จันทบุรี - ส.ส.จันทบุรี เผยมีผู้กระทำผิดในคดีสวมสิทธิทุเรียนไทยถูกจับกุมโดยทีมเล็บเหยี่ยวฯ จนส่งฟ้องศาลได้แล้ว 2 รายเป็นเจ้าของล้งชาวไทย และนักลงทุนชาวจีนที่ขณะนี้หนีออกนอกประเทศแล้ว วอนผู้เกี่ยวข้องเร่งรัดคดีที่เหลือก่อนถึงฤดูผลผลิตปี 66
จากกรณีที่กลุ่มเกษตรกรชาวสวนภาคตะวันออก (จันทบุรี-ระยอง-ตราด) ได้รวมตัวกันที่ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรี เพื่อยื่นหนังสือ 2 ฉบับถึงผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรียกร้อง 4 ข้อในการเร่งแก้ไขปัญหาทุเรียนในพื้นที่ ประกอบด้วย 1.การกำหนดมาตรการควบคุมคุณภาพทุเรียน ปี 2566
2.แนวทางการป้องกันทุเรียนอ่อน และการนำทุเรียนจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาสวมสิทธิทุเรียนไทยส่งขายต่างประเทศ 3.มาตรการแก้ปัญหาการสวมสิทธิใบ GAP ของเกษตรกรที่มีการนำไปขายให้บุคคลที่ 3 ในราคาใบละ 100,000-500,000 บาท
และ 4.ขอให้จังหวัดจันทบุรีประสานไปยังผู้มีอำนาจในการระงับคำสั่งการย้าย นายชลธี นุ่มหนู ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรที่ 6 (สวพ.6) เข้าทำงานที่กรมวิชาการเกษตร โดยขอให้ทำงานในพื้นที่ จ.จันทบุรี ช่วยชาวสวนอีก 2 ปี เนื่องจากการทำงานแก้ไขปัญหาผลผลิตทุเรียน และผลไม้อื่นๆ ในช่วงที่ผ่านมาเดินมาถูกทางแล้วนั้น
ล่าสุด ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจาก น.ส.ญาณธิชา บัวเผื่อน หรือ ส.ส.เล็ก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.จันทบุรี เขต 3 ว่าการดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิดเรื่องการสวมสิทธิทุเรียนไทยเมื่อ 2 ปีก่อนโดยทีมเล็บเหยี่ยวฯ จ.จันทบุรี ที่ได้แจ้งความดำเนินคดีผู้เกี่ยวข้องนั้น ขณะนี้รับแจ้งจากพนักงานสอบสวนในคดีดังกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ได้สรุปสำนวนส่งฟ้องผู้กระทำผิดแล้ว
โดยมีผู้ถูกกล่าวหา (เจ้าของล้ง) เป็นคนไทย 1 ราย ที่ถูกแจ้งดำเนินคดีใน 2 ข้อกล่าวหาคือ สำแดงเอกสารอันเป็นเท็จ และพยายามขายของโดยหลอกลวง (ส่วนนี้มีทั้งคดีอาญา และ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค) และพนักงานสอบสวนได้สรุปสำนวนให้อัยการสั่งฟ้องแล้ว
ส่วนผู้ร่วมทุนต่างชาติ (ชาวจีนเป็นผู้หญิง) ได้หลบหนีออกจากประเทศไทยตั้งแต่เกิดเหตุ ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ขออนุมัติศาลออกหมายจับไปแล้วเช่นกัน
"กรณีนี้แสดงให้เห็นว่ากระบวนการทางกฎหมายของไทยที่ได้ดำเนินคดีผู้กระทำผิดในเรื่องของทุเรียนได้ช่วยขจัดผู้ที่ทำไม่ดีออกจากระบบไปได้ เนื่องจากปัญหาเกิดขึ้นไม่ใช่กระทบเฉพาะแค่ประเทศไทย แต่กระทบกับชาวสวนภาคตะวันออกโดยเฉพาะ จ.จันทบุรี โดยตรง"
ส.ส.เล็ก ยังบอกอีกว่า ในปี 2565 จ.จันทบุรี มีคดีที่เกี่ยวข้องกับทุเรียนประมาณ 4 คดีที่ยังอยู่ในชั้นพนักงานสอบสวน จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกรมวิชาการเกษตร ประสานเจ้าหน้าที่เร่งรัดในการดำเนินคดี เพราะต้องการให้ผู้กระทำผิดได้รับการลงโทษ ป้องกันผู้ที่กำลังคิดจะทำผิด
เนื่องจากการปล่อยทิ้งระยะเวลาอาจทำให้ผู้คิดกระทำผิดย่ามใจ และทำผิดเพิ่มขึ้นอีกเนื่องจากผู้กระทำผิดในคดีที่ผ่านมายังไม่ถูกลงโทษ