xs
xsm
sm
md
lg

อดีต สสจ.โคราชชี้แพทย์เครียดสูง เหตุแบกรับทั้งงาน-สังคม-การเมือง แนะแก้นโยบายให้สอดรับปัญหาขาดแคลน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - อดีตสสจ.โคราช และอดีตผู้ช่วย รมต.ประจำกระทรวงสาธารณสุข ชี้ แพทย์-บุคลากรสาธารณสุขเครียดสูงเพราะต้องแบกรับทั้งเรื่องงาน สังคม และการเมือง แนะผู้บริหารปรับแก้นโยบายให้เข้ากับบริบทและสอดรับกับปัญหาขาดแคลนที่เกิดขึ้น พร้อมดันอัตรากำลังพลเพิ่ม สร้างขวัญกำลังใจ

วันนี้ (7 มิ.ย.) ศ.(พิเศษ) ดร.นพ.สำเริง แหยงกระโทก อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุขและอดีตนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) นครราชสีมา ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาการขาดแคลนแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ในปัจจุบัน ว่า ต้องยอมรับมีความขาดแคลนจริงเมื่อเทียบกับมาตรฐานวิชาชีพอื่นๆ เพราะตนในฐานะที่เคยเป็นนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดฯ เคยทำงานในโรงพยาบาลประจำอำเภอ และเคยเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข ที่ดูแลเรื่องการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข พบการขาดแคลนบุคลากรด้านสาธารณสุขที่หนักที่สุด คือ พยาบาล รองลงมาคือ แพทย์ และทันตแพทย์

ศ.(พิเศษ) ดร.นพ.สำเริง แหยงกระโทก
ในอดีตเมื่อประมาณ 20-30 ปีที่แล้วจะมีแพทย์ชนบทที่มีอุดมการณ์และความมุ่งมั่น ขันอาสากลับไปทำงานที่บ้านเกิดหรือทำงานในพื้นที่ห่างไกลตามบ้านนอกบ้านนา ทำงานกันด้วยใจจึงมีความสุขสนุกสนาน แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยน บ้านเมืองเปลี่ยนมาจนถึงปัจจุบัน เรื่องทางวัตถุ-เศรษฐกิจปากท้องจะต้องดี และยังมีเรื่องการเปรียบเทียบรายได้กับวิชาชีพอื่นกับเรื่องวิธีการทำงาน มาเป็นปัจจัยร่วมด้วย จึงเป็นสาเหตุทำให้เกิดการขาดแคลนบุคลากรด้านสาธารณสุข

ทั้งนี้ เท่าที่ตนสังเกตดู เมื่อก่อนแพทย์เสมือนเป็นพ่อพระ ไปไหนชาวบ้านจะรัก ยกมือไหว้ ไม่มีเรื่องร้องเรียนอะไร จึงสามารถทำงานด้วยอย่างมีความสุขตามอุดมคติที่ได้ตั้งมั่นไว้ แต่ปัจจุบันทำได้ยากมาก เพราะมีปัจจัยทางการเมืองและปัจจัยอื่นๆ ทำให้บุคลากรสาธารณสุขแบกรับภาระงานเพิ่มขึ้น ต้องทำตามกฎหมายและปฏิบัติตามแนวระเบียบของสภาวิชาชีพ และมีกฎหมายหรือข้อบังคับอื่นๆ มาบีบรัดเพิ่มอีก จึงทำงานหนักและยากกว่าเดิม จึงเต็มไปด้วยความเครียด เพราะต้องประคองตนเองทั้งเรื่องงาน เรื่องทางสังคม และเรื่องการเมือง


นอกจากนี้ เรื่องค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายต่างๆ ก็จำกัด ทั้งกรอบของ ก.พ. และกรอบของระเบียบราชการ ทางฝ่ายบริหารก็ลดจำนวนข้าราชการให้น้อยที่สุด บีบมาทางกระทรวงฯ ทำให้กระทรวงต้องกำหนดกรอบบรรจุข้าราชการที่น้อยลง จะมีเพิ่มจำนวนบุคลากรขึ้นบ้างก็ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระบาด แต่ยังไงก็ไม่พอ เพราะพื้นที่รอบนอกยังเรียกร้องอยากได้บริการไปใกล้บ้าน แต่จำนวนข้าราชการที่ได้รับการบรรจุก็ยังมีน้อย เป็นได้แค่พนักงานจ้าง ความมั่นคงในวิชาชีพจึงน้อยลง

