จันทบุรี - มาตามนัด! กลุ่มเกษตรกรชาวสวนภาคตะวันออก (จันทบุรี-ระยอง-ตราด) รวมตัวยื่นหนังสือ 2 ฉบับ ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี เร่งดำเนิน 4 มาตรการดูแลผลผลิตทุเรียนปี 66
จากกรณีที่ นายสัญชัย โกสัลล์วัฒนา อดีตนายกสมาคมผู้ผลิตทุเรียนไทย ได้ออกมาเปิดเผยว่า ในวันที่ 23 พ.ย.นี้ กลุ่มเกษตรกรและเครือข่ายผู้ปลูกทุเรียน รวมทั้งกลุ่มชาวสวนผลไม้ภาคตะวันออก ทั้ง จ.จันทบุรี ตราด ระยอง จะรวมตัวกันเพื่อยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี และนายกรัฐมนตรี
เพื่อให้เร่งหาแนวทางแก้ไขปัญหาทุเรียนอ่อนและการลักลอบนำสิทธิ GAP ของชาวสวนขายให้บุคคลที่ 3 ก่อนฤดูกาลผลผลิตทุเรียนปี 2566 ที่มีแนวโน้มปริมาณผลผลิตที่จะมากกว่าทุกปีนั้น
วันนี้ (23 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มเกษตรกรชาวสวนภาคตะวันออก (จันทบุรี-ระยอง-ตราด) ได้รวมตัวกันที่ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรี แทนการเดินทางไปหน้าศาลากลางจังหวัดจันทบุรี เพื่อยื่นหนังสือ 2 ฉบับ ผ่านรองผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี เพื่อให้นำไปส่งมอบให้แก่ นายมนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
โดยมีข้อเรียกร้อง 4 เรื่องคือ 1.การกำหนดมาตรการควบคุมคุณภาพทุเรียน ปี 2566 2.แนวทางการการป้องกันทุเรียนอ่อน และการนำทุเรียนจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาสวมสิทธิทุเรียนไทยส่งขายต่างประเทศ 3.มาตรการแก้ปัญหาการสวมสิทธิใบ GAP ของเกษตรกรที่มีการนำไปขายให้บุคคลที่ 3 ในราคาใบละ 100,000-500,000 บาท
และ 4.ขอให้จังหวัดจันทบุรี ประสานไปยังผู้มีอำนาจในการระงับคำสั่งการย้าย นายชลธี นุ่มหนู ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรที่ 6 (สวพ.6) เข้าทำงานที่กรมวิชาการเกษตร โดยขอให้ทำงานในพื้นที่ จ.จันทบุรี ช่วยชาวสวนอีก 2 ปี เนื่องจากการทำงานแก้ไขปัญหาผลผลิตทุเรียน และผลไม้อื่นๆ ในช่วงที่ผ่านมาเดินมาถูกทางแล้ว
ขณะที่ นายธีระ วงษ์เจริญ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดจันทบุรี เผยถึงแนวทางแก้ไขปัญหาผลไม้ภาคตะวันออกหลังจากนี้ว่า จะเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการฟรุตบอร์ดภาคตะวันออก (ภาคประชาชน) ทำงานคู่ขนานไปกับฟรุตบอร์ด กระทรวงเกษตร
“เนื่องจากฟรุตบอร์ดภาคประชาชนอยู่ในพื้นที่ซึ่งจะรู้ถึงปัญหาจึงจะสามารถนำเสนอต่อฟรุตบอร์ดใหญ่ได้ตรงตามความต้องการของชาวสวนภาคตะวันออก” ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดจันทบุรี กล่าว