xs
xsm
sm
md
lg

อว.หนุน มช.จัดงาน BCG HIIF 2023 ผสานพันธมิตรสาธารณรัฐเกาหลี ผลักดันเชียงใหม่สู่เมืองนวัตกรรมทางการแพทย์และสุขภาพในอนาคต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) โดยอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดโครงการขับเคลื่อนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ ด้าน BCG มุ่งเน้นสาขาการแพทย์และสุขภาพ ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐเกาหลี ด้วยกิจกรรม “BCG Model in Health and Innovation International Forum 2023” (BCG HIIF 2023) ภายใต้โครงการการเสริมสร้างศักยภาพ และขับเคลื่อนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศระดับทวิภาคีและพหุภาคี ประจำปีงบประมาณ 2566 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อผลักดันให้เกิดแผนงานความร่วมมือในสาขานวัตกรรมการแพทย์และสุขภาพบนฐานเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว ระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐเกาหลีใต้

โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.ปิติวัฒน์ วัฒนชัย ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมกิจกรรมและกล่าวเปิดงาน ณ อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ (จังหวัดเชียงใหม่) ซึ่งในโอกาสสำคัญนี้ยังได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) แสดงปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “Bio-Circular-Green Model in Health and Innovation” ให้แก่ผู้เข้าร่วมงานผ่านระบบ Online (VDO Conference)

สำหรับ BCG HIIF 2023 กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-22 ก.ย.66 โดยประกอบด้วย กิจกรรมเสวนาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในด้านนวัตกรรมการแพทย์ ชีววิทยาทางการแพทย์ รวมถึงสุขภาพบนระบบเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular - Green Economy หรือ BCG) จากผู้เชี่ยวชาญสาธารณรัฐเกาหลี นำโดย Dr.Tony C Kim จากมหาวิทยาลัยซังกุงกวาน Prof. Dr.Jai Neung Kim จากมหาวิทยาลัยยอนเซ และ Mr.Seyun Steve Chang CEO of MiDAS H&T สตาร์ทอัปด้านสุขภาพและการแพทย์ พร้อมด้วยผู้เชี่ยวชาญจากไทย รศ.ดร.ปิติวัฒน์ วัฒนชัย ผู้อำนวยการอุทยานวิทย์ มช. ร่วมบรรยายในหัวข้อ “Building Partnerships for collaboration in Health Industry” รวมถึง ผศ.นพ.วนรักษ์ วัชระศักดิ์ศิลป์ รองผู้อำนวยการศูนย์ศรีพัฒน์ คณะแพทยศาสตร์ มช. และ ดร.ชัยธร ลิมาภรณ์วณิชย์ ผู้อำนวยการฝ่ายยุทธศาสตร์นวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ
 
ต่อเนื่องด้วยกิจกรรมการประชุมเชิงปฏิบัติการระดมความคิดแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงลึก เพื่อพัฒนาให้เกิดโครงการริเริ่มใหม่ในอนาคต จากการต่อยอดความร่วมมือระหว่างทั้งสองฝ่าย และปิดท้ายกิจกรรมด้วยการพาผู้เข้าร่วมจากเครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ (NSP) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกกว่า 50 หน่วยงานเข้าเยี่ยมชมศูนย์ส่งเสริมพฤฒพลังผู้สูงอายุ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือ CMU Senior Wellness Center ศูนย์บริการด้านสุขภาพผู้สูงอายุแบบครบวงจร


ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ กล่าวถึงความสำคัญของ Bio-Circular - Green Economy หรือ BCG ที่ถูกกำหนดเป็นวาระแห่งชาติของไทยตั้งแต่ปี 2565 ที่ผ่านมา โดยถือว่า BCG เป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาต่อยอดพัฒนาประเทศด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี ช่วยตอบเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Social Development Goals: SDGs) และรัฐบาลยังได้จัดตั้งคณะกรรมการบริหารการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียวเพื่อทำหน้าที่ขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวสู่การเป็น Medical Hub ของเอเชีย เพื่อพัฒนาทั้งด้านเครื่องมือทางการแพทย์ ชีวภัณฑ์ ด้านการบริการสุขภาพและการแพทย์ รวมถึงการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลด้านสาธารณสุขของประเทศ โดยมีเป้าให้เกิดการสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมมากกว่า 1 แสนล้านบาท เกิดการสร้างงานมากกว่า 5,000 ตำแหน่ง ภายในปี 2570

