“เศรษฐา” สั่งเฟ้นหาทุกช่องทางช่วยคนไทยกลับบ้าน พร้อมประสานประเทศที่สามพักชั่วคราว เพื่อความรวดเร็วนำออกจากพื้นที่เสี่ยง วอนสายการบินเอกชนช่วยกัน เตรียมคุยทูตอิสราเอลพรุ่งนี้ หลังคนไทยร้องถูกบังคับทำงานช่วงสงคราม ขอญาติเข้าใจนำศพกลับบ้าน รัฐช่วยเต็มที่
วันนี้ (12 ต.ค.) เวลา 17.50 น. ที่กระทรวงการต่างประเทศ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง แถลงภายหลังเป็นประธานการประชุมเพื่อเตรียมการอพยพคนไทยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในรัฐอิสราเอล ครั้งที่ 5/2566 ว่า ตนเดินทางกลับจากต่างประเทศถึงท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 ดอนเมือง ก็เดินทางมาประชุมที่กระทรวงการต่างประเทศทันที เพราะมีความกังวลถึงความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและทางฮามาส ซึ่งขยับความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยมีพี่น้องชาวไทยอยู่ในเขตอันตรายแสดงเจตจำนงมาแล้วประมาณ 6,000 คน และวันนี้เป็นนิมิตหมายอันดีที่ได้กลับเข้ามาล็อตแรก แต่ยังมีอีกเยอะมาก ซึ่งเราต้องลำเลียงกลับเข้ามา แต่มีความเข้าใจดีถึงความเป็นห่วงเป็นใยญาติพี่น้องและความกังวลของผู้ที่อยู่ในจุดนั้น ซึ่งมีหลายเรื่องหลายปัญหา
นายกฯ กล่าวว่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบินที่จะบินเข้าไป ซึ่งปัจจุบันนี้วันๆ หนึ่ง เราได้ไม่ถึง 1 ไฟลต์ จึงได้มีการพูดคุยกันว่าทางกองทัพบกและกองทัพอากาศ จะเอา c130 และแอร์บัส A340 เริ่มบินเข้าไป โดยวันแรกจะออกจากที่นี่ในวันที่ 14 ตุลาคม ซึ่งจะมีคนไทยเดินทางกลับเข้ามาประมาณ 140 คน และมีการขนเสบียงไปให้ด้วย แต่ตนได้สั่งการไปว่าลำเดียวไม่พอและมีอีกทีในวันที่ 20 ตุลาคม กว่าๆ นั้น มันเป็นอะไรที่น้อยมากและช้ามาก ในที่ประชุมเห็นร่วมกันว่าให้มีการสั่งการเตรียมตั้งแต่วันนี้ไปจะมีให้เครื่องบินพร้อมตั้งแต่วันนี้ โดยที่นกแอร์จะมีให้ 2 ลำ และแอร์เอเชีย มีให้ 2 ลำ ส่วนการบินไทย 13 ตุลาคม จะให้คำตอบว่าจะมีให้ได้หรือไม่ ซึ่งจริงๆ แล้วในบางเรื่องที่เราคิดว่าบินออกไปได้เลยมันไม่ใช่ เพราะจะเป็นเที่ยวบินพิเศษต้องมีการผ่านน่านฟ้าถึง 10 ประเทศ ซึ่งในอดีตในวาระปกติต้องใช้เวลาประมาณเป็นเดือนกว่าจะขอบินผ่านน่านฟ้าของแต่ละประเทศได้ กระทรวงการต่างประเทศได้ให้ ความกรุณาเร่งขึ้นเป็น 2 วัน แสดงว่า ถ้าวันนี้หากมีการตกลงว่าจะใช้เครื่องบิน บินออกไปจะต้องมีการเจรจาทันที ซึ่งต้องใช้เวลาอย่างเร็วที่สุด 48 ชั่วโมง กว่าจะบินออกได้ จึงได้มีการสั่งการไปว่าขอให้เตรียมความพร้อมเครื่องบินทั้ง 4 ลำนี้ บวกอีกกี่ลำก็ตามจากการบินไทย ตรงนี้ได้มีการสั่งการขอให้เป็นความสำคัญสูงสุด
