ลำปาง - ป.ป.ช.ลำปางนำทีมตรวจสอบ “โครงการเสาไฟจีน นครลำปาง” หลังคนร้องส่อราคาสูงเกินจริง ติดตั้งไม่ได้มาตรฐาน เบื้องต้นไม่พบผิดปกติ รองนายกเทศมนตรีฯ แจงยิบจากหน้ากระดาษ-หน้างาน บอกต้องหนีท่อ ตอกเสาเข็ม เพิ่มอัตลักษณ์
กรณีสื่อท้องถิ่นในลำปางได้วิพากษ์โครงการเสาไฟต้อนรับตรุษจีน ซึ่งตั้งอยู่บนถนนประสานไมตรี ต.สบตุ๋ย เทศบาลนครลำปาง ว่ามีราคาสูงเกินจริงและอาจจะมีการติดตั้งที่ไม่ได้มาตรฐาน เพราะตั้งฐานเกินออกมาจากฟุตปาธแบบลอยๆ ก่อนที่เพจดัง “หมาเฝ้าบ้าน” จะแชร์เผยแพร่ พร้อมระบุว่า “ยืนอย่างมั่น” โดยมีภาพฐานของเสาไฟลอยออกมาจากฟุตปาธ จนมีคนแสดงความคิดเห็นโจมตีการทำงานของเทศบาลนครลำปาง เจ้าของโครงการฯ อย่างกว้างขวาง
ล่าสุด นายกิตติศักดิ์ พิมสาร ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดลำปาง พร้อมเจ้าหน้าที่กลุ่มงานป้องกันการทุจริต ประธานฯ และโค้ชชมรมสตรองจิตพอเพียงต้านทุจริต สำนักงาน ป.ป.ช.ลำปาง ได้เข้าขอข้อมูลและตรวจสอบโครงการเสาไฟต้อนรับตรุษจีนดังกล่าว ที่ห้องประชุมราชพฤกษ์ ชั้นสาม เทศบาลนครลำปาง เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 66 ที่ผ่านมา โดยมีนายกิตติ จิวะสันติการ รองนายกเทศมนตรี รักษาราชการแทนนายกเทศมนตรี พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับโครงการ เป็นผู้ชี้แจงข้อมูล ข้อสงสัยต่างๆ
นายกิตติศักดิ์ พิมสาร ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดลำปาง ได้บอกถึงวัตถุประสงค์ของการเข้าขอข้อมูลและการตรวจสอบโครงการติดตั้งเสาไฟจีนดังกล่าวว่า เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการทำงานของภาครัฐและเป็นการป้องกันมิให้มีการทุจริตคอร์รัปชัน รวมถึงย้ำให้หน่วยงานตระหนักถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นหลักในการทำโครงการต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนรับทราบและคลายความสงสัยในประเด็นต่างๆ ได้ถูกต้องชัดเจน
ด้านนายกิตติ จิวะสันติการ รองนายกเทศมนตรีนครลำปาง กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเป็นหนึ่งในนโยบายหลักของนายกเทศมนตรีก่อนจะเข้ามารับตำแหน่ง เรื่องให้เกิดความสวยงามแก่บ้านเมือง ส่วนตัวเองหลังเข้ารับตำแหน่งก็ได้เน้นย้ำกับเจ้าหน้าที่ทุกคนไม่ให้มีเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันมาตลอด ให้ทำงานอย่างตรงไปตรงมา ตนจะไม่เข้าไปยุ่งในกระบวนการต่างๆ อยากให้เจ้าหน้าที่ทุกคนเมื่อเกษียณไปแล้วได้อยู่กับบ้านอย่างมีความสุข ส่วนตนเองหมดวาระไปแล้วก็จะได้พักอยู่กับบ้านโดยไม่ต้องมีหนังสือร้องเรียน
สำหรับโครงการเสาไฟจีนแห่งนี้ ก่อนทำโครงการได้มีการลงสำรวจความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งเป็นย่านประวัติศาสตร์และเป็นอัตลักษณ์ คือย่านชุมชนชาวไทย-จีน ประกอบกับที่ผ่านมาทั้งพื้นฟุตปาธชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา จึงได้มีการปรับปรุงใหม่ และเพื่อให้เกิดความสวยงาม เป็นอัตลักษณ์ จึงได้ออกแบบการติดตั้งเสาไฟตามถนนสายประสานไมตรี ซึ่งในการทำโครงการได้ผ่านขั้นตอนการขออนุมัติจากสภาฯ เป็นที่เรียบร้อย โดยการตั้งงบประมาณใหม่จากเงินเหลือจ่าย ซึ่งรวมกับโครงการอื่นๆ ด้วย
การกำหนดราคาจะอ้างอิงราคากลางจากกรมบัญชีกลาง กระทรวงพาณิชย์ และสืบค้นจากร้านในท้องถิ่น ในบางกรณีที่ไม่ปรากฏในบัญชีกลาง ซึ่งราคาทั้งหมดเป็นไปตามราคาของทางราชการกำหนด สามารถตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน
