สธ.เตรียมหารือร่วมแพทยสภา 8 มิ.ย. ปม "แพทย์ลาออก-ภาระงานล้น" พร้อมนัดหารือ ก.พ. 20 มิ.ย.เรื่องกรอบอัตรากำลัง รูปแบบการจ้างงาน เล็งหารือ สปสช.เร็วๆ นี้ เหตุบัตรทองทำคนด่านหน้าเจองานเพียบ แจงผลิตหมอเพิ่มแค่ส่วนหนึ่งแก้ปัญหา ต้องดูแลค่าตอบแทน สวัสดิการ ภาระงานให้ดี กำชับ ผอ.รพ.ดูแลแพทย์อินเทิร์นใกล้ชิด
เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงการแก้ไขปัญหาแพทย์สมองไหลจากภาระงานหนัก ภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูง สธ. ซึ่งมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ สธ. และ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัด สธ.เข้าร่วมประชุม ว่า ประเด็นบุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะเรื่องแพทย์ลาออก มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ทั้งแพทยสภาที่ดูแลการผลิตแพทย์ การเพิ่มพูนทักษะแพทย์และแพทย์ประจำบ้าน โดยวันที่ 8 มิ.ย.จะมีการประชุมคณะกรรมการแพทยสภาชุดใหญ่ ซึ่งมี ศ.พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ นายกแพทยสภา เป็นประธานซึ่งท่านก็รับทราบและพยายามแก้ไข พล.อ.ท.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา ก็จะนำเรื่องนี้เข้าเป็นวาระการพิจารณา เพื่อนำทุกเรื่องที่กล่าวมาไปสู่การหาทางออกแก้ไข ซึ่งอาจเป็นเรื่องการไปดูทั้งระบบ การจัดสรร การผลิต การกระจาย คุณภาพ และปริมาณแพทย์ โดย สธ.ก็จะไปนำเสนอในคณะกรรมการด้วย นายกแพทยสภาและคณะกรรมการก็น่าจะมีทิศทางการดำเนินการตรงนี้ออกมา
ส่วนเรื่องกรอบอัตรากำลังแพทย์ มีความเชื่อมโยงกับทางสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ซึ่งปลัด สธ.ก็ได้มีการนัดหารือกับเลขาธิการ ก.พ. ซึ่งเดิมมีการนัดหารือทุกเดือนอยู่แล้ว ที่ผ่านมามีการพูดคุยเรื่องแซนด์บ็อกซ์ บุคลากรต่างๆ ซึ่งจะนัดประชุมวันที่ 20 มิ.ย.นี้ ซึ่งเลขธิการ ก.พ.ก็รับปากจะหารือกันและหาข้อสรุป สำหรับเรื่องภาระงานซึ่งมีการพูดว่ามีการเพิ่มมากจากการให้บริการที่เชื่อมโยงกับทางด้านสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เกี่ยวข้องกับ สปสช. ก็จะมีการหารือ จึงมอบ นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รองปลัด สธ.ที่ดูแลเกี่ยวกับหลักประกันสุขภาพในการหารือทิศทางลดภาระงาน และให้ทาง สปสช.เข้ามามีส่วนที่จะต้องช่วยกันทำงานให้กับผู้บริการด่านหน้า คงไม่ใช่แพทย์ฝ่ายเดียว แต่พยาบาล ทุกวิชาชีพที่ให้บริการก็ต้องไปช่วยกัน
