xs
xsm
sm
md
lg

มทส.มุ่งสร้างหมอ “แทนคุณบ้านเกิด” ร่วมมือเขตสุขภาพที่ 9 ผลิตแพทย์ใช้ชุมชนเป็นฐาน ลดขาดแคลนหมอชนบท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - “ มทส.” จับมือเขตสุขภาพที่ 9 ก.สาธารณสุข ลงนาม MOU ในการผลิตแพทย์เพื่อท้องถิ่นบ้านเกิดในเขตพื้นที่นครชัยบุรินทร์ โดยใช้ชุมชนเป็นฐานการเรียนรู้ ให้ได้สัมผัสเข้าใจสภาพปัญหาชุมชนตั้งแต่เริ่มเรียนแพทย์และเกิดความผูกพันเป็นหมอคงอยู่ในพื้นที่ ลดปัญหาขาดแคลนแพทย์ในภูมิภาคหรือชนบทอย่างแท้จริง

วันนี้ (10 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมสวนหม่อน ชั้น 7 อาคารผู้ป่วยนอกและอำนวยการ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) และเขตสุขภาพที่ 9 กระทรวงสาธารณสุข ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในการผลิตแพทย์โดยใช้ชุมชนเป็นฐานการเรียนรู้ เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนในเขตพื้นที่นครชัยบุรินทร์ ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ในการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท เพื่อท้องถิ่นบ้านเกิด และลดปัญหาขาดแคลนแพทย์ในภูมิภาคอย่างแท้จริง

โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.อนันต์ ทองระอา อธิการบดี มทส. และ นายแพทย์ ภูวเดช สุระโคตร ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 9 พร้อมด้วยสาธารณสุขนิเทศก์ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตสุขภาพที่ 9, นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา สุรินทร์ บุรีรัมย์ ชัยภูมิ, ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสุรินทร์ บุรีรัมย์ ชัยภูมิ และโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา รวมถึง รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและประกันคุณภาพ, คณบดีสำนักวิชาแพทยศาสตร์ และคณะผู้บริหาร มทส.เข้าร่วมในพิธีลงนาม


รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ สุธรรม ปิ่นเจริญ คณบดีสำนักวิชาแพทยศาสตร์ มทส. เปิดเผยว่า มทส. เปิดรับนักศึกษาแพทย์รุ่นแรกในปีการศึกษา 2549 ตามโครงการความร่วมมือในการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และกำลังรับนักศึกษาปีการศึกษา 2566 เป็นรุ่นที่ 17 มีบัณฑิตแพทย์ออกไปรับใช้ประชาชนกว่า 580 คน หลักสูตรตามเกณฑ์มาตรฐานแพทยสภา และมุ่งพัฒนาการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ในหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต ตามแนวคิด community engagement medical education ในโครงการ “แทนคุณบ้านเกิด” โดยการใช้ชุมชนเป็นฐาน เพื่อให้นักศึกษาและอาจารย์แพทย์ได้สัมผัสและเรียนรู้การทำงานชุมชน เข้าใจสภาพปัญหาของชุมชน มีส่วนร่วมกับชุมชนตั้งแต่เริ่มต้นการเรียนแพทย์

ความร่วมมือระหว่าง มทส.กับเขตสุขภาพที่ 9 กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา สุรินทร์ บุรีรัมย์ ชัยภูมิ ในครั้งนี้ เป็นการร่วมมือกันเพื่อพัฒนาระบบการจัดการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิตที่ใช้ชุมชนเป็นฐานการเรียนรู้ (community based) สำหรับผลิตแพทย์เข้าสู่ระบบสาธารณสุขโดยใช้โรงพยาบาลชุมชนและเครือข่ายสุขภาพของพื้นที่ที่มีศักยภาพ ให้นักศึกษาแพทย์ได้ไปเรียนรู้ในภูมิลำเนาตามพื้นที่โควตาคัดเลือก และจัดให้อาจารย์ที่มีภูมิลำเนาในจังหวัดนั้นๆ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาหรือออกนิเทศก์ร่วมกับอาจารย์ที่ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิกโรงพยาบาล ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ และมีบุคลากรที่ทำงานอยู่จริงๆ ในระบบสาธารณสุขเป็นพี่เลี้ยง

นำมาซึ่งความเข้าใจระบบการดูแลสุขภาพของชาวบ้านในท้องถิ่น เกิดความผูกพัน สร้างแรงบันดาลใจ พัฒนาเจตคติที่ดี มีความสุขในการทำงาน และเป็นหมอที่ยังคงอยู่ในพื้นที่ ลดปัญหาขาดแคลนแพทย์และลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม รวมถึง เป็นการพัฒนาระบบสุขภาพในพื้นที่ที่จัดการศึกษาให้เกิดความยั่งยืนต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น