xs
xsm
sm
md
lg

RSV ไวรัสวายร้าย ปกป้องลูกน้อยได้อย่างไร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ความกังวลของคนเป็นพ่อแม่ในช่วงการแพร่ระบาดของ RSV ไวรัสวายร้าย โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนสภาพอากาศมีการเปลี่ยนแปลงจนร่างกายของลูกน้อยมิอาจรับมือได้ ประกอบกับสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ยังคงมีอยู่ ฉะนั้นคุณแม่และคุณพ่อจึงต้องใส่ใจดูแลลูกน้อยให้มากเป็นพิเศษ

แพทย์หญิงสิริรักษ์ กาญจนธีระพงค์ กุมารแพทย์เฉพาะทางโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันวิทยา ศูนย์สุขภาพเด็ก (Children's Health Center) โรงพยาบาลนวเวช ได้อธิบายเกี่ยวกับโรคติดเชื้อไวรัสระบบทางเดินหายใจในเด็ก (RSV) พร้อมรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับไวรัส RSV เพื่อจะได้นำไปสังเกตอาการและแนวทางป้องกันรักษาได้อย่างทันท่วงที

RSV (Respiratory Syncytial Virus) เชื้อไวรัสระบบทางเดินหายใจในเด็ก หรือเชื้อไวรัส RSV เป็นเชื้อที่ติดต่อสู่กันได้ง่ายมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กสู่เด็กด้วยกัน สามารถติดต่อกันผ่านสารคัดหลั่ง น้ำมูก น้ำลาย ผ่านการไอ จาม และสัมผัสกันโดยตรง อาการเริ่มแรกเหมือนไข้หวัดทั่วไป คือ มีไข้ ไอ จาม น้ำมูกไหล และจะหายได้ภายใน 5-7 วัน แต่อาการมีได้หลากหลายและมีความรุนแรงที่ต่างกัน เด็กบางคนมีอาการมากกว่าไข้หวัด คือ คออักเสบ จะมีอาการเจ็บคอ ไอมีเสมหะ กล่องเสียงอักเสบ จะมีอาการเสียงแหบ ไอเสียงก้องหลอดลม/หลอดลมฝอยอักเสบ/ปอดบวม ไอแบบมีเสมหะร่วมด้วยไอมากจนอาเจียน อาจมีหายใจเร็ว แรง หายใจลำบาก หรือหายใจแบบมีเสียงวี้ด (wheezing) ได้ในรายที่มีอาการหนัก

การรักษา มีดังนี้ 1.การรักษาอาการทั่วไป ให้สารน้ำทางเส้นเลือดดำให้ออกซิเจน ช่วยดูดระบายเสมหะ 2.การรักษาแบบเฉพาะที่ พ่นยาขยายหลอดลม พ่นน้ำเกลือเข้มข้นชนิดพิเศษ เพื่อลดภาวะหลอดลมเกร็ง หายใจมีเสียงวี้ด 3.การใช้ยา Montelukastมีส่วนช่วยในการลดความรุนแรงในช่วงแรกของการหายใจหอบเหนื่อยแบบมีเสียงวี้ด และให้ใช้ยาต่อเนื่องเพื่อลดการกลับเป็นซ้ำ

การป้องกัน ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรค ดังนั้นจึงเน้นการป้องกันโดยการเพิ่มภูมิต้านทานธรรมชาติ โดยเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ หลีกเลี่ยงการพาเด็กไปในสถานที่แออัด รวมทั้งใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้ง และล้างมือบ่อยๆ

เนื่องจากเชื้อไวรัส RSV เป็นโรคติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจในเด็ก ซึ่งสามารถติดเชื้อไวรัสซ้ำได้อีกแม้จะเคยติดเชื้อไวรัสดังกล่าวมาก่อนแล้ว สิ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดสำหรับเป็นแนวทางให้กับผู้ปกครองทุกท่านได้นำไปปฏิบัติต่อเด็กๆ ได้แก่ การใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้ง และล้างมือบ่อยๆ อยู่เสมอทั้งผู้ปกครองและเด็ก รวมทั้งการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อเป็นการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็กๆ ทำให้ร่างกายแข็งแรง

และในปัจจุบัน พบว่ามีอาการแทรกซ้อนของการติดเชื้อในโพรงจมูกเรื้อรัง รวมถึง ภาวะการนอนกรนจากการโตของต่อมอะดรีนอยด์อักเสบเพิ่มมากขึ้น ตามหลังการติดเชื้อ RSV นี้ด้วย ผู้ปกครองควรสังเกตอาการต่อเนื่อง และพาบุตรหลาน ติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่องด้วย เช่นกัน




กำลังโหลดความคิดเห็น