xs
xsm
sm
md
lg

NIA- กทม.” จับมือเอกชนพลิกโฉมย่านอารีย์สู่ “ห้องทดลองของกรุงเทพฯ – ย่านนวัตกรรมฉลาดรู้”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมกับกรุงเทพมหานคร เดินหน้าพัฒนาย่านนวัตกรรมอารีย์ด้วยการนำเทคโนโลยีเชิงลึกด้านอารีเทค (ARITech) ได้แก่ AI , Robotics , Immersive และ IoTs หนุนการเติบโตและผลักดันย่านสู่เมืองฉลาดรู้ ชี้ 4 ปัจจัยสำคัญที่ต้องเร่งเชื่อมโยงเพื่อให้ย่านเกิดความก้าวหน้ามากขึ้น ได้แก่ สินทรัพย์ทางเศรษฐกิจ สินทรัพย์ทางกายภาพ สินทรัพย์ทางเครือข่าย และสินทรัพย์ดิจิทัล โดยจะยกระดับให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่เพื่อรองรับธุรกิจนวัตกรรม การลงทุนจากภาครัฐ – เอกชน กลุ่มธุรกิจเทคจากต่างประเทศ และนำร่องให้ย่านอารีย์ได้เป็นพื้นที่ทดสอบทดลองนวัตกรรมเพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ทั้งนี้ ได้มีการจัดกิจกรรมประกวดออกแบบสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อพัฒนาย่านอารีย์ให้น่าอยู่ หรือ ARID Hackathon 2023: Innovation for well-being ซึ่งรางวัลชนะเลิศได้แก่ ทีม PARK :D ที่นำเสนอไอเดียด้านการเชื่อมต่อการสัญจร ผ่านการพัฒนาแพลตฟอร์มเปิดพื้นที่ให้เกิดการใช้ที่จอดรถในรูปแบบ “Parking Lot - Sharing” โดยจะนำโครงการดังกล่าวมาต่อยอดเป็นนวัตกรรมต้นแบบ เพื่อทดสอบทดลองในพื้นที่ย่านอารีย์ในอนาคต


นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กทม. และ NIA มีเป้าหมายที่จะร่วมกันออกแบบนโยบายและดำเนินงานสร้างกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองที่น่าอยู่ ซึ่งองค์ประกอบสำคัญคือการมีนวัตกรรม
ที่จะเข้ามาช่วยบรรเทาหรือแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ หรือยกระดับสิ่งที่มีความโดดเด่นอยู่แล้วให้มีมูลค่าและเอื้อต่อการใช้ชีวิตมากขึ้น ทั้งนี้ ย่านอารีย์ถือเป็นพื้นที่ยุทธศาตร์ที่ปัจจุบันถูกยกระดับให้เป็น “ย่านนวัตกรรม” จุดเริ่มต้นสำคัญที่จะนำไปสู่การอยู่อาศัยที่ดีขึ้น บริการสาธารณะที่สะดวกสบาย ศูนย์กลางความทันสมัย การออกแบบเมืองให้เอื้อต่อการจัดตั้งธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีขับเคลื่อน และยังสามารถใช้โอกาสสำคัญจากการเคยถูกจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในย่านที่ดีที่สุดในโลกต่อยอดให้เป็นย่านนวัตกรรมที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของไทยในระดับนานาชาติ และเกิดการใช้นวัตกรรมได้ครอบคลุมทุกมิติ


“กรุงเทพฯ นอกจากมีภาพลักษณ์การเป็นเมืองท่องเที่ยวและอยู่อาศัยแล้ว บริบทสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ การเป็นเมืองที่มีระบบนิเวศสตาร์ทอัพและนวัตกรรมที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งในปีนี้มีการขยับอันดับอย่างก้าวกระโดด สะท้อนความโดดเด่นปัจจัยความเป็นเมืองนวัตกรรมหลากหลายด้าน และการเติบโตที่สูงขึ้นนี้มีย่านนวัตกรรมและความโดดเด่นของพื้นที่เป็นตัวขับเคลื่อน แต่อย่างไรก็ตามในอีกหลายเมืองก็ยังคงต้องการนวัตกรรมเข้ามาช่วยเติมเต็ม ซึ่ง กทม.จะเป็นผู้ช่วยอำนวยความสะดวกในด้านกฎระเบียบ และเชื่อมโยงให้เกิดความเชื่อมั่นที่จะนำนวัตกรรมมาใช้ ครอบคลุมถึงการร่วมปั้นย่านนวัตกรรม โดยยึดผลลัพธ์ในด้านคน เมือง เศรษฐกิจ และโอกาสใหม่เข้าไว้ด้วยกัน”


