xs
xsm
sm
md
lg

NIA - ม.บูรพา ผนึกกำลัง หน่วยงานพื้นที่ EEC ผลักดันเป็นเมืองศูนย์กลางการสร้างผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม EEC Tech Inno Hub

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมกับมหาวิทยาลัยบูรพา บริษัท เซนโกรท จำกัด และบริษัท แวมสแตค จำกัด ร่วมขับเคลื่อนและส่งเสริมเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกให้เป็นเมืองศูนย์กลางนวัตกรรมสำหรับผู้ประกอบการฐานนวัตกรรมด้าน Smart IoT ซึ่งเป็นหนึ่งในพันธกิจสำคัญที่จะช่วยยกระดับความสามารถทางด้านนวัตกรรมและสร้างผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม (IBE) ควบคู่กับการส่งเสริมการเข้าถึงและใช้ประโยชน์โครสร้างพื้นฐานในพื้นที่เมืองศูนย์กลางนวัตกรรม ซึ่งประกอบไปด้วย 10 หน่วยงานร่วม ได้แก่ เขตส่งเสริมรถไฟความเร็วสูง (EECh) นิคมอุตสาหกรรมบลูเทคซิตี้ มหาวิทยาลัยบูรพา คูโบต้าฟาร์ม เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) เขตส่งเสริมศูนย์นวัตกรรมการแพทย์ครบวงจรธรรมศาสตร์ (พัทยา) (EECmd) เขตส่งเสริมศูนย์นวัตกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยีขั้นสูงบ้างฉาง (EEC STP) เขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออก (EECa) และเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi)


ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ  NIA กล่าวว่า การพัฒนานวัตกรรมเชิงพื้นที่และภูมิภาคของ NIA เป็นหนึ่งในการพัฒนาที่มุ่งนำเอาสินทรัพย์ทางนวัตกรรมผนวกกับศักยภาพของพื้นที่นั้น ๆ มาใช้ เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของพื้นที่ โดยปัจจุบัน NIA ได้กำหนดขอบเขตการศึกษาใน 3 ระดับ ได้แก่ ระเบียงนวัตกรรม (Innovation Corridor) เมืองนวัตกรรม (City Innovation) และย่านนวัตกรรม (Innovation District) ที่มีความสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ที่ส่งเสริมการการพัฒนาพื้นที่และเมืองอัจฉริยะ โดยปี 2570 NIA มีเป้าหมายในการพัฒนานวัตกรรมเชิงพื้นที่ จำนวน 10 จังหวัดศูนย์กลางพัฒนานวัตกรรม และ 10 ย่านนวัตกรรม ซึ่งพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC เป็นหนึ่งในพื้นที่เป้าหมายของการพัฒนาที่มีความพร้อมทางด้านโครงสร้างพื้นฐานนวัตกรรมในการส่งเสริมการสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม ด้าน Smart IoT ที่สามารถรองรับเทคโนโลยีทุกภาคส่วนของอุตสาหกรรม 4.0 ได้และสอดคล้องกับแผนพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายของ NIA ตั้งเป้าพัฒนานวัตกรรมกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายประกอบไปด้วย 

