ศรีสะเกษ - 166 พยาบาลศรีสะเกษรุกยื่นหนังสือถึง “หมอหนู” รมว.สาธารณสุข ผ่าน “ส.ส.ภูมิใจไทย” วอนช่วยเหลือขอให้ถ่ายโอนไป รพ.สต.สังกัด อบจ.ได้ ขณะ “สิริพงศ์” ส.ส.หนุ่มพรรคภูมิใจไทยประกาศพร้อมสนับสนุน โดยจะเร่งหารือกับทุกฝ่ายระดับสาธารณสุขจังหวัดและระดับกระทรวงฯ เพื่อให้ความช่วยเหลือ
ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณีที่มีกลุ่มพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์จากโรงพยาบาลต่างๆ ในเขตพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ จำนวน 166 คน ได้ยื่นหนังสือถึง นายวิชิต ไตรสรณกุล นายก อบจ.ศรีสะเกษ เพื่อขอให้พิจารณาให้ความช่วยเหลือได้โอนย้ายมา รพ.สต.สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ศรีสะเกษได้ ซึ่งนายก อบจ.ศรีสะเกษยินดีรับโอนย้ายทุกคนขึ้นอยู่กับการพิจารณาของต้นสังกัดพยาบาลทุกแห่งที่ขอถ่ายโอน
ทางด้าน นพ.ทนง วีระแสงพงษ์ นายแพทย์ สสจ.ศรีสะเกษ แจ้งว่าพยาบาลทั้งหมดไม่สามารถที่จะให้โอนย้ายได้ เนื่องจากเมื่อวันที่ 2 ต.ค. 65 ที่ผ่านมา รพ.สต.ใน จ.ศรีสะเกษ ได้ถ่ายโอนไปสังกัด อบจ.ศรีสะเกษแล้วจำนวน 117 แห่ง พร้อมบุคลากรสาธารณสุขจำนวน 789 คน เป็นข้าราชการ 411 คน หากจะมีการโอนย้ายไปเพิ่มเติมจะต้องเป็นบุคลากรที่ทำงานปฐมภูมิเท่านั้นไม่รวมทุติยภูมิ และตติยภูมิ หากไม่เป็นไปตามหลักการดังกล่าวการถ่ายโอนทำไม่ได้ และหากบุคลากรในโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลศูนย์ ถ่ายโอนผิดหลักการ จะส่งผลให้เกิดปัญหาขาดแคลนบุคลากรอย่างหนัก ถึงขั้นปิดแผนกซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประชาชน ตามข่าวที่ได้นำเสนอมาอย่างต่อเนื่องนั้น
ล่าสุดวันนี้ (16 พ.ย.) ที่ร้านชาบูนางใน ถ.อุบล ต.เมืองใต้ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ ได้มีตัวแทนกลุ่มพยาบาล จำนวน 166 คน จากโรงพยาบาลหลายแห่งในเขตพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ นำโดย นายแสวงชัย มีแสง พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ได้เดินทางมาพบ นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส.ศรีสะเกษ เขต 1 พรรคภูมิใจไทย เพื่อขอยื่นหนังสือไปถึง นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง แสดงเจตนารมณ์ขอถ่ายโอนตามขั้นตอนการดำเนินการถ่ายโอนสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษานวมินทราชินีและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด
โดยนายสิริพงศ์ได้รับฟังข้อเรียกร้องและความต้องการของกลุ่มพยาบาลทั้งหมดที่ต้องการโอนย้ายไปสังกัด อบจ.ศรีสะเกษในครั้งนี้
นายแสวงชัย มีแสง พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง แกนนำกลุ่มพยาบาล กล่าวว่า ตามมาตรา 250 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้บัญญัติให้ อปท.มีหน้าที่และอำนาจดูแลและจัดทำบริการสาธารณะและกิจกรรมสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นตามกฎหมายที่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับกลไกและขั้นตอนในการกระจายหน้าที่และอำนาจ ตลอดจนงบประมาณและบุคลากรที่เกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจให้แก่ อปท.
ทั้งนี้ บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่ อปท. พ.ศ. 2542 มาตรา 17 (19) ประกอบกับกฎกระทรวงมหาดไทยซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติ อบจ. พ.ศ. 2540 ได้กำหนดให้ อบจ.มีหน้าที่และอำนาจจัดให้มีโรงพยาบาล การรักษาพยาบาล การป้องกันและบำบัดรักษาโรคติดต่อ รวมทั้งแผนการกระจายอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 และแผนปฏิบัติการกำหนดขั้นตอน การกระจายอำนาจ อปท. (ฉบับที่ 2) ให้กำหนดให้กระทรวงสาธารณสุขถ่ายโอนสถานีอนามัย โรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลทั่วไปให้แก่ อปท.ที่มีความพร้อมนั้น
นายแสวงชัยกล่าวต่อว่า พวกตน คณะเจ้าหน้าที่ผู้ขอช่วยราชการและถ่ายโอนฯ ทุกคน ซึ่งประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล สาธารณสุขอำเภอ โรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลทั่วไป ได้ศึกษารายละเอียดและเข้าใจในเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่ อปท.เป็นอย่างดียิ่ง ทั้งนี้ ขอยืนยันในการใช้สิทธิขอถ่ายโอนฯ ตามที่เคยได้ยื่นความประสงค์มาก่อนแล้ว ข้าพเจ้าทั้งหลายมีเจตนาเพียงต้องการดูแลสุขภาพพี่น้องประชาชนให้ดียิ่งขึ้นไป ภายใต้การกำกับของ อบจ.ศรีสะเกษ และหวังว่าท่านผู้บริหารทั้งหลายจะให้ความกรุณาดำเนินการให้เป็นไปตามความประสงค์ในการขอถ่ายโอนในครั้งนี้ทุกคนด้วย
นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส.ศรีสะเกษ เขต 1 พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า วันนี้เราก็รับฟังความเห็นของพยาบาลจังหวัดศรีสะเกษที่มีความประสงค์จะถ่ายโอนไปยัง อปท.ซึ่งก็มีจำนวนไม่มากนักจำนวน 100 กว่าอัตรา ซึ่งตรงนี้ต้องไปหารือกับสาธารณสุขต่อไปว่าจะมีมาตรการอย่างไร ในเบื้องต้นก่อนหน้านี้ก็เคยมีการพูดคุยกันว่าอาจจะมีข้อจำกัดในเรื่องของการปฏิบัติงานเรื่องเกี่ยวกับระดับของการปฏิบัติงานและเรื่องของงบประมาณ แต่ว่าวันนี้ได้รับฟังคำชี้แจงและได้รับฟังความเห็นข้อมูลต่างๆ จากทางฝั่งพยาบาลเห็นว่าครบถ้วนดี ซึ่งตนจะได้นำไปหารือในระดับสาธารณสุขจังหวัด และในระดับกระทรวงสาธารณสุขต่อไป