xs
xsm
sm
md
lg

ทำไม! ยังไม่กลับไทย...เปิดใจ “โชคดี” แรงงานในอิสราเอลชาวขอนแก่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายโชคดี งวงช้าง หรือ แตงโม หนึ่งในจำนวนแรงงานไทยที่ยังขอทำงานที่อิสราเอลต่อ
ศูนย์ข่าวขอนแก่น - “โชคดี งวงช้าง” แรงงานไทยในอิสราเอลชาวขอนแก่นเปิดใจข้ามทวีปถึงเหตุผลที่ยังไม่กลับไทยแม้ทางรัฐบาลจะขอร้องเพราะมั่นใจในมาตรการดูแลประชาชนของรัฐบาลอิสราเอล-ที่ทำงานห่างจากพื้นที่สู้รบ ที่สำคัญอยากทำงานเก็บเงินใช้หนี้ให้หมดหลังจากนั้นจะเก็บเป็นเงินทุนสร้างเนื้อสร้างตัว หากกลับไทยตอนนี้จะไม่มีเงินใช้หนี้และหางานเงินเดือนสูงๆ ไม่มีให้ทำ


นายโชคดี งวงช้าง หรือแตงโม เป็นหนึ่งในจำนวนแรงงานไทยชาวจังหวัดขอนแก่น กว่า 500 คน ที่แจ้งความประสงค์ไม่เดินทางกลับประเทศไทย แม้ว่าในห้วงนี้ยังมีการสู้รบระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส ปาเลสไตน์ โดยนายแตงโมเล่าว่า ตนเป็นชาวบ้านหนองหญ้าม้า ต.ห้วยแก อ.ชนบท จ.ขอนแก่น เดินทางไปทำงานที่ประเทศอิสราเอลได้ 2 ปีแล้ว ทำงานตามโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลอิสราเอล เพื่อจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานภาคเกษตร หรือโครงการ TIC

ลักษณะงานที่ทำเป็นการผลิตและดูแลพืชอวบน้ำ เช่น สับปะรดสี กุหลาบหิน และพืชที่เป็นไม้ประดับขนาดเล็ก ของบริษัทแห่งหนึ่ง มีพนักงานรวม 5 คน ประกอบด้วยเพื่อนที่เป็นชาวยิว 2 คน ชาวอาหรับ 2 คน และตนเองเป็นคนไทยคนเดียว สถานที่ทำงานอยู่ในภาคกลางของประเทศอิสราเอล ใกล้กับเมืองริชอนเลซิออน ห่างจากชายแดนกาซาประมาณ 70 กม.

เขาบอกว่าในช่วง 2 ปีที่ทำงานอยู่ที่นั่น จำได้ว่ามีจรวด หรือที่ชาวท้องถิ่นเรียกว่า “ล็อกเก็ต” บินข้ามเขตที่อาศัยอยู่ประมาณ 3 ครั้ง แต่ภายหลังจากเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อวันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา มีจรวดบินข้ามเขตที่อาศัยอยู่มากขึ้นหลายเท่า จากทางการข่าวตนเองทราบว่าเป้าหมายของจรวดที่พุ่งมาคือสนามบินและเมืองเทลอาวีฟ ซึ่งพื้นที่ที่ตนเองทำงานอยู่อยู่กึ่งกลางพอดี เมื่อจรวดถูงยิงมาจากฝ่ายตรงข้ามของทางการอิสราเอลก็จะมี “Iron Dome” ซึ่งเป็นระบบป้องกันขีปนาวุธเหนือน่านฟ้าของอิสราเอลขึ้นไปชนกับจรวดที่ยิงมาจนเกิดเสียงดังสนั่นตกลงมาในพื้นที่ใกล้กับที่ทำงานอยู่ก็มี

นายโชคดีบอกว่า การใช้ชีวิตอยู่ที่นี่เรียบง่าย คนอีสานอยู่กันเยอะ มีรถขายอาหารคล้ายๆ กับรถพุ่มพวงในบ้านเรา แต่เป็นรถตู้จะวิ่งมาขายเดือนละครั้ง เราก็ซื้อของตุนเอาไว้ นอกจากนี้ในหมู่บ้านที่อาศัยอยู่ก็จะมีร้านค้าชุมชนที่แบ่งโซนอาหารไทยและอาหารบ้านเขาไว้อย่างชัดเจน แม้ขณะนี้จะอยู่ในภาวะสงครามแต่ก็ยังมีการใช้ชีวิตและซื้อขายสินค้ากันตามปกติ ไม่ได้กระทบการใช้ชีวิตมากนัก จะกระทบเฉพาะในเวลาการทำงานและรายได้ที่เมื่อมีจรวดยิงมาเหนือน่านฟ้าในช่วงเวลาประมาณหลังบ่าย 2 ตามเวลาในประเทศอิสราเอล ทุกวัน ซึ่งนายจ้างห่วงความปลอดภัยของเรา ที่เมื่อมีจรวดยิงมาหรือมีเสียงไซเรนแจ้งเตือน