1. FoodTech & AgTech 
2. TravelTech 
3. MedTech 
4. Climate Tech
5. Soft Power 

ซึ่ง NIA เพียงหน่วยงานเดียวไม่สามารถขับเคลื่อนการพัฒนานวัตกรรมให้กลายเป็นชาตินวัตกรรมได้ ดังนั้น ความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร 10 หน่วยงานที่อยู่ในพื้นที่ EEC ที่มีภาครัฐ อย่างเช่น EECi และภาคเอกชนขนาดใหญ่ อย่างเช่น คูโบต้าฟาร์ม ที่มีความโดดเด่นในด้าน FoodTech & AgTech จะเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนระบบนวัตกรรมแห่งชาติ โดย NIA มีกลไกในการสนับสนุน 3 ด้าน ได้แก่ การพัฒนาทักษะด้านกำลังคนและเพิ่มจำนวนองค์กรนวัตกรรม (Groom) การสนับสนุนด้านการเงิน (Grant) และการทำให้ธุรกิจนวัตกรรม สินค้าและบริการนวัตกรรม เป็นที่ยอมรับและรู้จัก (Growth) ทั้งหมดจะเป็นแรงผลักดันในการยกระดับ SMEs / Startup / SEเป็นผู้ประกอบการฐานนวัตกรรมที่จะสามารถยกระดับและขับเคลื่อนเศรษฐกิจพื้นที่ ก่อให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่และเกิดการลงทุนทางด้านนวัตกรรมที่เพิ่มขึ้น ถ้ามีพื้นที่แบบนี้ในหลายๆ พื้นที่ ก็จะทำให้เป็นไทยเป็นที่ยอมรับและรู้จักในฐานะการเป็นชาตินวัตกรรม


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณยศ คุรุกิจโกศล ผู้รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายกิจการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ประธานคณะกรรมการโครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออก มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า เมื่อปี 2565 ได้จัดทำกลไกส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมของเทคโนโลยีเชิงลึกในเขตพื้นที่นวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC Deep Tech Ecosystem) ซึ่งสรุปได้ว่า พื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีศักยภาพที่พร้อมรองรับการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมีความโดดเด่นในด้านทำเลที่ตั้ง มีโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นทั้งสถาบันวิจัยและการศึกษาชั้นนำทั้งของภาครัฐและภาคเอกชนที่พร้อมสนับสนุนด้านองค์ความรู้ และสนับสนุนให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมเชิงลึก มีแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลก มีแหล่งอาหารและที่พักที่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ มีสถานบริการทางด้านการแพทย์ครบวงจร มีการขยายตัวด้านการคมนาคมในพื้นที่ และรวมไปถึงนโยบายพิเศษของภาครัฐที่สนับสนุนด้านการลงทุน นำไปสู่พื้นที่ที่มีระบบนิเวศที่เหมาะสมสำหรับการสร้างสรรค์เทคโนโลยีเชิงลึกชั้นนำระดับโลก ซึ่งนำไปสู่การเริ่มจัดตั้งศูนย์กลางการสร้างผู้ประกอบการฐานนวัตกรรมด้าน Smart IoT ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงกลไกและเครื่องมือสนับสนุนในการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีเชิงลึก และเป็นพื้นที่ทดลอง (Sandbox) ให้กับผู้ประกอบการที่สนใจได้เข้ามาใช้บริการและพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมได้อย่างเหมาะสม ในปี 2566 หน่วยงานพันธมิตรร่วมที่พร้อมให้บริการ มีดังนี้


- โครงสร้างพื้นฐานภายในมหาวิทยาลัยบูรพา : EEC Genomic Center / EEC NET : Tourism Innovation Lab / EEC Automation Park / EEC EV Conversion / EAST PARK BUU ซึ่งเปิดพื้นที่ในการเป็น Co-working Co-office และ Co-lab เพื่อรองรับการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลของบริษัทด้าน Smart IoT พร้อมด้วยการบ่มเพาะธุรกิจแบบเร่งอัตราการเติบโตที่สามารถเข้าไปเชื่อมโยงกับภาคธุรกิจขนาดใหญ่ได้

- คูโบต้า ฟาร์ม : แหล่งเรียนรู้นวัตกรรมเกษตรครบวงจร ภาคธุรกิจเอกชนขนาดใหญ่ที่มีความเชี่ยวชาญในด้าน FoodTech & AgTech มีบริการพื้นที่ทดสอบ (Sandbox) ในการเพาะปลูกพันธุ์พืชเพื่อศึกษาและวิจัยต่อยอดการพัฒนา

- สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) : บริการข้อมูลภูมิสารสนเทศ บริการวิชาการต่าง ๆ ในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ ให้บริการวิเคราะห์ทดสอบดาวเทียมในสภาวะต่างๆ ได้แก่ การทดสอบสั่นสะเทือน การทดสอบอุณหภูมิในสภาวะปกติ การทดสอบอุณหภูมิในสภาวะสุญญากาศ และทดสอบคุณสมบัติของมวล เปิดให้บริการกับกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และการบินในประเทศไทย ในการบริการวิเคราะห์ทดสอบการสั่นสะเทือนของวัสดุรถยนต์และทดสอบคุณสมบัติของชิ้นส่วนเครื่องบิน

-  เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) : ศูนย์กลางนวัตกรรมในการช่วยยกระดับและพัฒนาอุตสาหกรรมเดิม รวมถึงการสร้างอุตสาหกรรมใหม่


คุณภานุวัฒน์ พรหมศิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เซนโกรท จำกัด กล่าวว่า ในฐานะตัวแทนของบริษัทเอกชนที่ได้แยกตัว (Spin-off) ออกมาจากมหาวิทยาลัยบูรพา โดยให้บริการในการพัฒนาเทคโนโลยีต้นน้ำ จากการใช้ AI Machine Vision ในการพัฒนาแพลตฟอร์ม IoT สำหรับ Smart Living, Smart Care, Smart Health เพื่อการบริหารจัดการดูแลผู้สูงอายุ และผู้ป่วย โดยการเชื่อมต่อกับโรงพยาบาล และเจ้าหน้าที่อย่างทันถ่วงที ที่มีชื่อว่า กิน-อยู่-ดี แพลตฟอร์ม แพลตฟอร์มทางด้านสุขภาพและการแพทย์แบบครบวงจร ในความร่วมมือดังกล่าวบริษัทให้สนับสนุนในการวิจัยและพัฒนาทางเทคโนโลยีในต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม IoT การดำเนินชีวิตอัจฉริยะ การทดสอบผลิตภัณฑ์การต่อยอดเพื่อพัฒนาความรู้ความสามารถในการดำเนินธุรกิจนวัตกรรมต่อยอดธุรกิจสู่ภาคอุตสาหกรรมซึ่งมหาวิทยาลัยบูรพาเป็นผู้สนับสนุนพื้นที่วิเคราะห์ทดสอบ และเชื่อมโยงองค์กรขนาดใหญ่ในการนำแพลตฟอร์มไปใช้งาน โดยคาดหวังในการเชื่อมโยงและเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีเชิงลึกกับหน่วยงานร่วมในพื้นที่ EEC จะเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการเริ่มต้นในการพัฒนาต่อยอดธุรกิจและการใช้ข้อมูลร่วมกัน


นายธนินท์ อินทรมณี ผู้จัดการ บริษัท แวมสแตค จำกัด กล่าวว่า ในการวิจัยและพัฒนาทางเทคโนโลยี
ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบบริการ แพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์ และอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (IoT)
เพื่อตอบสนองความต้องการของโลกในอนาคตอย่างยั่งยืน บริษัทแวมสแตค จำกัด กำลังให้การสนับสนุนและส่งเสริมการบ่มเพาะธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ และการทดสอบผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มความรู้ ความสามารถในการทำธุรกิจนวัตกรรมและเชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้ บริษัทยังสนับสนุนการฝึกงานของนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยบูรพา สนช. และเครือข่ายต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้และทรัพยากรในโครงการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับ IoT และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง เป็นการสนับสนุนให้เกิดนวัตกรรมด้าน IoT และเทคโนโลยีเชิงลึกที่เกี่ยวข้อง และส่งเสริมกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้คนรุ่นใหม่มีความสนใจในเทคโนโลยีนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับ IoT, ดิจิทัล, และปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งเป็นความต้องการของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงผู้ประกอบการรายใหม่ที่มุ่งพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมให้เติบโตและเชื่อมโยงกับตลาดโลกได้เช่นกัน การสนับสนุนนี้ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและเศรษฐกิจในระยะยาวอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน


กำลังโหลดความคิดเห็น