นายอนุรักษ์ นิยมเวช
กรรมการผู้จัดการบริษัท กฎหมายธุรกิจอนุรักษ์ จำกัด
anurak@anurakbusinesslaw.com
ปัจจุบันเรายังคงพบอยู่เสมอว่ามีบุคคลหรือบริษัทที่เป็นมิจฉาชีพทำการโฆษณาชักชวนประชาชนผ่านช่องทางต่างๆ โดยเฉพาะทางออนไลน์ เพื่อจูงใจให้เข้าร่วมลงทุนในธุรกิจต่างๆ ตามแต่จะอ้าง โดยล่อใจว่าจะให้ผลตอบแทนกลับคืนที่สูงเกินจริงในลักษณะที่เรียกกันว่าแชร์ลูกโซ่ กล่าวคือ ผู้ชักชวนจะใช้วิธีเงินจากผู้ร่วมลงทุนรายใหม่ๆ ไปหมุนจ่ายคืนผู้ร่วมลงทุนรายแรกๆ เพื่อล่อลวงให้มีผู้เข้ามาร่วมลงทุนมากขึ้นๆ โดยมิได้มีการประกอบกิจการตามที่อ้างจริง ซึ่งแน่นอนว่าสุดท้ายแล้ววงจรดังกล่าวย่อมขาดสะบั้นลงในที่สุด และมิจฉาชีพเหล่านั้นก็จะหอบเงินหนีหายไป
การกระทำดังกล่าวย่อมเป็นการฉ้อโกงประชาชน อันเข้าข่ายเป็นความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 ซึ่งตามกฎหมายดังกล่าวได้กำหนดลักษณะความผิดฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนไว้ครอบคลุมการกระทำในการโฆษณาชักชวนหรือประกาศต่อประชาชนโดยให้สัญญาว่าจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนในอัตราที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้ตามกฎหมาย โดยที่ตนรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าตนจะนำเงินจากผู้ให้กู้ยืมรายนั้นหรือรายอื่นมาจ่ายหมุนเวียนให้แก่ผู้ให้กู้ยืมเงิน หรือโดยที่ตนรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าไม่สามารถประกอบกิจการใดๆ โดยชอบด้วยกฎหมายที่จะให้ผลประโยชน์ตอบแทนพอที่จะนำมาจ่ายในอัตรานั้นได้ ทั้งนี้ ผลประโยชน์ตอบแทนดังกล่าวไม่จำเป็นตัวเงิน แต่อาจเป็นทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นใดก็ได้ และไม่ว่าจะจ่ายในลักษณะดอกเบี้ย เงินปันผล หรือลักษณะอื่นใดก็ตาม
สำหรับประชาชนที่ถูกชักชวนในลักษณะดังกล่าวจนถึงขั้นเข้าร่วมลงทุนหรือให้กู้ยืมเงินหรือทรัพย์สินใดๆ ไป ก็ย่อมมีฐานะเป็นผู้เสียหายที่สามารถแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิดดังกล่าวได้ โดยเมื่อพนักงานอัยการได้ฟ้องคดีอาญาในฐานความผิดดังกล่าว กฎหมายข้างต้นก็เปิดช่องให้ผู้เสียหายอาจร้องขอให้พนักงานอัยการเรียกต้นเงินคืน พร้อมทั้งเรียกผลประโยชน์ตอบแทนตามสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายให้แก่ตนก็ได้ โดยดำเนินการไปตามบทบัญญัติว่าด้วยการฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
เพื่อเป็นการคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนที่เป็นผู้เสียหาย กฎหมายดังกล่าวยังได้ให้อำนาจแก่พนักงานอัยการในการฟ้องผู้ต้องหาเป็นบุคคลล้มละลายได้โดยถือว่าพนักงานอัยการมีฐานะเสมือนเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ในคดีล้มละลาย หากปรากฏว่าผู้ต้องหามีทรัพย์สินไม่พอชำระหนี้ และเป็นหนี้ผู้ให้กู้ยืมรายหนึ่งหรือหลายรายเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งแสนบาท ซึ่งเป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนแล้ว ไม่ว่าจะถึงกำหนดชำระแล้วหรือไม่ ซึ่งในกรณีนี้ ถ้าศาลพิจารณาได้ความจริงดังกล่าว ก็จะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เพื่อมิให้ผู้กระทำความผิดนั้นมีอำนาจจัดการหรือทำการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินของตน ซึ่งจะเพิ่มโอกาสในการบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของผู้กระทำความผิดเพื่อมาเฉลี่ยชดใช้คืนแก่บรรดาผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าหนี้ต่อไป
นอกจากนี้ ความผิดฐานนี้ยังเป็นความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ซึ่งให้อำนาจ ป.ป.ง. ในการดำเนินมาตรการป้องกันและปราบปรามและดำเนินคดีผู้กระทำความผิดได้อีกทางหนึ่ง