ถามว่ามีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าแก้ไม่ถูกจุด เพราะการผลิตแพทย์ต้องใช้เวลา จะมีอะไรไปเติมทั้งเรื่องค่าตอบแทน ความสัมพันธ์แพทย์อินเทิร์นและสตาฟฟ์ นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ที่เราพูดเมื่อวานนี้เราไม่ได้พูดเรื่องแก้แพทย์ เราพูดเรื่องลดภาระงาน ค่าตอบแทน ใน 4 ข้อ ที่มีการสรุปไปเรื่องของการผลิตอาจจะฟังแต่ความตอนต้น การผลิตเป็นส่วนหนึ่งของการขาดแคลน ที่สรุปว่าต้องไปเพิ่มการผลิตก็เป็นการแก้ปัญหาส่วนหนึ่ง ไม่ใช่เรื่องหลัก แต่การแก้ก็คือ 4 ข้อนั้น คือปรับเรื่องภาระงาน ดูแลสวัสดิการ ค่าตอบแทนต่างๆ ที่ สธ.ทำมาตลอดและจะทำต่อไปเข้มข้นขึ้น ทมี่มีหลายคนบอกว่าเรื่องการลาออกยังไม่ชัดเจนยังลาออกอยู่เยอะไหม ก็ขอเน้นย้ำว่าปีหนึ่งประมาณ 455 คนเท่านั้น ที่โซเชียลบอกว่าลาออกปีละ 900 คน โดยเอาตัวเลขแพทย์จบ 2,700 คน มาลบกับตัวเลขที่ สธ.รับแพทย์มา 1,800 คนเท่ากับว่าหายไป 900 คน ก็จะเห็นว่าไม่เกี่ยวกันเลย สธ.จะได้รับจัดสรรมา 2,700 คน หักคนที่มหาวิทยาลัยขอคนไปก่อน 3 ส่วน เราได้มาในส่วนสุดท้ายแล้วแบ่งกับหลาโหมอีก ตัวเลข 900 ยืนยันว่าไม่ใช่
ถามว่าต้องหารือกับทางสหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงานอีกรอบหรือไม่ เพราะมีการออกมาให้ข้อมูลผ่านโซเชียลกลายเป้นศึกเสื้อกาวน์ นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า จริงๆ พวกเราทำงานกันอยู่แล้ว การสื่อสารผ่านสื่อมวลชนก็เป็นเรื่องที่ดี ชุดข้อมูลจะเป็นตัวขับเคลื่อนที่ดีที่สุด ถ้าจะมาก็เป็นชุดข้อมูลเดิม เราเปิดเผยทั้งหมดเพราะสามารถสืบค้นได้ เราก็ต้องใช้ชุดข้อมูลนี้บริหารงาน ถ้ามาก็ยินดีแต่ขอให้ช่วยกัน เชื่อว่าน้องๆ ที่ทำงานอยู่แยากมีความสุขในการทำงาน สร้างความเข้าอกเข้าใจกัน บรรยากาศการทำงานก็รู้กันว่ามีปัญหากันทั้งนั้น คงไม่ใช่แค่ สธ.อย่างเดียว เอกชนก็มีความกดดัน ทำงานที่บ้านก็มีเหมือนกันทุกที่ ถ้ามาช่วยกันแก้ไขปัญหา การทำงานคือการไปจัดการกับปัญหา ปัญหาคือเรื่องปกติแต่เราจะจัดการปัญหาอย่างไร หลายคนบอกมีมานานแล้วก็เพราะมีความซับซ้อน อย่างคณะกรรมการจัดสรรแพทย์มาตั้งแต่ปี 2510 ก็ต้องไปดูต้นตอ ไม่ใช่เราเป็นฝ่ายที่ลุกขึ้นมาแล้วทำสิ่งนั้นนี้ได้ ต้องดูอ้างอิงกฎหมายอยู่ในอำนาจของใคร จึงต้องใช้เวลาพอสมควร
ถามว่าที่ประชุมมีการหารือแนวทางแก้ปัญหาการกระจุกตัวของแพทย์ใน กทม.ที่มีมากถึงหมื่นกว่าคนหรือไม่ นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ตรงนี้เป็นปรากฏการณ์ ไม่ใช่แค่ไทย การกระจายตัวกระจุกตัวเป็นกันทั่วโลก ถ้าเป็นตลาดเสรีไม่ใช่การทำแบบรัฐสวัสดิการจะเจอปัญหาแบบนี้เหมือนๆ กัน ประเทศตัวอย่างเช่นประเทศที่มีกำลังบางทีจะนำเข้าแพทย์เข้ามา ผลิตเพิ่มได้มาก เรื่องพวกนี้ละเอียดอ่อน ตรงนี้ทางแพทยสมาคมฯ ก็พยายามหาแนวทางว่า หากบริหารจัดการดีก็จะทำให้เพียงพอ อย่างตัวเลขแพทย์ที่ทำงานอยู่ 6-7 หมื่นคน รวมเกษียณอายุไปด้วยน่าจะทำงานได้อีก หลายประเทศใช้แพทย์หลังเกษียณที่มีความรู้มาทำงาน แต่บางประเทศก็ประท้วงการขยายอายุทำงานถึง 64 ปี
