xs
xsm
sm
md
lg

อาชีวเอกชนในขอนแก่นร้อง “เอกราช” กมธ.การศึกษาฯ ไม่ได้รับเงินอุดหนุนรายหัวทำวิทยาลัยหลายแห่งเดือดร้อนหนัก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวขอนแก่น - ตัวแทนผู้บริหารวิทยาลัยอาชีวศึกษาเอกชน 19 แห่งในขอนแก่นเข้าร้องเรียน เอกราช ช่างเหลา กรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร ไม่ได้รับเงินอุดหนุนรายหัวเดือนกันยายน 66 ทำวิทยาลัยหลายแห่งเดือดร้อน ไม่มีเงินจ่ายเงินเดือนอาจารย์ เจ้าหน้าที่ ด้านนายเอกราชรับปากจะประสานงานเคลียร์ปัญหาให้เร็วที่สุด

ดร.ปกรณ์ ขันซ้อน ผอ.วิทยาลัยเทคโนโลยีอมตะ อ.หนองสองห้อง
สายวันนี้ (15 ต.ค.) ที่สำนักงานหมู่บ้านเมืองเอกของนายเอกราช ช่างเหลา ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ในฐานะกรรมาธิการการศึกษาสภาผู้แทนราษฎร ตัวแทนผู้บริหารอาชีวศึกษาเอกชนจังหวัดขอนแก่น นำโดย ดร.ปกรณ์ ขันซ้อน ผอ.วิทยาลัยเทคโนโลยีอมตะ อ.หนองสองห้อง, ผศ.ดร.ดำรงพล ดอกบัว ผอ.วิทยาลัยเทคโนโลยีภูเวียงพาณิชยการ, นายพยัต ชาญประเสริฐ ผู้ก่อตั้งวิทยาลัยเทคโนโลยีพิมพ์ไทยได้เข้าพบ นายเอกราช เพื่อยื่นหนังสือร้องเรียนกรณีผู้อำนวยการสำนักงานอาชีวศึกษาจังหวัดขอนแก่นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบทำให้โรงเรียนเอกชนในระบบ ประเภทอาชีวศึกษาในจังหวัดขอนแก่น 19 แห่ง ไม่ได้รับเงินอุดหนุนรายบุคคลประจำเดือนกันยายน 2566 ส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการของหลายวิทยาลัย

ดร.ปกรณ์ ขันซ้อน ผอ.วิทยาลัยเทคโนโลยีอมตะ อ.หนองสองห้อง จ.ขอนแก่น กล่าวว่า แต่เดิมโรงเรียนเอกชนในระบบประเภทอาชีวศึกษานั้น สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สำนักปลัดกระทรวงศึกษาธิการ โดยศึกษาธิการจังหวัดและกลุ่มส่งเสริมการศึกษาเอกชนประจำจังหวัดเป็นผู้ดูแลโรงเรียนเอกชนในระบบทุกประเภท แต่ในปัจจุบันโรงเรียนเอกชนฯ ได้มาสังกัดอยู่ในสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาตามคำสั่ง คสช.ที่ 8/2559 และยังใช้ พ.ร.บ. โรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 (ฉบับแก้ไข พ.ศ. 2556) อยู่ภายใต้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา โดยสำนักงานอาชีวศึกษาจังหวัดเป็นผู้ได้รับมอบอำนาจ เพื่อให้ดำเนินการส่งเสริม สนับสนุนโรงเรียนเอกชนในระบบประเภทอาชีวศึกษา


