xs
xsm
sm
md
lg

กกต.กาญจน์เปิดเวทีบรรยายให้ความรู้ข้อปฏิบัติแก่ว่าที่ผู้สมัคร ส.ว.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กาญจนบุรี - กกต.กาญจน์ เปิดเวทีบรรยายให้ความรู้ข้อปฏิบัติแก่ว่าที่ผู้สมัคร ส.ว.นำไปปฏิบัติให้ถูกต้อง ทนายดังเผยข้อดีที่กลุ่ม ส.ว.เลือกกันเองคือ ลดการซื้อสิทธิขายเสียง
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่ได้มีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ.2567 โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 ประกอบข้อ 41 และข้อ 48 ของระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2567 คณะกรรมการการเลือกตั้งจึงประกาศกำหนดวันเลือกและวันรับสมัครรับเลือกสมาชิกวุฒิสภา ดังนี้
 
วันที่ 9 มิ.ย. เป็นวันเลือกระดับอำเภอ วันที่ 16 มิ.ย. วันเลือกระดับจังหวัด และวันที่ 26 มิ.ย.เป็นวันเลือกระดับประเทศ ส่วนวันที่ 20-24 พ.ค. กำหนดเป็นวันสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา เริ่มสมัครตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น.ของทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ
 
จากกรณีข้างต้น ล่าสุดเมื่อเวลา 08.30 น.วันนี้ (16 พ.ค.) ที่ห้องประชุมชั้น 5 โรงแรมราชศุภมิตร ต.ท่ามะขาม อ.เมือง จ.กาญจนบุรี สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดกาญจนบุรี ได้เชิญประชาชน รวมทั้งผู้สนใจสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มารับฟังทำความเข้าใจวิธีการ ขั้นตอน และข้อกำหนดให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งเข้าใจเพื่อนำไปปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยมีประชาชน และว่าที่ผู้สมัครจากหลากหลายสาขาอาชีพเข้าร่วมรับฟังประมาณ 100 คน
 
โดย ร.ต.อ.พงศ์บัณฑิต ปิ่นสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ประจำจังหวัดกาญจนบุรี ได้มอบหมายให้ พ.จ.อ.วิรัช รำจวนเกียรติ รอง ผอ.สนง.กกต.จ.กาญจนบุรี บรรยายในหัวข้อ ไทม์ไลน์ การสมัครการเลือกสมาชิกวุฒิสภา และวิธีการเตรียมการขั้นตอนการสมัคร
 
นายนิรันดร์ บุญราช หัวหน้ากลุ่มงานการจัดการเลือกตั้งและการมีส่วนร่วม บรรยายในหัวข้อ คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา และขั้นตอนการเลือก ส่วน นายฤทธิรงค์ แก่นจันทร์ หัวหน้ากลุ่มงานสืบสวนสอบสวนและพรรคการเมือง บรรยายในหัวข้อ ข้อห้ามความผิด พ.ร.ป.เกี่ยวกับการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และลักษณะความผิด และนายปิยะกุล ชูเกต พนักงานสืบสวนและไต่สวนปฏิบัติการ บรรยายในหัวข้อ วิธีการแนะนำตัวของผู้สมัคร ในครั้งนี้มีนายเสนอ ชูจันทร์ ผู้ตรวจการเลือกตั้ง ประจำจังหวัดกาญจนบุรี มาเป็นประธานและร่วมสังเกตการณ์
 
ทั้งนี้ นายฤทธิรงค์ แก่นจันทร์ หัวหน้ากลุ่มงานสืบสวนสอบสวนและพรรคการเมือง กล่าวว่า การประชุมในวันนี้เพื่อต้องการให้ว่าที่ผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในปี 2567 ได้รู้ขั้นตอนการรับสมัครและคุณสมบัติต้องห้าม รวมทั้งอธิบายให้ผู้ที่จะลงรับสมัครทั้ง 20 กลุ่มได้เข้าใจ ซึ่งขั้นตอนการเลือกนั้นมีอยู่ด้วยกัน 2 ระดับ ระดับแรกคือ เลือกระดับอำเภอ ระดับที่ 2 ระดับ ระดับเลือกในแต่ละกลุ่มก่อน จากนั้นแบ่งออกเป็นสายรวม 4 สาย สายละ 5 กลุ่มอาชีพ รวม 20 กลุ่มพอดี สำหรับการเลือกในระดับ อำเภอ ระดับจังหวัดและระดับประเทศจะมีการเลือก 2 ครั้ง ซึ่งการเลือกตั้ง ส.ว.ปี 2567 ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ต้องมาใช้สิทธิเลือกตั้ง เพราะกฎหมายรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ได้กำหนดให้ผู้สมัครเลือกตั้งเข้าไปเลือกกันเองในแต่ละระดับรวม 2 ครั้ง
 