"การเพิ่มไม่ใช่แค่ผลิต ที่มีอยู่ก็ต้องเอามาใช้ ส่วนการเกษียณอายุราชการก็จะหารือเลขาธิการ ก.พ.ด้วย แซนด์บ็อกซ์ระบบการจ้างงานรูปแบบอื่นๆ อย่างเรื่องพื้นที่แซนด์บ็อกซ์มีการเสนอกันอยู่ อย่างภูเก็ตที่เป็นสังคมเมือง มีการแข่งขันสูงเรื่องการจ้างงาน ค่าตอบแทนสูง มีการวิเคราะห์โดยกลุ่มสมาพันธ์รพ.ศูนย์รพ.ทั่วไป ที่จะมาร่วมกันคิด ตอนนี้ยังอยู่ในรุปแบบแซนด์บ็อกซ์ศึกษากันอยู่ เพื่อเสนอ ก.พ.ต่อไป" น.ทวีศิลป์กล่าว
ถามว่าวิชาชีพอื่นพยาบาลก็มีปัญหาเรื่องภาระงานเช่นกัน ต้องแก้ปัญหาไปพร้อมกันหรือไม่ นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ต้องแก้ไปด้วยกัน ปัญหาที่มีมาไม่ใช่ปัญหาเดียวและมีมาตลอด สธ.เป็นฝ่ายที่ต้องเรียกร้องอยู่ตลอดเช่นกัน การเพิ่มขึ้นของบุคลากรช่วงโควิดก็เกิดจากการเตรียมการของพวกเรา มาสอดคล้องสถานการณ์วิกฤตและผู้บริหารรดับสูงประเทศเห็นความสำคัญเลยออกมาได้ ตรงนี้เลยเป็นจังหวะเวลา สธ.เรารู้อยู่แล้วว่าไม่เพียงพอ ตแที่ผ่านมามีข้อจำกัด และมีดีมานระบบบริการสุขภาพเพิ่มขึ้น ซึ่งพัฒนาจนได้รับคำชม ซึ่งก็ต้องขอบคุณพี่น้องบุคลากรแม้งานหนักก็ได้ผลออกมาที่ดี เราต้องเติมทรัพยากรลงไป
ถามว่าที่ประชุมยอมรับว่าปัญหาหลักอาจมาจากหลักประกัน นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ชัดเจนว่าการบริการทางด้านนี้ขึ้นมา มีหลายบริการเกิดขึ้น สธ.ผู้ให้บริการหลักของ สปสช. ถ้าหน่วยงานของรัฐเมื่อเป็นหลักก็ต้องรับผิดชอบ เอกชนมีสิทธิเลือกไม่เลือกก็ได้ ถ้าเอกชนไม่เลือก ก็เป้นภาระของรัฐเข้าไปดูแล ภาครัฐเราปฏิเสธไม่ได้ ส่วนจะประชุมช่วงไหนต้องสอบถาม นพ.พงศ์เกษม
“สธ.อายุเป็นร้อยปี ได้ทำสิ่งต่างๆไว้ดีมากมาย ปัญหามีอยู่ทุกที่ ผมเองอยากให้ทุกท่านได้กลับมาช่วยกันมองว่า เรื่องที่ดีๆ ในสังคมคนไทยเรา หากเราหามุมมองจุดแข็ง ปิดลดจุดอ่อน แม้จะเป็นประเด็นเจ็บปวด แต่เราก็ช่วยกันแก้ไขและจุดอ่อนที่เกิดขึ้นก็ต้องมาคุยว่าจะทำอย่างไร สธ.ไม่ได้เป็นโรคร้ายที่จะล่มสลายไปในทีเดียว ต่างชาติก็ชื่นชม เราก็ต้องมาช่วยลดจุดอ่อน ก็รู้ว่าจุดอ่อนนี้ทำให้ภาระงานเหนื่อยหนัก ตอนนี้ปลัด สธ.สั่งการ ผอ.รพ.ทุกท่านให้ไปดู ไปกำกับ ดูแลแพทย์เพิ่มพูนทักษะอย่างใกล้ชิด สวัสดิการห้องพักที่เคยคอมเพลน เปลี่ยนแปลงรวดเร็วและง่าย จะติดแอร์ปรับที่นอน กั้นห้องกว้างขึ้น เงินบำรุงที่มีอยู่ หลังโควิดก็พอสมควรสามารถทำได้เร็วก็ให้ช่วยกัน" นพ.ทวีศิลป์กล่าว