กว่าที่เราจะวิ่งเข้าโดมเพื่อหลบภัยได้ก็อาจจะไม่ทันการณ์ ทำให้ในช่วงนี้นายจ้างจึงไม่ให้เราทำงานล่วงเวลา หรือทำโอที ทำให้รายได้เราน้อยลงในช่วงภาวะสงครามเช่นนี้ จากปกติงานถึง 5 โมงเย็น ก็ต้องเลิกงานบ่าย 2 แทน ในช่วงเกิดการสู้รบแรกๆ ระหว่างวันที่ 7-9 ต.ค. เสียงไซเรนจะดังวันละไม่ต่ำกว่า 3-4 ครั้ง ซึ่งในระหว่างทำงานไปก็ต้องหวาดระแวงอยู่ตลอด เพราะไม่เคยเจอเหตุการณ์ที่รุนแรงเช่นนี้มาก่อนตั้งแต่มาทำงานที่นี่ และทุกครั้งที่เสียงไซเรนดังขึ้นเราก็ต้องวิ่งหลบเข้าที่ปลอดภัย ทำให้ใจสั่น หวาดกลัว และระแวงว่าจะมีกลุ่มติดอาวุธมายิงเราหรือไม่ เพราะเราเห็นภาพ เห็นคลิปคนไทยถูกยิงเสียชีวิต ทำให้มีอาการจิตตกในช่วงแรกๆ

“หลังเลิกงานต้องรีบกลับเข้าห้องพัก ปิดไฟ ปิดหน้าต่างมิดชิด เพราะกลัวว่าจะถูกบุกทำร้าย อีกทั้งในพื้นที่ที่อาศัยอยู่อยู่ใกล้กับทะเล ซึ่งกลุ่มฮามาสอาจจะบุกมาทางนั้นก็ได้ แต่ตอนนี้เริ่มปรับตัวได้แล้ว หลังจากที่ต้องคอยวิ่งเข้าที่ปลอดภัยทุกวัน จนกลายเป็นความเคยชินและสัญชาตญาณที่เมื่อได้ยินเสียงไซเรนก็ต้องวิ่งโดยอัตโนมัติ” นายโชคดีเล่าได้อย่างเห็นภาพ

แฟ้มภาพ
ต่อคำถามที่ว่า ตลอดทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมาทางรัฐบาล หรือแม้กระทั่งทางผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นได้ออกมาวิงวอนให้พี่น้องแรงงานไทยในอิสราเอลเดินทางกลับมาประเทศไทยก่อนเพื่อความปลอดภัย เพราะการสู้รบในอิสราเอลส่อบานปลายและขยายวงกว้าง ซึ่งนายโชคดีตอบว่า ในความเห็นส่วนตัว ซึ่งไม่รู้ว่าคิดถูกหรือคิดผิด แต่มองว่าแม้ในเขตที่ตนเองอาศัยอยู่จะยังมีอันตราย แต่ตนก็ยังไม่อยากกลับบ้าน เพราะ 1. มีความมั่นใจในขีดความสามารถของทางการอิสราเอล เพราะเมื่อวันที่ 7 ต.ค. เขาพลาดมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่เชื่อว่าเขาจะไม่พลาดอีก 2. สำหรับแรงงานไทยคนอื่นๆ ที่ยังไม่กลับไทย เพราะพื้นที่ที่อาศัยอยู่ไม่ได้อยู่ใกล้กับพื้นที่สู้รบ

ซึ่งในประเด็นนี้สื่อเองก็ไม่ได้มีการให้ข้อมูลว่าในประเทศอิสราเอลมีเมืองไหน พื้นที่ใดที่เป็นพื้นที่ปลอดภัยหรือห่างไกลจากการสู้รบ หรือพื้นที่ใดในกาซาที่ไม่มีแรงงานไทยไปทำงานหรืออาศัยอยู่ รวมทั้งการรายงานว่ามีคนไทยเสียชีวิตเพิ่ม แต่ในความเป็นจริงไม่ใช่การเสียชีวิตเพิ่ม แต่เพิ่งระบุตัวตนของผู้เสียชีวิตว่าเป็นคนไทยได้เท่านั้น จึงทำให้ครอบครัวของแรงงานไทยที่อยู่ประเทศไทยรู้สึกกลัวและเป็นห่วงเรา ยิ่งทางการไทยออกมาวิงวอนให้แรงงานไทยกลับประเทศ แล้วเราไม่กลับ ก็จะถูกมองว่าเราดื้อ เราหวังแค่เงิน 3. แรงงานไทยบางคนเพิ่งมาทำงาน หากกลับไปแล้วหนี้สินที่กู้ยืมมาเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาทำงานที่อิสราเอลก็ยังไม่หมด แม้ว่าทางรัฐบาลไทยบอกว่าจะช่วยเหลือ แต่แรงงานไทยหลายคนมีหนี้สินก่อนหน้านั้นก็มี