ฉะนั้น เรื่องขวัญกำลังใจและเรื่องค่าตอบแทนต่างๆ จึงน้อยลงตามไปด้วย ดังนั้น 2 ปัจจัยหลัก ทั้งเรื่องวิธีการทำงานที่หนักขึ้น แต่กลับได้รับค่าตอบแทนที่หรือตำแหน่งบรรจุที่น้อยลง จึงทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนบุคลากรแพทย์และสาธารณสุข แต่ก็เป็นข้อยกเว้นสำหรับบุคลากรที่มีใจ อยากทำงานตามอุดมการณ์ และทำตามความสุขของตนเองโดยไม่ยึดติด ก็มักจะอาสาขอไปทำงานในพื้นที่ห่างไกลเอง


ส่วนวิธีแก้ไข ตนมองว่าขึ้นอยู่ที่พรรคการเมือง ถ้าจะเน้นนโยบายทางสังคม โปรโมตเอาใจประชาชนให้ได้รับความสะดวกสบาย ก็จะต้องเพิ่มจำนวนบุคลากรสาธารณสุขขึ้นด้วย เพื่อให้สามารถทำงานได้สอดรับกับนโยบายที่วางเอาไว้ โดยเฉพาะกรอบการเพิ่มอัตรากำลังพล ก็อย่าไปยึดติดเป็นกรอบเดียวเหมือนกันทุกกระทรวง แต่จะต้องพิจารณาสัดส่วนให้เหมาะสม ว่า ตำแหน่งใด สายวิชาชีพใดมีความจำเป็น ทำงานใกล้ชิดประชาชนมากสุด ก็ต้องเพิ่มให้เพียงพอและจัดส่งกำลังพลกระจายออกไปให้บริการ ยิ่งถ้าเปรียบเทียบกับภาคเอกชนถ้าสามารถเพิ่มกำลังพลและสวัสดิการบางส่วนให้ได้ใกล้เคียงกัน ก็จะทำให้ทุกส่วนได้รับประโยชน์และมีความสุขกันถ้วนหน้า


วิธีแก้ไขเร่งด่วนสุด คือ 1. เรื่องแนวคิดของผู้บริหาร ทั้งนโยบายที่ให้ประชาชนไปรับบริการได้สะดวก สามารถไปได้ทุกที่ มีการบริการที่ดี ก็จะต้องมาปรับแก้ตรงนี้เพื่อให้เข้ากับบริบทและสอดรับกับปัญหาการขาดแคลนที่เกิดขึ้นในปัจจุบันด้วยว่าเป็นอย่างไร 2. เรื่องจำนวนคนที่บรรจุเป็นข้าราชการไม่ได้ ฝ่าย ก.พ. หรือฝ่ายอัตรากำลังจะต้องเพิ่มอัตราให้ด้วย หรือหากเพิ่มไม่ได้ก็ต้องมีงบประมาณมาจ้างพนักงานจ้างเพิ่มขึ้น ให้เป็นลูกจ้างหรือเป็นพนักงานของรัฐไปก่อน เพื่อให้มีขวัญกำลังใจในการทำงาน โดยเฉพาะพนักงานจ้างที่ตรงกับวิชาชีพที่กำลังขาดแคลน ต้องเจาะจงลงไปเพื่อแก้ไขปัญหาให้ได้โดยเร็ว

3. ให้เร่งทำความเข้าใจพี่น้องประชาชน ให้เข้าใจว่าการทำงานเป็นอย่างไร และทำความเข้าใจผู้บริหารระดับต่างๆ ให้เข้าใจแนวนโยบายให้ตรงกันด้วย ซึ่งหากสามารถแก้ไขเร่งด่วนใน 3 เรื่องนี้ได้ ก็จะช่วยบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้เดินหน้าต่อไปได้ ส่วนในระยะยาวก็เป็นนโยบายทางการเมืองหรือของผู้บริหารที่จะขับเคลื่อนกันต่อไป ศ.(พิเศษ) ดร.นพ.สำเริง กล่าวในตอนท้าย




กำลังโหลดความคิดเห็น