จันทบุรี - ไม่จบง่ายๆ คำสั่งเด้งฟ้าผ่า ผอ.สวพ.6 เข้ากรมวิชาการเกษตร เจ้าตัวเตรียมรวบรวมหลักฐานร้องศาลปกครองเชื่อมีขบวนการหากินกับทุเรียนอ่อน-ทุเรียนสวมสิทธิหนุนหลังคำสั่งย้าย เหตุใกล้ถึงฤดูผลผลิตรอบใหม่ที่คาดว่าจะมีไม่น้อยกว่า 1 ล้านตัน
จากกรณีที่กรมวิชาการเกษตร มีคำสั่งย้ายด่วน นายชลธี นุ่มหนู ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรที่ 6 (สวพ.6) ให้เข้าดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช กรมวิชาการเกษตร และมีคำสั่งให้ นายพิทวัฒน์ อ่อนทองหลาง ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช เข้าดำรงตำแหน่ง ผอ.สวพ.6
จนสร้างความไม่พอใจให้กลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ จ.จันทบุรี รวมทั้งผู้ประกอบการส่งออกผลไม้และภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ถึงขั้นรวมตัวประกาศให้กำลังใจ นายนายชลธี นุ่มหนู หัวหน้าทีมเล็บเหยี่ยวพิทักษ์ทุเรียนไทย ที่สร้างผลงานตรวจสอบและจับกุมผู้ค้าทุเรียน มังคุด และลำไยที่ส่งออกผลไม้ไปต่างประเทศโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย รักษาผลประโยชน์ให้ประเทศชาติได้อย่างมหาศาล
ขณะที่เจ้าตัวประกาศพร้อมลาออกหากคำสั่งอย่างเป็นทางการเดินทางถึงหน่วยงาน ยันเป็นคำสั่งที่ไม่ได้เกิดจากความสมัครใจนั้น
ล่าสุด วันนี้ (27 ต.ค.) นายชลธี นุ่มหนุ ผอ.สวพ.6 เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวถึงกรณีที่ถูกพาดพิงว่าตนเองอยู่ในตำแหน่งดังกล่าวมาจนครบวาระ 4 ปี จึงจะต้องย้ายออกจากพื้นที่ว่า ปัจจุบันยังทำงานใน จ.จันทบุรี ไม่ครบ 4 ปี ขณะที่ผู้ที่จะย้ายมาแทนเพิ่งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช กรมวิชาการเกษตร ไม่ถึง 6 เดือน
ที่สำคัญคำสั่งย้ายจะต้องสอบถามความสมัครใจของผู้ที่ถูกเสนอชื่อก่อน ไม่ใช่เป็นการออกคำสั่งโดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้า
“ในช่วงที่มีการจับทุเรียนด้อยคุณภาพและทุเรียนสวมสิทธิในภาคตะวันออก รวมทั้งในล้งส่งออกที่ จ.ชุมพร เคยมีข่าวว่าจะถูกย้ายออกนอกพื้นที่มาแล้วหลายครั้ง และการที่มีคำสั่งย้ายออกจากพื้นที่ในครั้งนี้เชื่อว่ามีกลุ่มคนได้ประโยชน์หลายกลุ่ม และจ้องที่จะให้ตนย้ายออกนอกพื้นที่นานแล้ว”
นายชลธี ยังเผยอีกว่า จากนี้จะได้รวบรวมหลักฐานเพื่อร้องต่อศาลปกครอง กรณีคำสั่งโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรม และเตรียมที่จะเดินหน้าเปิดโปงขบวนการสั่งย้ายตนเองว่ามีใครหรือกลุ่มใดอยู่เบื้องหลังบ้าง
“คำสั่งย้ายในครั้งนี้อ้างว่าเพื่อให้เป็นไปตามวงรอบ แต่แท้จริงแล้วเป็นเพราะอีกไม่กี่เดือนจะถึงฤดูผลผลิตทุเรียนเมืองจันท์ และภาคตะวันออกจะออกสู่ตลาด ซึ่งคาดว่าในปี 2566 จะมีผลผลิตมากกว่า 1 ล้านตัน จึงเป็นเวลาที่ผู้หาประโยชน์จากวงการทุเรียนเลือกใช้จังหวะนี้ในการผลักดันให้มีคำสั่งย้ายตนเอง และเชื่อว่าเมื่อตนเองถูกย้ายออกนอกพื้นที่แล้วผู้ปฏิบัติระดับล่างจะเสียกำลังใจ” นายชลธี กล่าว