีแล้ว โดยชาวบ้านจะร่วมกันทำเรือพระ แล้วชักลากออกจากวัดไปตามชุมชนต่างๆ แล้วลากกลับในวันเดียวกัน แต่ต่อมามีการลากเรือพระไปไกลมากขึ้นจนถึงในตัวเมืองตรัง โดยมีประชาชนทุกเพศ ทุกวัย ทั้งผู้เฒ่า ผู้แก่ คนวัยทำงาน คนหนุ่มสาว และเด็กๆ พร้อมใจกันมาร่วมกิจกรรม โดยไม่ต้องเกณฑ์คน เพราะคนนับถือศาสนาพุทธ ถือว่าการได้ลากเรือพระจะได้บุญมหาศาล

กระทั่งเมื่อปี 2546 หรือเมื่อ 20 ปีแล้ว นายอภินันท์ ซื่อทานุวงษ์ นายอำเภอเมืองตรังขณะนั้น ได้ริเริ่มจัดงานลากเรือพระขึ้นที่หน้าศาลากลางจังหวัดตรัง (หลังเก่า) โดยแรกเริ่มมีเรือพระ 18 วัด/ลำ จาก 14 ตำบลของ อ.เมืองตรัง ต่อมาจึงเชิญ อบจ.ตรัง มาร่วมสนับสนุนด้วย เพราะมีงบประมาณช่วยสนับสนุนการจัดทำเรือพระของวัดทุกวัด จึงทำให้มีเรือพระเข้าร่วมมากขึ้น จนสุดท้ายต้องย้ายสถานที่จัดงานไปยังสนามกีฬาทุ่งแจ้ง เพราะงานยิ่งใหญ่ขึ้นทุกปี และมีเรือพระจากทุกอำเภอเข้าร่วมประมาณ 60-80 ลำ และยิ่งใหญ่มาจนถึงทุกวันนี้




กำลังโหลดความคิดเห็น