นายชาญวิทย์ รัตนราศรี ผู้อำนวยการฝ่ายโครงสร้างพื้นฐานนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า NIA มีแนวทางกระจายและพัฒนาระบบนวัตกรรมเชิงพื้นที่โดยแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ ภูมิภาค เมือง และย่าน โดยมุ่งเน้นการพัฒนาใน 3 มิติ ได้แก่ การส่งเสริมและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการรังสรรค์ระบบนิเวศนวัตกรรม (Innovation Infrastructure) การพัฒนาเมืองในบริบทของพื้นที่นวัตกรรมและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชน
(City Innovation & Innovative City) และการเชื่อมโยงความร่วมมือการพัฒนาระหว่างหน่วยงานหรือกลุ่มองค์กรที่เกี่ยวข้อง
ในมิติสำคัญ (Bridging & Integration) อีกทั้งยังมุ่งส่งเสริมเทคโนโลยีเชิงลึกหรือดีพเทคให้ไปสู่พื้นที่ต่าง ๆ โดยหนึ่งในพื้นที่
ที่สำคัญคือย่านนวัตกรรมอารีย์ (ARID: ARI Innovation District) บนพื้นที่เขตพญาไท ซึ่งเป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจที่มีความ
โดดเด่นและรองรับทั้งการอยู่อาศัย การจัดตั้งธุรกิจ รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐาน และ Pain Point ต่าง ๆ ที่จะ
บ่มเพาะเทคโนโลยีใหม่ให้เกิดขึ้นบนย่านนี้

“NIA ร่วมกับกรุงเทพมหานคร และเครือข่ายพันธมิตรทั้งภาครัฐ เอกชน และชุมชนในย่านนวัตกรรมอารีย์ มุ่งนำจุดแข็งด้าน ARITech เข้ามามีบทบาทในการพัฒนาย่านและส่งเสริมการสร้างสตาร์ทอัพในพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการให้บริการสาธารณะอย่างทั่วถึง ซึ่งได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2563 โดยพบว่าย่านนวัตกรรมอารีย์มี 4 องค์ประกอบสำคัญที่หากเชื่อมโยงกันแล้วจะทำให้ย่านเกิดความก้าวหน้าที่มากขึ้นทั้ง 1) สินทรัพย์ทางเศรษฐกิจ จากการเป็นที่ตั้งของบริษัท หน่วยวิจัย และสตาร์ทอัพ ARITech ที่กระจายตัวอยู่ภายในย่าน ครอบคลุมบริษัทชั้นนำระดับนานาชาติ เช่น IBM, ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น, เอไอเอส 2) สินทรัพย์ทางกายภาพ จากความเป็นพื้นที่ใจกลางเมือง มีการเข้าถึงด้วยระบบขนส่งมวลชนที่มีความสะดวก และการใช้งานพื้นที่แบบผสมผสาน (Mixed use) 3) สินทรัพย์ทางเครือข่าย จากการรวมกลุ่มของผู้ประกอบการ หน่วยงานภาครัฐ และกลุ่มองค์กรทางสังคม ที่มความสนใจในการร่วมพัฒนาย่าน และ 4) สินทรัพย์ดิจิทัล ที่มีลักษณะเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งถูกสร้างขึ้นบนระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งฐานข้อมูลและการจัดการระบบเครือข่ายที่มีผู้ให้บริการในพื้นที่อย่างแพร่หลาย”




นายชาญวิทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับในปี 2566 นี้ NIA กทม. และหน่วยงานเครือข่ายมุ่งเป้าพัฒนาย่านนวัตกรรมอารีย์ให้ได้รับการยอมรับในฐานะ “เมืองฉลาดรู้ (Cognitive City)” และจะเร่งการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีเชิงลึกเพื่อช่วยเพิ่ม
ความโดดเด่นและยกระดับให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ที่พร้อมรองรับธุรกิจนวัตกรรม การลงทุนจากภาครัฐ – เอกชน
กลุ่มธุรกิจเทคจากต่างประเทศ ฯลฯ นอกจากนี้ ยังมุ่งสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบนิเวศนวัตกรรม ด้วยการนำร่องเปิดพื้นที่ย่านอารีย์ให้เป็นพื้นที่ทดสอบทดลองนวัตกรรม เพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงในเชิงการแก้ไขปัญหาของเมือง การเพิ่มมูลค่าทางกายภาพที่มีอยู่ภายในย่าน และเชื่อมโยง


ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานหรือกลุ่มองค์กรที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น NIA จึงได้ดำเนินการจัดกิจกรรมประกวดออกแบบสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อพัฒนาย่านอารีย์ให้น่าอยู่ (ARID Hackathon 2023: Innovation for well-being) เพื่อส่งเสริม
การสร้างและพัฒนาพื้นที่ทดลองนวัตกรรมใน 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านการเชื่อมต่อการสัญจร และด้านความปลอดภัย โดยมีทีมที่ผ่านเข้ารอบทั้งหมด 5 ทีม จากผู้เข้าร่วมทั้งหมด 36 ทีม มาร่วมกิจกรรมปรึกษาเมนเทอร์ และนำเสนอผลงาน ซึ่งรางวัลชนะเลิศได้แก่ ทีม PARK :D ที่นำเสนอไอเดียด้านการเชื่อมต่อการสัญจรพัฒนาแพลตฟอร์มเปิดพื้นที่ให้เกิดการใช้ที่จอดรถในรูปแบบ “Parking Lot - Sharing” โดยจะนำโครงการดังกล่าวมาต่อยอดเป็นนวัตกรรมต้นแบบ
เพื่อทดสอบทดลองในพื้นที่ย่านอารีย์ต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น