นายเศรษฐา กล่าวว่า ทูตไทยประจำอิสราเอลได้แจ้งมาว่า ความพร้อมในการที่คนไทยจะพร้อมเดินทางออกมา มีความพร้อมที่จะนำคนไทยออกมาจากจุดเสี่ยงทั้งหลายได้ประมาณวันละ 200 คน จะดันเฉลี่ยแล้ววันละลำ สามารถลำเลียงออกมาได้ หากคิดง่ายๆ ถ้าวันละลำก็ต้องใช้เวลาอีกประมาณเกือบเดือนกว่าจะลำเลียงออกมาหมด ดังนั้น จะต้องคิดวิธีในการที่จะทำให้รวดเร็วขึ้น มันมีปัญหาเรื่องงานเอกสารซึ่งบางท่านอาจมีพาสปอร์ตที่หายไป จึงได้สั่งการกับทูตไปในเรื่องงานเอกสารให้เป็นเรื่องรอง แต่ให้เรื่องความปลอดภัยสูงสุดเป็นเรื่องสำคัญ โดย นายปานปรีย์ ได้ให้ข้อคิดว่าหากเราไม่ต้องบินจากอิสราเอล บินออกไปที่ไคโรหรือประเทศที่ 3 ที่อยู่ใกล้ๆ เพื่อนำคนไทยออกไปก่อนและเตรียมความพร้อมที่จะขนถ่ายกลับมาอีกที ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะสามารถทำให้เร็วขึ้นได้ ตรงนี้ทางทีมงานกำลังพิจารณากันอยู่
นายเศรษฐา กล่าวว่า แต่ก็มีมุมหนึ่งที่สร้างความยากขึ้นอีกว่าหากไปพักประเทศที่สาม หากไม่มีเอกสารเขาจะให้เข้าประเทศหรือไม่ อันนี้เป็นเรื่องหนึ่งที่มีความละเอียดอ่อนทางการทูตที่เราต้องพิจารณาด้วย ทางเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงกระทรวงการต่างประเทศ ก็จะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปเพิ่ม โดยมีเจ้าหน้าที่จากสถานทูตใกล้เคียง ก็พยายามจะเข้าไปช่วยดำเนินงานทางด้านเอกสาร แต่ยืนยันว่า งานทางเอกสารจะไม่เป็นประเด็นในการที่จะไม่ให้พี่น้องคนไทยกลับมา ตนได้สั่งการไปลำดับสูงสุดในเรื่องการนำพี่น้องกลับมาถือเป็นเรื่องที่สำคัญสุดและทุกหน่วยงานรับทราบ และรัฐมนตรีหลายท่านก็อยู่ในที่ประชุมนี้ด้วย เรื่องการพิจารณาในแง่ของการลำเลียงคนออกมาทางบกก็คิดอยู่ แต่ก็เจอปัญหาใหญ่เพราะต้องผ่านดินแดนกาซาจึงไม่สามารถผ่านออกมาได้ อย่างไรก็ตาม ยังเฝ้ามอนิเตอร์อยู่ในทางเรือ แต่ก็ต้องมีการเดินทางเส้นทางรถออกมาก่อน ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องคำนึงถึงตลอดเวลา
“วันนี้ก็วิงวอนหากสายการบินเอกชนไหนที่พอจะช่วยได้ มีเครื่องบินเหลืออยู่ก็หวังว่าคงจะมาร่วมด้วยช่วยกันตรงนี้ และกระทรวงการต่างประเทศก็พร้อมที่จะประสานบินผ่านน่านฟ้าในหลายประเทศ เพราะถือเป็นภาวะสงคราม ยืนยันว่า สถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น แต่ทางรัฐบาลให้ความเป็นห่วงและสำคัญอย่างยิ่งสำหรับเรื่องนี้” นายเศรษฐา กล่าว
เมื่อถามถึงความพยายามในการเจรจาขอปล่อยตัวประกันแรงงานคนไทย นายกฯ กล่าวว่า มีความพยายามในการเจรจาทุกช่องทางที่ทำได้ ซึ่งเป็นเรื่องของความมั่นคง ขออนุญาตไม่เผยแพร่ แต่ขอให้มั่นใจว่าเราเจรจาทุกช่องทาง
เมื่อถามย้ำว่า ถือเป็นสัญญาณบวกใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า เรามีความหวัง ต้องพยายาม ต้องกดดัน เพราะเราเป็นประเทศที่ไม่ได้อยู่ในความขัดแย้ง และต้องยอมรับว่า ถ้าดูตารางผู้เสียชีวิตทั้งหมดเป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจ ว่า ประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศที่ขัดแย้ง แต่กลับมีความสูญเสีย 20 กว่ารายแล้ว เชื่อว่า หลายประเทศก็ให้ความเห็นใจ ในเรื่องของการที่จะได้รับการอำนวยความสะดวกจากหลายประเทศในการขอผ่านน่านฟ้า เราก็ขอวิงวอนและขอยืนยันว่าเราทำเต็มที่