ด้าน รศ.ดร.ปิติวัฒน์ วัฒนชัย ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เพื่อการผลักดันและขับเคลื่อนการดำเนินความร่วมมือกับต่างประเทศในระดับทวิภาคี และระดับพหุภาคี ระหว่างหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของไทยกับองค์การระหว่างประเทศในภูมิภาคต่างๆ อีกทั้งการขับเคลื่อนการดำเนินความร่วมมือกับต่างประเทศในเชิงยุทธศาสตร์ โดยสอดคล้องกับนโยบายของประเทศในการผลักดันอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ

โดยการกำหนดเป็นอุตสาหกรรมหลักของระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (Northern Economic Corridor หรือ NEC) และยังสอดคล้องกับยุทธศาสตร์เชิงรุกของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ต้องการผลักดันจังหวัดเชียงใหม่ให้เป็นเมืองนวัตกรรมทางการแพทย์และสุขภาพ โดยมีแผนพัฒนาการศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระยะที่ 13 ที่เน้นผลักดันให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านนวัตกรรมการแพทย์ สุขภาพ และการดูแลผู้สูงอายุ (Medicopolis Platform) ผ่านองค์ความรู้และงานวิจัยของมหาวิทยาลัย บูรณาการด้วยการขานรับการขับเคลื่อนโครงการของกระทรวง อว. และของประเทศนั้น จึงนำมาสู่โครงการ BCG Model in Health and Innovation International Forum 2023 ในครั้งนี้

ผู้อำนวยการอุทยานฯ ยังชี้ให้เห็นถึงช่วงเวลาที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีการสร้างเสริมพันธมิตรกับสาธารณรัฐเกาหลีอย่างต่อเนื่อง ด้วยเครือข่ายความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยชั้นนำจากสาธารณรัฐเกาหลี อย่าง Sungkyunkwan University, Seoul National University และ Yonsei University (Mirae Campus) เพื่อการบูรณาการศาตร์ความรู้ที่หลากหลาย และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านนวัตกรรม การวิจัยด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์และชีวภาพร่วมกัน ซึ่งกิจกรรม BCG HIIF 2023 ในครั้งนี้จะสามารถสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการแพทย์และสุขภาพได้อย่างเข้มแข็ง ตลอดจนโอกาสการขยาย ความร่วมมือกันในอนาคตต่อไป 

โดยอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP) ในฐานะส่วนงาน มช.และผู้ดำเนินการโครงการมีความมุ่งมั่นในการนำกลไกการสร้างนวัตกรรมแบบเปิด (Open innovation) ที่ผสมผสานองค์ความรู้ทั้งภายในและภายนอกสถาบันการศึกษา มาผลักดันให้เกิดการสร้างนวัตกรรม ออกสู่ระดับโลก การเชื่อมโยงเครือข่ายความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสาธารณรัฐเกาหลี ผ่านโครงการดังกล่าวในครั้งนี้มีส่วนอย่างยิ่งในการพัฒนาการทำงานด้านนวัตกรรม และงานวิจัยด้านเทคโนโลยีการแพทย์และชีวภาพ ภายใต้แนวคิดเพื่อความยั่งยืน BCG Model ซึ่งจะสามารถต่อยอดสร้างโอกาสในการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม


ทั้งนี้ เป้าประสงค์หลักในการผลักดันเชียงใหม่สู่เมืองนวัตกรรมทางการแพทย์และสุขภาพ ซึ่ง มช.ได้ร่วมมือกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน.NIA) ที่เป็นหน่วยงานหลักในการผลักดันแนวคิดย่านนวัตกรรม (Innovation District) เพื่อดึงดูดผู้ประกอบการธุรกิจในการรวมตัวกันเพื่อร่วมกันพัฒนา และช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยในบริเวณนั้น โดยปัจจุบันได้มีย่านสร้างนวัตกรรมที่เชื่อมโยงสังคมกระจายตามพื้นที่ทั่วกรุงเทพฯ และขยายสู่ในระดับภูมิภาค

สำหรับพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ มีด้วยกัน 2 แห่ง คือ ย่านนวัตกรรมการแพทย์สวนดอก (Suandok Medical Innovation District: SMID) และย่านนวัตกรรมเกษตรและอาหารแม่โจ้ (Maejo Agriculture Innovation District Development: MAID) ซึ่งแต่ละแห่งมีนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของพื้นที่ต่างกัน เพื่อให้สามารถเตรียมพร้อมต่อการเติบโตและสามารถสร้างนวัตกรรมอันนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมได้ 






กำลังโหลดความคิดเห็น