xs
xsm
sm
md
lg

นพ.สสจ.ศรีสะเกษย้ำ พยาบาล รพ.ไม่เข้าเกณฑ์ถ่ายโอนไป อบจ.เสี่ยงทำขาดแคลน ปิดแผนก กระทบผู้ป่วย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นพ.สสจ.ศรีสะเกษ แจงโอนย้ายบุคลากรไป อบจ. เฉพาะคนทำงาน รพ.สต. ไม่รวม รพ.ต่างๆ หลังพยาบาล รพ.แห่ขอยื่นถ่ายโอนด้วย ชี้ ผิดหลักการ หากตัดตำแหน่งไป หวิดทำบุคลากรไม่พอ จนต้องปิดแผนก กระทบบริการชาวบ้านอย่างหนัก

เมื่อวันที่ 14 พ.ย. นพ.ทนง วีระแสงพงษ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) ศรีสะเกษ กล่าวถึงกรณีกลุ่มพยาบาลวิชาชีพจำนวนหนึ่งของ รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป/รพ.ชุมชน ในศรีสะเกษ ยื่นเรื่องต่อนายก อบจ.ขอโอนย้ายไป อบจ. ว่า ต้องขอทำความเข้าใจก่อนว่า กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เห็นด้วยกับหลักการของการกระจายอำนาจ ซึ่งต้องเตรียมความพร้อมทั้งท้องถิ่นที่จะเป็นผู้รับภารกิจ ส่วนกลางที่ต้องกำกับดูแล และประชาชนต้องรับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อให้ถ่ายโอน รพ.สต.เป็นไปอย่างถูกต้อง ประชาชนรับการบริการต่อเนื่อง ทั้งระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิและตติยภูมิ ซึ่งที่ผ่านมาเชื่อมโยงกันเข้มแข็งและมีเอกภาพ ทำให้รับมือวิกฤตต่างๆ ได้ เห็นได้จากการรับมือการระบาดของโรคโควิด 19 จนได้รับการยอมรับจากองค์การอนามัยโลกและนานาชาติ

นพ.ทนง กล่าวว่า การถ่ายโอนภารกิจครั้งนี้เป็นการถ่ายโอนภารกิจปฐมภูมิ บุคลากรที่จะเข้ากระบวนการถ่ายโอนจึงต้องทำงานปฐมภูมิ คือ บุคลากรของ สอน./รพ.สต.เท่านั้น ซึ่งเมื่อวันที่ 2 ต.ค.2565 ศรีสะเกษถ่ายโอน รพ.สต. 117 แห่ง ไป อบจ.แล้ว รวมบุคลากร 789 คน เป็นข้าราชการ 411 คน ส่วนบุคลากรใน รพ.ชุมชน รพ.ทั่วไปและ รพ.ศูนย์ ซึ่งเป็นบริการทุติยภูมิและตติยภูมิ ขอถ่ายโอนนั้น ไม่สามารถทำได้ เพราะไม่เป็นไปตามหลักการถ่ายโอน ที่สำคัญ หากตัดโอนตำแหน่งของบุคลากรเหล่านี้ไป จะส่งผลให้ทุก รพ.ขาดแคลนบุคลากรอย่างมาก อาจถึงขั้นต้องปิดแผนก จะส่งผลกระทบโดยตรงกับประชาชน

ทั้งนี้ อบจ.ศรีสะเกษ ได้แจ้งรายชื่อผู้ประสงค์ถ่ายโอน/ช่วยราชการ รวมทั้งสิ้น 166 คน จำนวนนี้เป็นพยาบาลวิชาชีพ 112 คน ปฏิบัติงาน รพ.สต.เพียง 7 คน อีก 105 คน เป็นพยาบาลในแผนกต่างๆ ของ รพ. ทั้ง ICU ห้องคลอด ศัลยกรรม ห้องฉุกเฉิน ห้องผ่าตัด ได้แก่ รพ.ชุมชน 67 คน รพ.ทั่วไป/รพ.ศูนย์ 24 คน ที่เหลือเป็นพยาบาลของ รพ.ในอุบลราชธานี พิษณุโลก นครราชสีมา 8 คน รพ.สังกัด กทม. 2 คน สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี 1 คน และสถาบันประสาทวิทยา 3 คน


กำลังโหลดความคิดเห็น