xs
xsm
sm
md
lg

แฉต่อ 5 กลุ่มทุนต่างชาติผูกขาดทุเรียนไทยไม่พอใจมาตรการกำหนดสีล้งดัดหลังค้าทุเรียนอ่อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“เสกบูรพา” ดับเครื่องชนขบวนการทุบตลาดทุเรียนไทย คราวก่อนเปิดโฉม 5 กลุ่มทุนต่างชาติผูกขาดทุเรียนไทยโดยใช้สายสัมพันธ์สนิทแนบแน่นทั้งนักการเมือง ข้าราชการ หรือแม้แต่คนไทยบางกลุ่ม และผู้จัดการธนาคาร หาช่องโหว่นำทุเรียนอ่อนและทุเรียนสวมสิทธิส่งขายประเทศปลายทาง

ไม่เว้นแม้แต่ความพยายามในการโยกย้ายข้าราชการน้ำดีอย่าง นายชลธี นุ่มหนู ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรที่ 6 หัวหน้าทีมเล็บเหยี่ยวพิทักษ์ทุเรียนไทยออกพื้นที่ เปิดทางสะดวกทำกิน จนสุดท้ายเจ้าตัวต้องยื่นใบลาออกจากราชการ เพื่อลงสนามปกป้องทุเรียนไทยอย่างเต็มรูปแบบนั้น

ล่าสุด ผู้ใช้นามปากกา “เสกบูรพา” ยังได้ฉีกหน้ากากกลุ่มทุนต่างชาติที่เข้ามาจัดหาทุเรียนในไทยส่งขาประเทศปลายทางทั้ง HJ THK YK HZ K และกลุ่มล่าสุด TFH ที่พยายามขยับเทียบชั้นว่า สุดท้ายได้กลายเป็นผู้กุมตลาด ราคา และชะตาชีวิตชาวสวนผลไม้แบบเบ็ดเสร็จ

คำถามที่ตามมาคือ แล้วเม็ดเงินจากต่างประเทศที่ถูกโอนเข้ามาทำธุรกรรมในการซื้อขายทุเรียนของไทย แท้จริงแล้วมาจากไหนกันแน่?


“เราได้มีโอกาสนั่งคุยและสอบถามข้อมูลกับผู้ส่งออกรายหนึ่ง จนได้ข้อมูลว่า เงินทุนที่นำมาทำธุรกิจส่งออกทุเรียนจากไทยไปประเทศปลายทางแท้จริงแล้วเป็นเงินทุนของต่างชาติทั้งหมด โดยขบวนการการโอนเงินจะเป็นการทำสัญญาซื้อขายเป็นล็อตๆ ตามคำสั่งซื้อ เช่น ต้องการทุเรียน 10 ตัน ผู้ประกอบการต้นทางจะจัดหาทุเรียนให้ตามจำนวน พร้อมแจ้งราคาไปยังปลายทาง จากนั้นไม่เกิน 1 วัน จะมีการโอนเงินจากต่างประเทศเข้ามาฝั่งไทยตามสัญญา หรือข้อตกลง เมื่อได้เงินแล้วจะมีการจัดส่งทุเรียนออกไปตามกระบวนการ (กรณีที่ยังไม่มีการตรวจความเข้มข้นของคุณภาพก่อนหน้านี้ จะมีทุเรียนอ่อนปนออกไปจำนวนมาก)”

จากข้อมูลของผู้ส่งออกทุเรียนรายหนึ่งยังระบุว่า ที่ผ่านมากลุ่มทุนต่างชาติที่มาลงทุนทำทุเรียนในไทย (บางกลุ่ม) กำลังถูกประเทศต้นทางของตนเองตรวจสอบแหล่งที่มาทางการเงิน และการเสียภาษีว่าเป็นไปอย่างถูกต้องหรือไม่


โดยผู้ส่งออกทุเรียนรายดังกล่าวเล่าว่า กลุ่มทุนต่างชาติ (บางกลุ่ม) นอกจากสายสัมพันธ์แนบแน่นกับนักการเมือง (บางกลุ่ม) ข้าราชการ (บางกลุ่ม) คนไทย (บางกลุ่ม) แล้ว กลุ่มทุนเหล่านี้ยังใช้งานคนไทยในภาคเหนือที่มีเชื้อสายเดียวกันในการทำทุเรียนส่งออก และกลุ่มทุนจากภาคเหนือ (บางคน) ถูกจับตาเป็นพิเศษสำหรับเงินลงทุน และพฤติกรรมในการทำธุรกิจ เพราะต้องสงสัยหลายอย่างเช่นกัน

และจากข้อมูลของทีมเล็บเหยี่ยวพิทักษ์ทุเรียนไทย ยังเคยตรวจพบพฤติกรรมของคนไทยในภาคเหนือ (บางคน) ที่น่าสงสัยเกี่ยวกับที่มาแหล่งเงิน เพราะจากปี 2564 เคยมีเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบทุเรียนก่อนบรรจุส่งออกของผู้ประกอบการรายหนึ่งใน จ.จันทบุรี ที่มาจากพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งมีเชื้อสายเดียวกับประเทศที่สั่งทุเรียน ปรากฏว่าได้สร้างความไม่พอใจให้ผู้ประกอบการรายดังกล่าวถึงขั้นทำการขัดขวางไม่ให้ตรวจสอบ

อีกทั้งผู้ประกอบการรายนี้ต้องสงสัยว่าอยู่ในขบวนการสวมสิทธิทุเรียนไทย เพราะข้อมูลในทางลับที่ทีมเล็บเหยี่ยว พบว่า มีการนำทุเรียนจากต่างประเทศเข้ามาที่โรงคัดบรรจุของผู้ประกอบการรายนี้เพื่อแพกส่งบรรจุในนามทุเรียนไทย แต่เมื่อเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบกลับไม่พบทุเรียนจำนวนดังกล่าว

ทำให้ในปี 2564 นายชลธี นุ่มหนู ผอ.สวพ.6 ต้องงัดไม้เด็ดดัดหลังผู้ประกอบการที่มีพฤติกรรมค้าทุเรียนอ่อนเพื่อปรามกลุ่มคนเหล่านี้ด้วยจัดลำดับสีผู้ประกอบการออกเป็น 3 กลุ่ม คือ สีเขียว ผู้ประกอบการทำถูกกติกา สีเหลือง ผู้ประกอบการที่ต้องเฝ้าระวัง และสีแดง ผู้ประกอบการเฝ้าระวังเป็นพิเศษ




กำลังโหลดความคิดเห็น