ในแต่ละปีงบประมาณ ทางสำนักงานอาชีวศึกษาจังหวัดก็จะทำหน้าที่ตรวจติดตามเงินอุดหนุนรายบุคคลประจำปีการศึกษาทุกปีการศึกษา ซึ่งที่ผ่านมาตลอดระยะเวลาที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานอาชีวศึกษาจังหวัดขอนแก่น ได้รับการปฏิบัติเป็นอย่างดีจากทางผู้อำนวยการสำนักงานอาชีวศึกษาจังหวัดชอนแก่นและเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลโรงเรียนเอกชนประเภทอาชีวศึกษาซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 19 วิทยาลัย แต่เมื่อถึงปีการศึกษา 2566 ได้มีการเปลี่ยนแปลงผู้อำนวยการสำนักงานอาชีวศึกษาจังหวัดขอนแก่น และเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงาน ที่ดูแล กำกับโรงเรียนเอกชนประเภทอาชีวศึกษา โดยผู้ที่เข้ามารับตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานอาชีวศึกษาจังหวัดขอนแก่นคือผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคขอนแก่นคนปัจจุบัน

ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นจากการบริหารงานฯของ ผอ.สำนักงานอาชีวศึกษาจังหวัดขอนแก่นคนปัจจุบัน ภายหลังการตรวจเงินอุดหนุนรายบุคคลสำนักงานอาชีวศึกษาจังหวัดขอนแก่น กลับไม่ลงนามรับรองเงินอุดหนุนรายบุคคลประจำเดือนกันยายน 2566 ทั้ง 19 วิทยาลัย ทำให้ทั้งวิทยาลัยต่างๆ สูญเสียโอกาสในการได้รับเงินอุดหนุนรายบุคคลประจำเดือนกันยายน พ.ศ. 2566 สาเหตุเพราะคณะกรรมการไม่ได้เข้าใจเรื่องราวที่ครูอาจารย์แต่ละแห่งได้พยายามชี้แจงเหตุผลต่างๆ คณะกรรมการก็ไม่ยอมรับรู้ หรือรับฟังแม้แต่น้อย มุ่งแต่จะยึดเอาตามจำนวนนักเรียนที่มาแสดงตนในวันเข้าตรวจนับเพียงอย่างเดียว ทำให้นักเรียนอาชีวศึกษาเอกชนที่ไม่มาเรียนวันนั้นเสียสิทธิการได้รับเงินอุดหนุนรายหัวไป

ดร.ปกรณ์ ขันซ้อน ผอ.วิทยาลัยเทคโนโลยีอมตะ อ.หนองสองห้อง
ดร.ปกรณ์กล่าวว่า จากปัญหาไม่ได้รับเงินอุดหนุนรายบุคคลดังกล่าว เกิดขึ้นเฉพาะจังหวัดขอนแก่น ทำให้วิทยาลัยอาชีวเอกชนของขอนแก่นหลายแห่งประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง ไม่มีเงินจ่ายค่าจ้างอาจารย์ เจ้าหน้าที่ฯ บางแห่งต้องไปกู้ยืมจากสถาบันการเงินมาหมุนเวียน ต้องแบกรับภาระดอกเบี้ยโดยใช่เหตุ ดังนั้นจึงใคร่ขอความอนุเคราะห์ท่านกรรมาธิการการศึกษาสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาดำเนินการเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่วิทยาลัยที่ได้รับผลกระทบจำนวน 19 วิทยาลัย เพื่อให้ได้รับการเยียวยาให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550


ด้านนายเอกราช ช่างเหลา กรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยภายหลังรับเรื่องราวความเดือดร้อนของวิทยาลัยอาชีวะเอกชนจังหวัดขอนแก่นแล้ว กล่าวว่า จะรับข้อร้องเรียนนำไปหารือกับผู้อำนวยการสำนักงานอาชีวศึกษา จังหวัดขอนแก่น ว่าประเด็นปัญหาที่แท้จริงอยู่ตรงไหน มีแนวทางออกแก้ปัญหาได้อย่างไรบ้าง หากสามารถแก้ไขได้ในพื้นที่ก็ไม่ต้องนำประเด็นปัญหานี้เข้าสู่คณะกรรมาธิการฯ คาดว่าน่าจะเคลียร์กันจบในระดับจังหวัด


กำลังโหลดความคิดเห็น