ศรีสะเกษ - ดับฝัน 166 พยาบาลขอโอนย้ายไป รพ.สต.สังกัด อบจ.ศรีสะเกษ สสจ.ชี้ชัดการโอนย้ายไปเพิ่มเติมต้องเป็นบุคลากรทำงานปฐมภูมิเท่านั้นไม่รวมทุติยภูมิและตติยภูมิ หากไม่เป็นไปตามหลักการถ่ายโอนทำไม่ได้ ชี้จะส่งผลเกิดปัญหา รพ.ขาดแคลนบุคลากรหนักถึงขั้นปิดแผนกและส่งผลกระทบ ปชช. เผย รพ.สต.ใน จ.ศรีสะเกษ พร้อมบุคลากรถ่ายโอนไปสังกัด อบจ.แล้ว 117 แห่งรวม 789 คน ล่าสุดส่งรายชื่อประสงค์ขอโอนย้ายเพิ่มอีก 166 คน
วันนี้ (15 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่มีพยาบาลจำนวน 198 คน จากโรงพยาบาลหลายแห่งในเขตพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ นำโดย นายแสวงชัย มีแสง พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ออกมาเรียกร้องว่าพยาบาลวิชาชีพจากโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลศูนย์ มีความประสงค์ต้องการโอนย้ายไปโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพชุมชน ( พ.สต.) สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ซึ่งถ่ายโอนจากกระทรวงสาธารณสุขไปสังกัด อบจ.ศรีสะเกษ ก่อนหน้านี้แล้วจำนวน 117 แห่ง
โดยรวมตัวกันยื่นหนังสือต่อ นายวิชิต ไตรสรณกุล นายก อบจ.ศรีสะเกษ เพื่อขอให้พิจารณาให้การสนับสนุนพยาบาลวิชาชีพโอนย้ายไปสังกัด อบจ.ศรีสะเกษด้วย ซึ่ง นายก อบจ.ศรีสะเกษยินดีรับถ่ายโอน เพราะเห็นว่ากลุ่มบุคคลเหล่านี้อยู่ที่ไหนก็ทำงานเพื่อพี่น้องประชาชนไม่ว่าจะอยู่ที่โรงพยาบาล หรืออยู่ที่ รพ.สต.สังกัด อบจ. หน้าที่หลักคือดูแลสุขภาพอนามัยของประชาชน และฝากถึงกระทรวงสาธารณสุขขอให้ช่วยพิจารณาในเรื่องนี้ ตามข่าวที่ได้นำเสนอไปแล้วนั้น
ล่าสุดที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ศรีสะเกษ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ นพ.ทนง วีระแสงพงษ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดศรีสะเกษ เปิดเผยถึงเรื่องนี้ว่า กระทรวงสาธารณสุขเห็นด้วยกับการกระจายอำนาจโอนย้ายไปสังกัด อบจ. แต่อย่างไรก็ตาม ต้องมีการเตรียมความพร้อม ทั้งท้องถิ่น ส่วนกลาง และประชาชน โดยประชาชนต้องได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขมีระบบการทำงานที่เข้มแข็ง มีเอกภาพ และได้รับการยอมรับจากนานาชาติ และองค์การอนามัยโลก (WHO) ตลอดจนประชาชนทั่วไป ดังจะเห็นได้จากการรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19 (COVID-19) ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 2 ต.ค. 65 ที่ผ่านมา รพ.สต.พร้อมบุคลากร จำนวน 117 แห่ง ใน จ.ศรีสะเกษ ได้ถ่ายโอนไปสังกัด อบจ.ศรีสะเกษแล้ว ในการถ่ายโอนดังกล่าวมีบุคลากรสาธารณสุขถ่ายโอนไป จำนวนทั้งสิ้น 789 คน เป็นข้าราชการ 411 คน หากจะมีการโอนย้ายไปเพิ่มเติมจะต้องเป็นบุคลากรที่ทำงานปฐมภูมิเท่านั้น ที่จะเข้ากระบวนการถ่ายโอน ไม่รวมทุติยภูมิ และตติยภูมิ หากไม่เป็นไปตามหลักการดังกล่าว การถ่ายโอนทำไม่ได้
“หากบุคลากรในโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลศูนย์ ถ่ายโอนผิดหลักการจะส่งผลให้เกิดความขาดแคลนบุคลากรอย่างมาก จนอาจถึงขั้นปิดแผนกซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประชาชนทั้ง จ.ศรีสะเกษ ที่จะต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลในยามเจ็บป่วยได้” นพ.ทนงกล่าว
นพ.ทนงกล่าวอีกว่า ตามข้อมูลที่ อบจ.ศรีสะเกษส่งรายชื่อผู้ที่ประสงค์ขอถ่ายโอน/ช่วยราชการ มีจำนวนทั้งหมด 166 คน เป็นพยาบาลวิชาชีพ จำนวน 112 คน ปฏิบัติงานที่ รพ.สต. 7 คน นอกนั้นปฏิบัติงานอยู่ในโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลศูนย์ จำนวน 105 คน บุคลากรพยาบาลใน จ.ศรีสะเกษมีจำนวนทั้งสิ้น 2,458 คน คิดเป็นสัดส่วนต่อประชากร 1: 593 ค่าเฉลี่ยของประเทศ 1:373 ซึ่งถือว่า จ.ศรีสะเกษ ยังมีอัตรากำลังพยาบาลไม่เพียงพอต่อการให้บริการประชาชนที่เจ็บป่วยอยู่ในขณะนี้