ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - โคราชไข้หวัดใหญ่ระบาดหนัก สูงสุดในอีสานใต้ เผยช่วง 2 เดือนพบผู้ป่วยพุ่งกว่าหมื่นราย สำนักฯ ควบคุมโรคที่ 9 เตือนทุกคนเข้มมาตรการป้องกัน ยังทิ้งมาสก์ไม่ได้
วันนี้ (2 ต.ค.) นพ.ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา (สคร.9) เปิดเผยว่า สถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566-19 กันยายน 2566 มีผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่แล้ว 185,216 ราย และมีผู้เสียชีวิต 1 ราย ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง พบมากที่สุดในกลุ่มอายุ 10-14 ปี รองลงมาคือกลุ่มอายุ 0-4 ขวบ และกลุ่มอายุ 7-9 ขวบ ตามลำดับ
ในขณะที่เขตสุขภาพที่ 9 มี 4 จังหวัดอีสานล่างที่อยู่ในความดูแล ได้แก่ จ.นครราชสีมา, ชัยภูมิ, บุรีรัมย์ และ จ.สุรินทร์ พบว่าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-16 กันยายน 2566 มีผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่สะสม 18,186 ราย และมีผู้เสียชีวิต 1 ราย ซึ่งสถานการณ์การระบาดของโรคในช่วง 8 สัปดาห์ที่ผ่านมา คือสัปดาห์ที่ 30-37 ตั้งแต่วันที่ 23 กรกฎาคม 2566-16 กันยายน 2566 พบผู้ป่วยมากถึง 10,424 ราย และเมื่อแยกเป็นรายจังหวัด พบว่า จังหวัดนครราชสีมามีผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่มากสุด 4,088 ราย มากกว่าปี 2565 ในช่วงเวลาเดียวกันเกือบ 6 เท่า โดยปี 2565 พบผู้ป่วยแค่ 744 รายเท่านั้น
ส่วนจังหวัดที่พบผู้ป่วยรองลงมาคือ จ.สุรินทร์ มีผู้ป่วย 3,277 ราย ซึ่งปี 2565 พบแค่ 214 ราย ขณะที่ จ.ชัยภูมิ พบผู้ป่วย 2,048 ราย แต่ปี 2565 พบแค่ 15 ราย และ จ.บุรีรัมย์ พบผู้ป่วย 1,012 ราย แต่ปี 2565 พบ 220 ราย ดังนั้น จำนวนผู้ป่วยในภาพรวมปี 2566 จึงสูงกว่าปี 2565 และสูงกว่าค่ามัธยฐาน 5 ปีย้อนหลังในปี 2561-2565 ด้วย ซึ่งกลุ่มอายุที่ป่วยมากสุดในเขตสุขภาพที่ 9 คือกลุ่มอายุ 5-9 ขวบ รองลงมาคือกลุ่มอายุ 10-14 ปี และกลุ่มอายุ 0-4 ขวบ ตามลำดับ
สำหรับ จ.นครราชสีมา อำเภอที่พบผู้ป่วยมากสุดคือ อ.ชุมพวง และ อ.บัวใหญ่ ทาง สคร.9 จึงเน้นย้ำให้ประชาชนโดยเฉพาะเด็กเล็ก และกลุ่มเสี่ยงสูง เพิ่มความเข้มข้นในการป้องกันตนเองเพื่อไม่ให้ติดเชื้อ ด้วยการสวมหน้ากากอนามัย ไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตั้งแต่เนิ่นๆ ที่โรงพยาบาลหรือหน่วยบริการสาธารณสุขต่างๆ และใช้มาตรการ “ปิด ล้าง เลี่ยง หยุด” ได้แก่ 1. ปิด คือ ปิดปาก ปิดจมูก เมื่อไอ จาม ต้องใช้ผ้าหรือกระดาษทิชชูปิดปากและจมูกทุกครั้ง หากเจ็บป่วยด้วยไข้หวัดใหญ่ ควรใส่หน้ากากอนามัย
2. ล้าง คือล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่เมื่อสัมผัสสิ่งของ เช่น กลอนประตู ลูกบิด ราวบันได ราวบนรถโดยสาร ปุ่มกดลิฟต์ 3. เลี่ยง คือหลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดสัมผัสกับน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะ หรือใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย และ 4. หยุด คือเมื่อป่วยควรหยุดเรียน หยุดงาน หยุดกิจกรรมในสถานที่แออัด แม้ผู้ป่วยจะมีอาการไม่มาก ก็ควรหยุดพักรักษาตัวอยู่ที่บ้านจนกว่าจะหายเป็นปกติ
ในช่วงใกล้เปลี่ยนผ่านฤดูกาลจากฤดูฝนไปฤดูหนาว สภาพอากาศจะเปลี่ยนแปลงบ่อย เอื้อต่อการแพร่ระบาดได้ง่ายของโรคติดต่อทางเดินหายใจที่เกิดจากเชื้อไวรัส อย่างเช่น โรคไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัด และโรคโควิด-19 จึงต้องดูแลป้องกันตนเองและบุคคลในครอบครัวอย่างใกล้ชิด