xs
xsm
sm
md
lg

ชง สธ. 4 ข้อเสนอถ่ายโอน เน้นบางด้านตามเหมาะสมพื้นที่-เวลา ปรับสมดุลกระจาย-รวมศูนย์อำนาจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คณะอนุฯ MIU ถ่ายโอนฯ ศึกษาพบต่างประเทศกระจายอำนาจบางด้าน คนพึงพอใจมากที่สุด เสนอ 4 ข้อสำหรับไทย สธ.ต้องกำกับคุณภาพมาตรฐาน กระจายอำนาจบางด้านตามความพร้อมพื้นที่และเวลาที่เหมาะสม ใช้รูปแบบไว้เนื้อเชื่อใจ ประเมินผลปรับสมดุลกระจาย-รวมศูนย์อำนาจ ตามบริบทที่เปลี่ยนแปลง

เมื่อวันที่ 12 พ.ย. นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ประธานคณะอนุกรรมการ MIU วิชาการและติดตามประเมินผลถ่ายโอนภารกิจ สอน./รพ.สต. ให้แก่ อบจ. กล่าวว่า คณะอนุกรรมการ MIU ถ่ายโอนภารกิจฯ โดยทีมวิจัย HITAP ได้ศึกษาบทเรียนการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นของต่างประเทศ เพื่อนำมาปรับเป็นข้อเสนอถ่ายโอนแต่ละระยะของไทย ซึ่งเสนอต่อปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และคณะกรรมการบริหารการถ่ายโอนฯ แล้ว พบว่า วิธีกระจายอำนาจมี 4 ด้าน คือ การตัดสินใจ การบริหารงบประมาณ บริการ และบริหารจัดการรวมถึงบุคลากร โดยประเทศส่วนใหญ่เลือกกระจายอำนาจบางด้าน โดยเฉพาะด้านบริการ พบว่าได้ผลพึงพอใจมากที่สุด

ส่วนกลไกกระจายอำนาจมี 3 รูปแบบ คือ ต่างคนต่างทำ โดยส่วนกลางไม่ควบคุม การพัฒนาจึงขึ้นอยู่กับศักยภาพของแต่ละพื้นที่, ทำตัวติดดิน โดยส่วนกลางมอบอำนาจให้ท้องถิ่นตัดสินใจ ตอบสนองปัญหาพื้นที่ได้ แต่อาจขาดเป้าหมายและความเชื่อมโยงภาพรวม และแบบไว้เนื้อเชื่อใจ ทุกหน่วยทำงานเชื่อมโยงกัน มีระบบกำกับตามลำดับขั้น ท้องถิ่นมีอำนาจบริหารโดยมีหน่วยงานที่สูงกว่าดูแล ทำให้เกิดความเป็นธรรม มีประสิทธิภาพ และยืดหยุ่น นอกจากนี้ พบว่า ประเทศที่กระจายอำนาจจะเจอการรวมอำนาจสู่ศูนย์กลางควบคู่กัน ซึ่งต้องปรับเปลี่ยนเพื่อหาจุดสมดุลตามปัจจัยและบริบทที่เปลี่ยนไป

นพ.รุ่งเรืองกล่าวว่า ข้อเสนอแนะสำหรับไทย คือ 1.ควรกำหนดเป้าหมายพัฒนาระบบการทำงานของหน่วยราชการให้ยุ่งยากซับซ้อนน้อยลง มีทรัพยากรทำงานมากขึ้น เพิ่มขีดความสามารถของ อปท.จัดการด้านสาธารณสุข โดยมี สธ.กำกับดูแลเรื่องคุณภาพมาตรฐาน สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนและระบบตรวจสอบการทำงานของ รพ.สต.และ อปท. สร้างความเสมอภาคระหว่างพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ 2.ควรเริ่มกระจายอำนาจบางด้านตามความพร้อมของพื้นที่และความเหมาะสมของช่วงเวลา ไม่ควรกำหนดรูปแบบเหมือนกันทุกพื้นที่ เพื่อให้มีโอกาสบรรลุวัตถุประสงค์มากที่สุด

3.พัฒนาการกระจายอำนาจไปสู่รูปแบบไว้เนื้อเชื่อใจ ซึ่งเหมาะสมกับไทยมากที่สุด โดย สธ.มีนโยบายและแผนระดับชาติ กำกับมาตรฐาน ติดตามประเมินผล ส่วนระดับพื้นที่เน้นสร้างความสัมพันธ์ที่ดี สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจทำงานร่วมกัน พัฒนาระบบสารสนเทศสุขภาพที่เชื่อมโยงกันได้ และ 4.มีการกำกับควบคุมจากหน่วยงานส่วนกลาง เช่น มาตรฐาน ประเมินผล และปรับเปลี่ยนนโยบายหาจุดสมดุลระหว่างกระจายอำนาจและรวมศูนย์ตามบริบทที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา


กำลังโหลดความคิดเห็น