เมื่อถามต่อว่า เครื่องบินการบินไทยมีข้อติดขัดอะไรที่ยังไม่สามารถระบุจำนวนเครื่องบินว่าจะส่งไปได้จำนวนเท่าไหร่ นายกฯ กล่าวว่า ก็น่าเห็นใจการบินไทย เพราะเขาไม่มีเครื่องบินไปประเทศอิสราเอล ซึ่งเป็นเรื่องของงานเอกสารมากกว่าเรื่องเครื่องบินที่ถูกประกันไว้ แต่เขาอาจจะช่วยอีกทางหนึ่งโดยไม่ต้องไปบินลงกรุงเทลอาวีฟ แต่ไปบินลงประเทศใกล้เคียง และให้สายการบินอื่น บินออกมาและเราไปรับจากที่นั่น ซึ่งตนเชื่อว่า การบินไทยมีความตระหนักดีถึงความเดือดร้อนของแรงงานทุกคน ซึ่งเมื่อสักครู่ตนก็มีการสั่งการทางอ้อม เพราะสั่งทางตรงไม่ได้ จึงสั่งการทางอ้อมว่าให้คำนึงถึงเรื่องนี้เป็นพิเศษ ซึ่งดูในที่นี้แล้วรัฐมนตรีหลายท่านก็หน้าอิดโรยพอสมควร เรื่องนี้เป็นเรื่องของแรงบันดาลใจที่เรามีคนติดอยู่ที่นั่น 5,000 คน ที่ต้องการความช่วยเหลืออยู่ ซึ่งตนเชื่อว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) รัฐบาลและกระทรวงต่างประเทศทำงานอย่างเต็มที่
เมื่อถามว่า เจ้าหน้าที่ทูตที่ส่งไปเพิ่มเติมมีหน้าที่หลัก คือ ช่วยเหลือคนไทยในอิสราเอลใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า หน้าที่หลักคือ หน้าที่ในการช่วยเหลือเบื้องต้นให้คนไทยออกมาโดยเร็วที่สุด ปลอดภัยที่สุด เพราะการเดินทางในประเทศอิสราเอลยังไม่ปลอดภัย ถนนหลายสายถูกบล็อก ซึ่งจะต้องมีการเชื่อมต่อและพูดคุยระหว่างหน่วยงานความมั่นคงให้อำนวยความสะดวกให้ ทุกฝ่าย และผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) ก็พยายามอย่างเต็มที่
เมื่อถามว่า ความคืบหน้า ผบ.ทสส. ได้ประสานขอกำลังจากประเทศอิสราเอล เพื่อช่วยลำเลียงคนไทยในอิสราเอลทางรถยนต์อย่างไรบ้าง นายกฯ กล่าว่า ทุกหน่วยงานกำลังดำเนินการอยู่ ซึ่งทูตได้ประสานมาว่า เริ่มมีสัญญาณที่ดี เรื่องหนึ่งที่ตนเชื่อว่าญาติผู้สูญเสียก็มีความกังวล ว่า เมื่อไหร่จะรับศพกลับมาเพื่อบำเพ็ญกุศล ทั้งนี้ รัฐบาลและกระทรวงการต่างประเทศไม่ได้นิ่งนอนใจ เรามีความพยายามอย่างเต็มที่ และเมื่อสักครู่ก็ได้พูดคุยกับทูต ซึ่งทูตก็บอกว่าก็เร่งและกดดันทางอิสราเอลอยู่ และเรื่องของการชันสูตรศพ รวมถึงเรื่องเงินชดเชย ซึ่งการเสียชีวิตในภาวะสงครามประเทศอิสราเอลจะมีเงินชดเชยให้ส่วนหนึ่ง แต่ถ้าเรานำศพกลับมาก่อนโดยที่ไม่มีการออกหลักฐาน อาจจะเคลมเงินได้ช้า ยืนยันว่า กระทรวงการต่างประเทศ ดูครบทุกมิติ เราพยายามทำให้ดีที่สุด
เมื่อถามว่า ในวันที่ 13 ต.ค.นายกฯหารือกับ น.ส.ออร์นา ซากิฟ เอกอัครราชทูตรัฐอิสราเอลประจำประเทศไทย ที่ทำเนียบรัฐบาล จะมีการพูดคุยในประเด็นใดเป็นพิเศษเพิ่มเติมหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ก็ต้องขอความเห็นใจ ซึ่งการพูดคุยจะพูดคุยว่าเราต้องการความช่วยเหลือด้านไหนบ้าง อย่างที่บอกว่าเราไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง และเรามีความสูญเสียสูงที่สุด ไม่ว่าจะเรื่อง การลำเลียงศพออกมา หรือการเจรจาเรื่องตัวประกัน และเรื่องการลำเลียงแรงงานไทยที่ต้องการกลับประเทศ ไปอยู่ในสถานที่ที่ปลอดภัยและไปถึงสนามบินให้เร็วที่สุด รวมถึงเรื่องการเปิดน่านฟ้าให้เครื่องบินบินเข้าได้ ทั้งนี้ จะพูดคุยในทุกเรื่องและคงมีการพูดคุยเจรจากัน ตนเชื่อว่า ความลำบากความสูญเสียและความรุนแรง ทุกคนทราบอยู่แล้วว่าไม่มีใครอยากให้เกิด และพยายามแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธีและรวดเร็วที่สุด