ถามว่ากรณีที่ให้ผู้สมัคร ส.ว.ไปเลือกกันเองนั้นจะทำให้ยากหรือง่ายต่อการซื้อเสียงกันเอง นายฤทธิรงค์ แก่นจันทร์ ตอบว่าเรื่องการซื้อเสียงของผู้สมัครด้วยกันเอง หากมีการซื้อเสียงจะเป็นการซื้อกันในกลุ่มเดียวกัน ซึ่ง กกต.มีขั้นตอนและมีสายข่าวคอยการตรวจสอบการกระทำของผู้สมัครแต่ละคนแต่ละกลุ่มผู้สมัครอยู่แล้ว ซึ่งการการบรรยายในวันนี้เราจะบอกว่าที่สมัครทุกคนให้เข้าใจว่า อะไรทำได้บ้างและทำไม่ได้บ้าง รวมทั้งข้อพึงระวังในการแนะนำตัวด้วย ซึ่งหากผู้สมัคร ส.ว.รายใดซื้อเสียงหากถูกจับกุมจะต้องถูกดำเนินคดีตามมาตรา 77 ซึ่งมาตรา 77 มีโทษค่อนข้างหนัก ต้องถูกจำคุก 1-10 ปี ปรับ 20,000-200,000 หรือทั้งจำทั้งปรับ ที่สำคัญจะต้องถูกเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งนานถึง 20 ปี
 
ด้านนายสุชพงศ์ บุญเสริม ทนายความชื่อดังของจังหวัดกาญจนบุรี ได้ให้ข้อคิดเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ว.ปี 2567 ถึงข้อดีข้อเสียที่ประชาชนไม่ได้ใช้สิทธิเลือกตั้งว่า จริงๆ แล้วต้องบอกว่าเป็นเรื่องของวิถีทางหรือเส้นทางอย่างหนึ่งที่จะให้ผู้สมัคร ส.ว.เข้าสู่เส้นทางในตำแหน่ง ที่ผ่านมา เราเคยชินกับการให้ประชาชนเป็นผู้เลือก ซึ่งการเลือกตั้งในรูปแบบที่ผ่านมานั้นหนีไม่พ้นการซื้อสิทธิขายเสียงกันซึ่งถือว่าข้อเสียก็มี
 
ส่วนวิธีการเลือกตั้งด้วยการให้ผู้สมัคร ส.ว.เข้าไปเลือกกันเองในแต่ละกลุ่ม เท่าที่ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถือว่าเป็นวิธีการใหม่และแปลก ซึ่งโอกาสที่จะเข้าไปซื้อเสียงค่อนข้างมีน้อยลง เพราะมีการเลือกโดยบุคคลที่มาจากกลุ่มอาชีพที่แบ่งออกเป็น 20 กลุ่ม ขณะเดียวกัน ขั้นตอนการเลือกแบ่งออกเป็น 3 ระดับ รวม 6 ขั้นตอน และระดับละ 2 ขั้นตอน ซึ่งขั้นตอนที่มีการเลือกที่มาจากต่างกลุ่มอาชีพ จะทำให้ผู้สมัครไม่รู้ว่าคนที่จะมาเลือกนั้นจะเป็นกลุ่มอาชีพใดที่มาอยู่สายเดียวกัน ซึ่งจุดนี้เองที่จะทำให้โอกาสเข้าไปซื้อสิทธิขายเสียงได้น้อยลง จึงถือว่าเป็นไปในทางที่ดี

แต่ถ้าหากมามองในแง่ทางการเลือกตั้ง ส.ว.ด้วยการให้ประชาชนเป็นผู้เลือก เพราะ ส.ว.เป็นผู้แทนที่จะเข้าไปทำหน้าที่ให้ประชาชน แต่ครั้งนี้ไม่ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนเป็นผู้เลือก ซึ่งหากเรามามองในแง่ที่ดี เพราะที่ผ่านมาเราเห็นแต่แบบเดิม เมื่อมีกฎหมายใหม่ขึ้นมาอาจจะเป็นเรื่องที่ดีก็ได้ อย่างเช่นระบอบประชาธิปไตย ที่เรานิยมพูดกันว่าจะต้องเลือกโดยประชาชนเท่านั้นถึงจะเป็นเรื่องดี ถ้าอย่างนั้นระบอบการปกครองอื่นเช่น ระบบคอมมิวนิส หรือกฎหมายระบบอิสลามก็ดี เขาคงปกครองประเทศไม่ได้ แต่ทุกอย่างที่กล่าวมามันมีทั้งข้อดีและข้อเสียในตัวของมัน เพียงแต่ว่าเราจะกล้าเปิดใจที่จะยอมรับวิถีการใหม่หรือไม่






กำลังโหลดความคิดเห็น