ส่วนขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างก็ได้ดำเนินการตามระเบียบ มีการค้นหารายชื่อผู้ประกอบการ SME ในท้องถิ่นที่มีวัตถุประสงค์งานตรงกับที่ต้องการ จากนั้นได้ส่งหนังสือเชิญชวนไปยังผู้ประกอบการ 6 ราย ให้เข้าร่วมเสนอราคา แต่มีเพียง 3 รายที่เสนอราคา และเมื่อมีการพิจารณาราคา-ต่อรองราคาจึงได้พิจารณาคัดเลือกผู้ประกอบการ 1 ราย ที่เสนอราคาต่ำสุด 8.4 ล้านบาท
ด้านงานก่อสร้าง ในชั้นการขออนุมัติโครงการในสภาฯ ขณะนั้นการออกแบบ คิดว่าอยากให้มีสัญลักษณ์รูปไก่และต้องการประหยัดงบประมาณโดยการขอติดตั้งกับเสาไฟของ กฟภ. แต่เมื่อดำเนินการจริง ประชาชนในพื้นที่อยากให้มีอัตลักษณ์และสื่อให้เห็นว่า..ย่านดังกล่าวเป็นย่านชุมชนชาวจีน จึงได้มีการออกแบบสัญลักษณ์โคมไฟใหม่ให้เป็นทรงจีน ซึ่งต้องให้ทำขึ้นมาใหม่ตามแบบ แต่ราคาเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
ขณะที่การติดตั้งโคมไฟ จากเดิมที่ต้องการห้อยไว้กับเสาไฟฟ้าของ กฟภ.รวม 100 กว่าโคม ปรากฏว่า กฟภ.ไม่อนุญาตให้ใช้เสาไฟฟ้า ดังนั้นจึงต้องมีการตั้งเสาไหม่และลดจำนวนลงเหลือเพียง 27 ต้น เพื่อให้อยู่ในงบประมาณที่ตั้งไว้และออกแบบการติดตั้งเสาใหม่
ซึ่งตอนแรกได้ออกแบบเสาติดตั้งลักษณะเป็นตอม่อ แต่เมื่อดำเนินงานจริงพบว่าในจุดที่ติดตั้ง ซึ่งต้องเลื่อนออกมาจากหน้าบ้าน-หน้าร้าน ตามความต้องการของเจ้าของบ้าน/เจ้าของร้าน เพราะมีความเชื่อเกี่ยวกับฮวงจุ้ย จึงต้องขยับเสาออกมาอยู่บริเวณฟุตปาธ และเมื่อเริ่มเจาะก็พบว่าใต้ฟุตปาธมีท่อระบายน้ำขนาดใหญ่ ทำให้ต้องเปลี่ยนวิธีการติดตั้งใหม่ จากเดิมจะทำแบบตอม่อ เป็นแบบการฝั่งเสาเข็ม 2 ต้น ลึก 3 เมตร ลงไปในชั้นดินแทน เพื่อให้เลี่ยงท่อระบายน้ำที่มีตลอดแนว และจากการเปลี่ยนแบบฐานยึดเสาไฟจากตอม่อเป็นเสาเข็มทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมาอีกกว่าต้นละ 10,000 บาท แต่ผู้ประกอบการก็ให้ความอนุเคราะห์โดยไม่คิดราคาเพิ่มแต่อย่างใด
ดังนั้น จากประเด็นดรามาที่เกิดขึ้นว่าฐานเสาไฟทำไมบางส่วนลอยออกมาจากฟุตปาธจะแข็งแรงได้มาตรฐานหรือไม่นั้น มีการชี้แจงว่าเนื่องจากตลอดแนวมีการวางท่อระบายน้ำอยู่ใต้ดิน ทำให้บางจุดต้องยื่นออกมาเพราะต้องเลี่ยงท่อระบายน้ำ หากจะเจาะลงไปในท่อจะทำให้กีดขวางการระบายน้ำ และทำให้เสาเข็มที่ฝังลงไปเกิดการสึกหรอได้เร็วกว่าเวลาอันควร ส่วนการยึดฐานเสาไฟนั้นได้ให้วิธีเจาะฝังเสาเข็มสองต้น ลึก 3 เมตร ด้านบนรองด้วยแผ่นเหล็ก 2 ชั้น ทำให้มีความมั่นคงแข็งแรง ยืนอย่างมั่นแน่นอน ส่วนราคาอยู่ในเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด
หลังจากได้ฟังการให้ข้อมูลแล้ว ทาง ผอ.ป.ป.ช. พร้อมคณะ ได้ร่วมกันลงตรวจสอบสถานที่จริง โดยมีเจ้าหน้าที่ของเทศบาลนครลำปางลงให้ข้อมูลและชี้แจงด้วย ซึ่งนายกิตติศักดิ์ พิมสาร ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดลำปาง ได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า เข้าตรวจสอบ ขอทราบข้อมูลโครงการจากเทศบาลนครลำปาง ตามที่ได้รับแจ้งเบาะแสมาว่าเสาไฟฟ้าแพงไหม การก่อสร้างเป็นไปตามแบบมาตรฐานไหม แข็งแรงไหม
จากการลงพื้นที่และฟังข้อมูลทั้งหมด ทราบว่าการวางเสาไฟที่อยู่ริมถนน ริมฟุตปาธ บางจุดอยู่พื้นผิวจราจร มีความจำเป็นเพราะมีท่อระบายน้ำและปรับเปลี่ยนตามสภาพรวมถึงเป็นความต้องการของชาวบ้านและเป็นอัตลักษณ์ของพื้นที่ เบื้องต้นจากการตรวจสอบยังไม่พบสิ่งผิดปกติ ส่วนที่เสาบางต้นอาจจะเสี่ยงต่ออันตรายเพราะอาจจะอยู่บนผิวจราจรหรือริมฟุตปาธมาก ก็จะมีการแก้ไขโดยการติดสัญลักษณ์ให้ประชาชนมองเห็นชัดเจนขึ้นป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ การทำงานก็ทำตามขั้นตอนเป็นไปตามระเบียบ เท่าที่ฟังก็มีเหตุผลที่มีการติดตั้ง ซึ่งก็มีความจำเป็น มีเหตุมีผลอยู่ ในเบื้องต้นก็ยังไม่พบข้อผิดสังเกตใดๆ