xs
xsm
sm
md
lg

แฉ 5 กลุ่มทุนต่างชาติผูกขาดทุเรียนไทย พบแต่ละรายล้วนมีสายสัมพันธ์ทางการเมือง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ข่าวคราวการโยกย้าย นายชลธี นุ่มหนู ผู้อำนวยการ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรที่ 6 เปิดโปง 5 กลุ่มทุนต่างชาติผูกขาดทุเรียนไทยพบแต่ละรายล้วนมีสายสัมพันธ์ทางการเมือง ออกจากพื้นที่ จ.จันทบุรี เพื่อให้เข้าไปทำงานในตำแหน่งผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช ทั้งที่สร้างผลงานปราบปรามทุเรียนอ่อน และขบวนการสวมสิทธิทุเรียนไทยจนเป็นที่ประจักษ์ ได้สร้างกระแสสนใจและข้อกังขาให้ผู้คนแวดวงทุเรียนไทยในช่วงเดือน ต.ค.ที่ผ่านมาเป็นอย่างมาก

แต่วันนี้กระแสสนใจดังกล่าวดูเหมือนว่าจะเงียบหายไปตามการตัดสินใจยื่นใบลาออกจากชีวิตราชการ ทั้งยังเหลือเวลาทำงานอีกนานหลายเดือนของ นายชลธี นุ่มหนู ซึ่งกระแสที่เงียบหายไปเช่นนี้คาดว่าน่าจะทำให้คนบางกลุ่มพอใจที่สามารถกำจัดเสี้ยนหนามในวงการผลไม้ไทยออกไปได้

โดยผู้ใช้นามปากกา “เสกบูรพา” ได้วิเคราะห์เรื่องราวที่เกิดขึ้นว่าเป็นเพราะในฤดูกาลผลผลิตทุเรียนปีที่ผ่านมา (2564) ชลธี นุ่มหนู ผอ.สวพ. ในฐานะหัวหอกทีมเล็บเหยี่ยวพิทักษ์ทุเรียนไทย และผู้ร่วมอุดมการณ์ทีมเล็บเหยี่ยว สร้างความเจ็บช้ำและเจ็บแค้นใจให้ขบวนการค้าทุเรียนอ่อน หรือทุเรียนด้อยคุณภาพไม่น้อย

เพราะทีมเล็บเหยี่ยวได้บุกเข้าตรวจค้นทุกล้งส่งออกทุเรียนให้อยู่ภายใต้มาตรฐานเดียวกันที่ทาง จ.จันทบุรี ออกประกาศควบคุมคุณภาพทุเรียนส่องออก ด้วยการนำเปอร์เซ็นต์น้ำหนักเนื้อแห้งมาควบคุม ถึงขนาดที่ว่า คนค้าทุเรียน(บางกลุ่ม) ถึงกับบ่นว่า ปี 64 การส่งออกทุเรียนอ่อนไปปลายทาง ทำไม่ได้สะดวกเพราะถูกกวดขันอย่างหนัก


ขณะที่สายข่าวเฝ้าระวังทุเรียนอ่อนในพื้นที่ภาคตะวันออก “ชลธี นุ่มหนู” ได้วางเครือข่ายไว้ถึงต้นสวน มือมีดกลุ่มไหนตัด ล้งไหนสั่ง “ชลธี” รู้หมดจนสามารถตามได้ถึงล้งต้นตอ ทำให้ทุเรียนอ่อนที่ตัดมา 13 ลำ (คันรถ) เมื่อปีที่แล้ว (2564) ไม่กล้านำทุเรียนเข้าล้ง เพราะเกรงว่าจะเดือดร้อนตั้งแต่เจ้าของสวน คนตัด รถขน และล้งที่รับซื้อ

นอกจากนั้น ยังมีข้อมูลจากผู้ค้าทุเรียนส่งออกว่า มีกลุ่มทุนต่างชาติที่เข้ามาทำทุเรียนในไทยเพื่อส่งออกไปต่างประเทศทั้งหมด 5 กลุ่ม ซึ่งกลุ่มทุนต่างชาติเหล่านี้จะไม่ค่อยเดินทางเข้ามาในไทยเพราะเชื่อใจคนไทยที่ทำธุรกิจค้าขายกัน