4. หากกลับไปประเทศไทยแล้ว สงครามไม่จบลงง่ายๆ กินเวลาหลายเดือน จนถึงขั้นโครงการ TIC ถูกยกเลิก จะทำให้แรงงานไทยกลับไปทำงานในที่เดิมไม่ได้อีก และ 5. มีความผูกพันและเห็นใจนายจ้าง เพราะในช่วงไม่มีสงครามนายจ้างก็ดูแลช่วยเหลือทุกอย่าง พอเกิดสงครามขึ้นมาแล้วจะทิ้งนายจ้างกลับไทย จึงทำใจได้ยาก

นายโชคดีกล่าวต่อว่า ไม่รู้อนาคตว่าสงครามจะรุนแรงหรือขยายวงกว้างขนาดไหน แต่เราอยู่ที่นี่เรามองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 7 จนมาถึงวันนี้ ในพื้นที่ที่เราอาศัยอยู่มันดีขึ้นตามลำดับ เราดูข่าวที่เขาขู่มาหลายอย่างมันก็เป็นแค่คำขู่ เช่น หากทางการอิสราเอลบุกโจมตีกลุ่มฮามาส ก็จะมีการสังหารตัวประกัน หรือแม้กระทั่งคำขู่ที่ว่าจะยิงนิวเคลียร์ถล่มประเทศ ซึ่งคนที่อยู่ที่ประเทศไทยอาจจะเป็นห่วง แต่มั่นใจว่าทางการอิสราเอลมีวิธีการรับมือและป้องกันอยู่แล้ว อีกทั้งพื้นที่ที่มีการไล่ยิงกัน ขณะนี้ก็มีแรงงานไทยกลับเข้าไปทำงานตามเดิมแล้ว

แฟ้มภาพ
ส่วนเพื่อนแรงงานไทยส่วนหนึ่งที่ตัดสินใจเดินทางกลับประเทศไทยก่อน จากการสอบถามทราบว่าทางครอบครัว พ่อแม่ ญาติพี่น้องที่อยู่ประเทศไทยที่ดูข่าวสงครามในอิสราเอลแล้วเป็นห่วง แรงงานไทยบางคนไม่ได้เล่นโซเชียล จะทราบข่าวสารต่างๆ ทางโทรทัศน์ ก็จะเห็นการรายงานข่าวความรุนแรงต่างๆ จึงตัดสินใจเดินทางกลับ

สำหรับตนเองแล้ว แม้ท้ายที่สุดจะเกิดความรุนแรงขึ้นกับตนเองจนถึงขั้นเสียชีวิต แต่คิดว่าอย่างน้อยคนที่รออยู่ข้างหลังอย่างพ่อแม่เราก็ไม่ต้องลำบาก อย่างน้อยก็ได้เงินช่วยเหลือจากทางการอิสราเอลเดือนละ 40,000 บาท หากได้รับบาดเจ็บก็มีเงินชดเชยเยียวยา หากตัดสินใจผิดพลาด อย่างน้อยก็มีหลักประกันว่าคนที่รอเราข้างหลังจะไม่ลำบาก ตนเองตั้งใจว่าจะทำงานเก็บเงินในประเทศอิสราเอล อีก 3-4 ปี เพราะถึงตอนนั้นอายุก็จะ 40 ปี และแม่ก็อายุมากขึ้นแล้วก็ต้องกลับไปดูแลท่าน

เวลาที่เหลืออยู่ตามที่ตั้งใจไว้ 3-4 ปีข้างหน้าก็จะเก็บเงินใช้หนี้ให้หมด เพราะก่อนเดินทางมาทำงานที่ประเทศอิสราเอล ตนมีหนี้สินจากการไปกู้ยืมเงินมารักษาแม่ที่ล้มป่วยเป็นเงินเกือบ 700,000 บาท ตั้งแต่มาทำงานที่นี่ก็สามารถชดใช้หนี้สินไปได้มาก เหลือหนี้ที่กู้มาอยู่ประมาณแสนกว่าบาท หากหมดหนี้แล้วและมีเงินสักก้อนก็ตั้งใจว่าจะกลับไปอยู่บ้านเกิดที่ อ.ชนบท จ.ขอนแก่น ซื้อวัว ควายมาเลี้ยง และทำการเกษตร

“แม้ว่าผมจะรู้สึกผูกพันกับประเทศอิสราเอล ซึ่งเป็นประเทศที่ดีในมุมของผม เป็นประเทศที่ให้อิสระเพศที่สาม ให้อิสระทางความคิด และเงินค่าตอบแทนการทำงานก็สูง แต่ท้ายที่สุดเราก็จะต้องกลับบ้านเพื่อไปดูแลพ่อและแม่ที่เราจากมานาน อยู่ที่ไหนก็ไม่เหมือนบ้านที่เราเกิด” นายโชคดีบอก


กำลังโหลดความคิดเห็น