เมื่อถามอีกว่า ได้ประสานสายการบินของประเทศอิสราเอลหรือไม่ เพราะวันนี้ 15 คนไทยที่เดินทางกลับเดินทางด้วยเครื่องบินสายการบินของอิสราเอล ที่มีการติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธ นายกฯ กล่าวว่า วันนี้ก็มีการพูดคุยกัน และอิสราเอลก็มีเครื่องบินของเขาที่ไปเอาคนกลับมาจากต่างประเทศ และกลับออกไปใหม่จังหวะที่กลับออกไปใหม่นั้น ก็เป็นอีกทางเลือกที่อาจจะให้คนไทยบินออกไปประเทศที่เขาจะไปรับคนของเขา และเราส่งเครื่องบินไปรับในประเทศที่ไม่อันตราย ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ทางกระทรวงการต่างประเทศกำลังพิจารณาอยู่ ซึ่งสิ่งที่เราภาวนาอยู่คือไม่อยากให้ สถานการณ์เลวร้ายไปกว่านี้ หรืออย่างน่านฟ้าปิดหรือมีสถานการณ์รุนแรงเกิดขึ้นมากกว่าที่เป็นอยู่ เพราะปัจจุบันมันก็แย่อยู่แล้ว
เมื่อถามว่า มีคนไทยอยู่ในพื้นที่สีแดงในอิสราเอล หลายคนแจ้งมาว่าถูกนายจ้างบังคับทำงานท่ามกลางสถานการณ์ที่แย่ นายกฯ กล่าวว่า แรงงานไทยที่อยู่ในพื้นที่สีแดง ที่ถูกนายจ้างบังคับให้ทำงาน เขาร้องเรียนมา และในวันที่ 13 ต.ค.ก็จะมีการพูดคุยกันในเรื่องนี้ เพราะเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่สำคัญในเรื่องของสิทธิมนุษยชน และควรคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ซึ่งต้องพูดคุยให้ชัดเจน เพื่อให้ช่วยกันอย่างเต็มที่ ยืนยันว่า จะทำให้ดีที่สุดเท่าที่สามารถทำได้ และสั่งการขั้นสูงสุดว่าเรื่องการอพยพคนไทยเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด เรื่องเอกสารเป็นเรื่องรอง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 13 ต.ค. เวลา 08.45 น. นายกรัฐมนตรี มีกำหนดการหารือกับ นางสาวออร์นา ซากิฟ เอกอัครราชทูตรัฐอิสราเอลประจำประเทศไทย ที่ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล
ด้าน นายจักรพงษ์ แสงมณี รมช.ต่างประเทศ เปิดเผยว่า วันที่ 13 ต.ค.ทางกระทรวงการต่างประเทศ จะมีการเชิญ 3 ตัวแทนสายการบินพาณิชย์ ทั้ง การบินไทย แอร์เอเชีย นกแอร์ มาพูดคุยเพื่อขอเพิ่มสายการบินในการรับคนไทยในอิสราเอลกลับประเทศไทย ซึ่งคาดว่า จะมีข่าวดี ซึ่งเราจะต้องเร่งนำคนไทยกลับมาให้เร็วที่สุด เป็นไปตามที่นายกรัฐมนตรีได้กล่าวไว้ คือ ถ้าเป็นไปได้จะนำไปพักไว้ที่ประเทศที่สาม แต่อาจจะต้องมีการประสาน แต่เนื่องจากเรื่องของเอกสารอาจจะมีไม่ครบ จะเป็นปัญหาได้ อย่างไรก็ตาม กระทรวงการต่างประเทศได้ส่งเจ้าหน้าที่จากส่วนกลางและบริเวณโดยรอบอิสราเอลไปเพิ่มอีกประมาณ 20 ราย รวมทั้งบุคลากรได้มีการจ้างบุคลากรท้องถิ่น เพื่อไปช่วยอำนวยความสะดวกของเอกสารให้กับคนไทย