แต่ปีที่ผ่านมา ทีมเล็บเหยี่ยวพิทักษ์ทุเรียนไทยภายใต้หัวหอกอย่าง ชลธี นุ่มหนู กวดขัน จับกุม ผู้ค้าทุเรียนอ่อน ทุเรียนสวมสิทธิรวม 4 คดี จึงทำให้กลุ่มทุนคนไทย (บางกลุ่ม) ที่เสียประโยชน์จากการปนทุเรียนอ่อนส่งออกได้ไม่เต็มที่เหมือนก่อน และส่วนต่างรายได้จากการค้าทุเรียนอ่อนที่เคยได้หายไปเกือบร้อยละ 70


และสาเหตุนี้เองจึงทำให้ในปี 2564 ราคารับซื้อทุเรียนหน้าล้ง เกรด A ไม่ต่ำกว่า 100 บาท หากเมื่อเทียบกับปีก่อนๆ เมื่อถึงหน้าทุเรียนช่วงต้นฤดูจะสูงลิ่วแตะเกือบ 200 บาท แต่คล้อยหลังไม่ถึงเดือนราคาทุเรียนกลับร่วงไม่เป็นท่า เนื่องจากผู้ค้าประเทศปลายทางอ้างว่ามีทุเรียนอ่อนปนจำนวนมาก เข้าทางผู้ค้าบางรายที่ใช้เป็นกลยุทธ์ทำลายราคาตลาดทุเรียนส่งออกเพื่อกดราคารับซื้อในฝั่งไทย


เผยโฉม 5 กลุ่มทุนต่างชาติร่วมคนไทยส่งออกทุเรียนไปต่างประเทศ

กลุ่มแรกใช้ตัวย่อ คือ “HJ” กลุ่มนี้สายสัมพันธ์แน่นทั้งการเมือง (บางกลุ่ม) ข้าราชการ (บางกลุ่ม) และคนไทย (บางกลุ่ม) อีกทั้งยังมีคนต่างชาติที่ชื่อ “A-U” เข้าออกประเทศไทยเพื่อจัดหาทุเรียนส่งไปที่ประเทศปลายทางอยู่เป็นประจำ ที่สำคัญกลุ่มนี้ยังตั้งคนไทย (บางกลุ่ม) เป็นที่ปรึกษาเพื่อให้เป็นโซ่ข้อกลางในการเชื่อมความสัมพันธ์กับกลุ่มผู้มีอำนาจ และข้าราชการ (บางกลุ่ม) ในการอำนวยความสะดวกการส่งผลไม้ (ทุเรียน) ให้ออกจากประเทศไทยง่ายขึ้น

และยังตั้งอดีตผู้จัดการธนาคารเป็นที่ปรึกษา และยังมีกลุ่มผู้ประกอบการในเครือข่ายที่รับบรรจุทุเรียน-ลำไยส่งออก หรือที่เรียกกันว่า มือปืนรับจ้าง ในเครือข่ายไม่ต่ำกว่า 40 รายอีกด้วย

กลุ่มที่ 2 ใช้ตัวย่อ “THK” ลักษณะการทำธุรกิจคล้ายกลุ่มแรก แต่สายสัมพันธ์ทางการเมือง (บางกลุ่ม) ยังไม่แน่นมากพอ จะอาศัยโซ่ข้อกลางซึ่งเป็นคนไทยดำเนินการจัดหาทุเรียน-แพก-ส่งออก และอำนวยความสะดวกอื่นๆ ให้ กลุ่มนี้มีผู้ประกอบการที่จัดหา-รับบรรจุ แพกทุเรียนส่งออก หรือที่เรีกกันว่า มือปืนรับจ้าง อยู่ในเครือราวๆ 30 ราย

