xs
xsm
sm
md
lg

ครูโคราชชี้อัดงบ 200 ล้านให้ครูกู้ใช้หนี้ไม่ช่วยอะไร เป็นวิธีเดิมๆแก้ปลายเหตุ แนะเพิ่มบำนาญ-คืนเงิน ชพค.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวนครราชสีมา- ครูในโคราชชี้ กคศ.อัดงบ 200 ล้าน ให้ครูกู้ใช้หนี้ เป็นวิธีเดิมๆแก้ปัญหาปลายเหตุไม่ได้ผล เสนอเพิ่มเงินบำนาญและคืนเงิน ชพค. 60% ช่วยแบ่งเบาภาระปัญหาหนี้สินแม่พิมพ์ได้มากกว่า

วันนี้ ( 28 ต.ค.) จากกรณีที่ รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการ ก.ค.ศ. เปิดเผยถึงกรณีที่คณะกรรมการบริหารเงินทุนหมุนเวียนเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครู ได้อนุมัติจัดสรรงบประมาณเงินให้กู้ยืมของเงินทุนหมุนเวียนเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครู จำนวน 200,000,000 บาท ให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ กู้ยืมตามหลักเกณฑ์และวิธีการให้กู้ยืมเงินทุนหมุนเวียนฯ พ.ศ.2565 โดยเปิดโอกาสให้กับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่ดำรงตำแหน่งครู, รอง ผอ.รร./ผอ.รร., รอง ผอ.สพท./ผอ.สพท. และศึกษานิเทศก์ ที่รับราชการมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี และไม่เป็นผู้ที่อยู่ระหว่างถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย ไม่เป็นผู้ที่ถูกฟ้องร้องคดีล้มละลาย หรือมีคำสั่งศาลให้พิทักษ์ทรัพย์ สามารถกู้ยืมเงินคนละไม่เกิน 500,000 บาท ในอัตราร้อยละ 4 ต่อปี ผ่อนชำระคืนภายใน 12 ปี (144 งวด) โดยสามารถยื่นคำขอกู้ยืมได้ที่ต้นสังกัด เช่น สพป. หรือ สพม. ภายในวันที่ 27 พ.ย.2566 นั้น


ล่าสุดผู้สื่อข่าวสอบถามครูในพื้นที่ จ.นครราชสีมา ถึงกรณีดังกล่าว นางวิไลลักษณ์ ชาญสูงเนิน อายุ 58 ปี ครูโรงเรียนบึงคำคู ต.บัลลังก์ อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า การอนุมัติเงินงบประมาณเพื่อมาช่วยเหลือแก้ไขปัญหาหนี้สินครูในลักษณะเช่นนี้เคยมีการทำมาก่อนแล้ว แต่ไม่ได้ผลเพราะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุมากกว่า เนื่องจากการให้กู้เงิน 500,000 บาท แม้ดอกเบี้ยต่ำ แต่จะมีข้อแม้มากมาย โดยเฉพาะเรื่องของอายุราชการที่จะเกี่ยวพันกับระยะเวลาชำระหนี้ ซึ่งครูที่ใกล้เกษียณอายุราชการแล้วจะมีเวลาส่งชำระหนี้เหลือน้อยแล้ว ถ้าหักเงินส่งชำระหนี้มากครูก็ไม่สามารถหาเงินมาส่งได้


ทั้งนี้ไม่อยากให้คนมาซ้ำเติมครูที่เป็นหนี้ เนื่องจากครูส่วนใหญ่มีภาระที่แตกต่างกัน บางคนต้องแบ่งเงินมาช่วยเหลือเจือจุนพ่อ แม่ ญาติ พี่ น้อง และด้วยความที่อาชีพครู สถาบันการเงินต่างๆ ก็จะให้กู้ง่าย กู้ได้หมด ยกเว้นแต่กับระเบิด ดังนั้นจึงพากันไปกู้เงินกับสถาบันการเงินกันเป็นจำนวนมาก จนลืมไปว่าเป็นการเพิ่มภาระให้ตนเอง มารู้อีกทีก็ตอนใกล้เกษียณอายุราชการแล้ว ซึ่งหลังจากเกษียณอายุราชการแล้ว เงินเดือนก็หาย เหลือแต่เงินบำนาญ ทำให้ไม่มีกำลังส่งเงินชำระหนี้ จนกลายเป็นปัญหาดังที่เห็นอยู่ในขณะนี้


นางวิไลลักษณ์ กล่าวอีกว่า ตนเองอยากฝากถึงผู้มีอำนาจ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ถ้าหากอยากจะช่วยเหลือแก้ไขปัญหาหนี้สินครูอย่างจริงจัง ก็ขอให้ช่วยใน 2 เรื่อง คือ เรื่องที่ 1 ช่วยเพิ่มเงินบำนาญให้ข้าราชการครูที่เกษียณอายุไปแล้ว เพราะเมื่อเกษียณอายุแล้วเงินเดินจะเหลือน้อยมาก ไม่พอนำไปชำระหนี้แน่นอน ถ้าได้เงินบำนาญเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย ก็น่าจะพอช่วยได้ในระดับหนึ่ง, เรื่องที่ 2 อยากให้พิจารณาเพิ่มเงิน ช.พ.ค. ซึ่งปัจจุบัน ช.พ.ค.ของครูได้ประมาณ 9 แสนกว่าบาท แต่ถ้าเพิ่มให้ได้สักประมาณ 1 ล้านกว่าบาท แล้วคืนเงิน ช.พ.ค.ให้กับครูที่เกษียณอายุราชการ ประมาณ 60% โดยไม่ต้องคิดดอกเบี้ย ที่เหลืออีก 40% ก็ค่อยแบ่งไว้กรณีเสียชีวิตเพื่อให้ลูกหลานได้จัดการศพตามความเหมาะสมต่อไป

นางวิไลลักษณ์ ชาญสูงเนิน อายุ 58 ปี ครูโรงเรียนบึงคำคู อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา


กำลังโหลดความคิดเห็น