กลุ่มที่ 3 ใช้ตัวย่อ “YK” กลุ่มนี้สายสัมพันธ์ทางการเมือง (บางกลุ่ม) แน่นปึ้ก เมื่อมีปัญหาในทางธุรกิจโดยเฉพาะการถูกตรวจสอบมักจะถูกกล่าวอ้างว่ารู้จัก สนิทกับกลุ่มการเมือง เพื่อใช้เป็นช่องทางในการอำนวยความสะดวกและยังเป็นผู้ริเริ่มสัญลักษณ์ที่ตู้คอนเทนเนอร์ส่งออกทุเรียนไปยังปลายทาง หรือที่รู้จักกันวงใน คือ “ส่วย”

เพราะหากใครมีสัญลักษณ์นี้ปรากฏบนต้นส่งออกทุเรียน จะได้รับการอำนวยความสะดวกทั้งฝั่งไทย และประเทศปลายทางที่สำคัญกลุ่มนี้มีผู้ประกอบการที่จัดหา-รับบรรจุ แพกทุเรียนส่งออก หรือที่เรีกกันว่า มือปืนรับจ้าง อยู่ในเครือราวๆ 30 -40 ราย

และยังมีคนไทยในวงการทุเรียนที่เรียกกันว่า "น" เป็นผู้ร่วมทุนว่ากันว่า "น" คนนี้สามารถจัดการเคลียร์ปัญหาได้ทั้งหมด เพราะนอกจากสายสัมพันธ์การเมือง (บางกลุ่ม) จะแน่นแล้ว ยังมีสายสัมพันธ์ดีกับข้าราชการ (บางกลุ่ม) และ "น" คนนี้ ยังนำทุเรียนต่างประเทศเข้ามาแปรรูปด้วย


กลุ่ม 4 “HZ” เป็นกลุ่มทุนใหม่ กลุ่มนี้สายสัมพันธ์ทั้งการเมือง (บางกลุ่ม) และข้าราชการ (บางกลุ่ม) ยังไม่เหนียวแน่นมากนัก ยังต้องใช้คนไทย (บางกลุ่ม) เป็นตัวเชื่อมในการอำนวยความสะดวก กลุ่มนี้มีผู้ประกอบการในเครือข่ายราวๆ 20-30 ราย สำหรับการจัดหา บรรจุ/แพก และส่งออกทุเรียนไปประเทศปลายทาง

ส่วนกลุ่มที่ 5 ใช้ตัวย่อ “K” กลุ่มนี้จะไม่เน้นทุเรียนมากนัก แต่จะเน้นไปที่ผลไม้ “มังคุด” เป็นหลัก และยังมีกลุ่มที่ 6 ที่พยายามผงาดขึ้นมาเทียบแต่เป็นกลุ่มไม่ใหญ่ คือ “TFH” กลุ่มนี้ยังเข้ามาแบ่งสัดส่วนในตลาดส่งออกทุเรียนไม่มากนัก

โดยทั้ง 6 กลุ่มที่จะมีนายหน้า-มือมีดเป็นผู้ประสานงานโดยตรงกับสวนเพื่อจัดหาทุเรียนเข้าล้ง ด้วยการทำสัญญาในลักษณะเหมาสวน และจะมีคนบางกลุ่มใช้วิธีตัดรูดในครั้งเดียวเนื่องจากทำสัญญาไว้หลายสวน หากจะย้อนกลับมาตัดทุเรียนที่รอให้เนื้อได้พอดีจึงไม่คุ้ม

และเหตุผลนี้จึงทำให้ปี 2564 การส่งออกทุเรียนถูกทีมเล็บเหยี่ยวพิทักษ์ทุเรียนไทย ตรวจสอบคุณภาพความอ่อน-แก่อย่างเข้มข้น อีกทั้งการทำงานแบบเอาจริงเอาจัง และการทำหน้าที่ควบคุมคุณภาพผลไม้ก่อนส่งออกของทีมเล็บเหยี่ยวโดยไม่สนหน้าอินทร์ หน้าพรหม ย่อมเป็นเสี้ยนหนามขวางผลประโยชน์ของคนบางกลุ่มที่ต้องสูญเสียรายได้จากการค้าทุเรียนอ่อนอย่างมหาศาล จนต้องหาหนทางเขี่ยคนทำงานให้พ้นไป


กำลังโหลดความคิดเห็น